Delivering Opportunity

Delivering Opportunity

วิสัยทัศน์ของเราคือ “ไม่อยากให้ลูกค้า กลับมาหาเราอีก”

“Hi p’Thun. Good to see you.” ชายหนุ่มที่นั่งรออยู่ลุกขึ้นยืนอย่างยินดี ภาษาอังกฤษของเขาชัดเปรี๊ยะ

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล หรือ หนุ่ม เป็นรุ่นน้องผมสมัยทำงานด้วยกันที่ The Boston Consulting Group บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจแนวหน้าของโลก นี่เป็นการนัดพบตัวเป็นๆของเราครั้งแรก หลังจากไม่ได้เจอกันมาเกือบสิบปี

“พี่ธัญติดตามข่าวเสมอ ดังใหญ่แล้วนะ” ผมกระเซ้า “ไปไงมาไง ทำไมมาทำตรงนี้ได้”

หนุ่มยิ้มเขินๆ ก่อนเล่าให้ฟังว่า ตอนออกจากงาน เขาตั้งใจกลับไปอยู่กับครอบครัวที่อเมริกา จองตั๋วเครื่องบินกำหนดวันเดินทางเรียบร้อย แต่โชคชะตาลิขิตให้เพื่อนจาก BCG อีกน่ะแหละ โทรมาเรียกตัวไปช่วยงานโปรเจคสามเดือน

จากสามเดือนกลายเป็นสองปี จากช่วยงานกลายเป็นทำเต็มตัว จากที่ปรึกษาก็ข้ามฝั่งมาเป็นผู้ดูแลธุรกิจ จาก Chief Marketing Officer หนุ่มก้าวขึ้นมารับตำแหน่ง CEO อย่างสมภาคภูมิ ถือหางเสือเรือ ‘เงินติดล้อ’ เป็นผู้บริหารที่มีอายุน้อยที่สุดในเครือธนาคารกรุงศรี กรุ๊ป

“ผมอยากให้เราเป็นมากกว่าบริษัทปล่อยสินเชื่อ” หนุ่มกล่าวอย่างมุ่งมั่น “พี่ธัญเคยอ่านหนังสือเรื่อง Delivering Happiness ไหม”

เรื่องราวของบริษัทขายรองเท้าออนไลน์ชื่อ Zappos โดยซีอีโอ Tony Hsieh (อ่านว่า ซาย) ซึ่งมีปรัชญาการทำงานที่เร้าใจสมยุค 4.0 โทนี่บอกว่าธุรกิจของเขาไม่ใช่แค่การนำของไปส่ง แต่มันคือการ ‘มอบความสุข’ ให้กับลูกค้าทุกคนเมื่อพวกเขาเปิดประตูต้อนรับเราเข้าไปในบ้าน

ตัวอย่างหนึ่งของการส่งความสุข พนักงานจะใส่ของขวัญเล็กๆน้อยหรือการ์ดอวยพร ลงไปในกล่องรองเท้า ตัวชี้วัดความสำเร็จที่แท้จริงไม่ใช่ยอดขาย แต่คือรอยยิ้มของคนเปิดสินค้า

“ตอนผมเจอโทนี่ เขาบอกผมว่าวิธีการทำงานของ Zappos ไม่ได้เกิดจากตำรา เขาแค่ทำใน ‘สิ่งที่ใช่’ ก็เท่านั้น” หนุ่มหยุดนิดหนึ่ง

“งานของเราคือการให้โอกาสกับผู้ที่โหยหามันที่สุด” หากหนังสือของโทนี่ชื่อ Delivering Happiness ผมคิดว่าเรื่องราวของหนุ่มก็ควรจะชื่อ Delivering Opportunity

เงินติดล้อ ไม่ได้แปลว่าสินเชื่อที่มาจากการจำนองรถ แต่แปลว่าโอกาสที่จะขับเคลื่อนชีวิตของคุณไปข้างหน้า โอกาสที่ลูกค้าทุกคนจะกลับมาเป็นเจ้าของชีวิตตนเองอีกครั้ง

ความฝันอันสูงสุดของหนุ่มคือลูกค้าทุกคนหลุดพ้นจากกงกรรมแห่งหนี้สิน “ไม่อยากให้เขา กลับมาหาเราอีก”

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง
1. Success 4.0 หนุ่มเป็นตัวอย่างของนักธุรกิจแห่งโลกยุคใหม่อย่างแท้จริง

ธุรกิจที่ตั้งเป้าหมายความสำเร็จมิใช่เพียงยอดขาย แต่หมายถึงการเป็นส่วนร่วมสร้างสังคมที่ดีขึ้น ในการทำงานผมมีโอกาสได้เป็นโค้ชให้กับทายาทกิจการและผู้บริหารคลื่นลูกใหม่หลายคน มุมมองต่อโลกอันสวยงามคือสิ่งที่พวกเขามีร่วมกัน “ผมอยากให้คนในชุมชนดีใจเวลาเราเข้าไปขึ้นไซต์ก่อสร้าง” ลูกชายเจ้าของบริษัทรับเหมายักษ์ใหญ่รายหนึ่งแชร์กับผม “อยากเห็นสังคมตรงนั้นดีกว่าตอนก่อนเราเข้าไป”

2. Culture Culture Culture หนุ่มเล่าว่าอุปสรรคยากที่สุดไม่ใช่การทำแผนธุรกิจเพื่อรองรับโมเดล win-win นี้ แต่คือการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรที่ฝังลึกมานาน

“ธุรกิจปล่อยสินเชื่อรายย่อย ใครๆก็คิดว่าเป็นธุรกิจมาเฟีย ตีหัวคนเข้าบ้าน ทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้าเซ็นชื่อ แล้วขูดรีดดอกแพงๆเป็นสัญญาทาส”

เขาเล่าว่าเมื่อวันก่อน มีพี่พนักงานคนหนึ่งดูโฆษณาของบริษัทแล้วนั่งอึ้ง ไม่เคยคิดเลยว่างานที่ตัวเองทำส่งผลต่อชีวิตคนมากขนาดนี้ ช่างวิเศษและเป็นเกียรติที่ได้ทำหน้าที่ ‘ทูตแห่งโอกาส’

3. Means to an End เงินติดล้อของหนุ่ม Zappos ของโทนี่ Starbucks ของ Howard Schultz และอีกธุรกิจมากมายที่กำลังเบ่งบาน เกิดจากฝันของคนธรรมดาๆเหล่านี้

พวกเขาไม่ได้เลือกการปล่อยสินเชื่อ การขายของออนไลน์ หรือการทำร้านกาแฟ เพราะเขาหลงใหลในธุรกิจเหล่านั้น แต่มันคือเส้นทางที่มุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน A Better Future ความสำเร็จเปรียบเหมือนคันธนู ลูกศรจะพุ่งไปข้างหน้าได้ไกลแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าเรามีแรงน้าวไปข้างหลังเพื่อส่งพลังมากเพียงไร

ผมจบบทสนทนากับหนุ่มด้วยคำเชื้อเชิญให้เขามาแบ่งปันปรัชญาการทำงานนี้บนเวที Leadership Energy Summit Asia (LESA) ที่เราจัดประจำทุกปีในประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย เพื่อเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย

“ผมพูดไม่เก่งนะพี่” ซีอีโอนักบริหารออกตัว

“ไม่เป็นไร คนฟังไม่ได้ต้องการคนพูดเก่ง” ผมอธิบาย “สิ่งที่พวกเขาอยากฟังคือคนที่พูดใน ‘สิ่งที่ใช่’ ”

ก็เท่านั้น ครับ