หยุดเถอะ '66/23'

หยุดเถอะ '66/23'

บางทีรู้สึกรำคาญนักวิชาการ หรือนายทหารบางคน ที่พอพูดถึงเรื่อง “ปรองดอง”

 ก็เพรียกหาอดีต “คำสั่ง 66/2523”

ล่าสุด สังศิต พิริยะรังสรรค์ เสนอหลักการสร้างความปรองดอง โดยยึดนโยบายของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คือคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 และ 66/2525 ซึ่งทำให้สงครามภายในประเทศยุติลง

นักวิชาการอรรถาธิบายราวกับว่า 66/23 เป็นยาวิเศษแก้โรคความขัดแย้งทางการเมืองได้ และดูเหมือนพวกเขามีความเข้าใจผิดในหลายเรื่อง

คำสั่งที่ 66/23 ไม่ใช่เรื่องการปรองดอง และไม่ใช่การนิรโทษกรรม

คำสั่งที่ 66/23 เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์

ด้านหนึ่งให้ดำเนินงานการเมืองเชิงรุกต่อ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” (พคท.) และแนวร่วม

ด้วยการอาศัยช่องทางในมาตรา 17 สัตตะ แห่ง พรบ.เป็นคอมมิวนิสต์ฯ เปิดโอกาสให้ “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” กลับตัวกลับใจ โดยไม่มีการดำเนินคดีย้อนหลัง ยกเว้นบางคนที่มีคดีอาญาร้ายแรง

จุดนี้เองที่คนเข้าใจผิดคิดว่า 66/23 คือการนิรโทษกรรม?

อีกด้านหนึ่ง คือการเปิดยุทธการทางทหารต่อ “กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย” (ทปท.) ดำเนินการยึดฐานที่มั่นหรือที่มั่นอย่างต่อเนื่อง

พูดง่ายๆ ต้องรุกรบเด็ดขาด อย่างเช่นการเปิดยุทธการผาเมืองเกรียงไกร และผาเมืองเผด็จศึก เข้ายึดฐานที่มั่นภูหินร่องกล้าและเขาค้อ

ไม่ใช่ว่า “ป๋าเปรม” เซ็นคำสั่ง 66/23 แล้วบรรดาสหายก็แบกปืนออกจากป่า และไม่ต้องรบกัน

ตรงกันข้ามระหว่างปี 2523-2527 เป็นห้วงเวลาการสู้รบอย่างดุเดือดรุนแรง เพราะกองทัพแห่งชาติ ได้ทุ่มกำลังเข้ายึดฐานที่มั่นของ ทปท.ในทุกภาค

การรุกทางการทหารอย่างได้ผล ฐานที่มั่นอันแข็งแกร่งถูกทำลาย ทำให้ พคท.ระส่ำระสาย

บวกกับการถูกตัดลอยจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงทำให้ ทปท.หลายเขตงาน ตัดสินใจเข้ามอบตัวแบบ “ยกเขตงาน”

ทุกสงคราม การเจรจาจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากฝ่ายหนึ่งยังไม่ตกเป็นรองทางการทหาร

สรุปว่า 66/23 ไม่ใช่การปรองดอง แต่เป็นการเอาชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด