จะดีหรือไม่ ถ้ารัฐมนตรีต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา

จะดีหรือไม่ ถ้ารัฐมนตรีต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา

ช่วงนี้ นอกเหนือจากการดูการประชุม World Economic Forum ทาง Streaming Live แล้ว

ยังสนใจติดตามการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆของสหรัฐที่เข้มข้นอย่างมากขณะนี้

ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เสนอบุคคลต่างๆให้เข้าทำหน้าที่กระทรวงต่างๆรวมทั้งตำแหน่งอัยการสูงสุด (Attorney General) ที่เทียบเท่ารัฐมนตรี เข้าสู่กระบวนการชี้แจงต่อวุฒิสภา (The Senate) เพื่อให้รับรองและยอมรับการเข้าดำรงตำแหน่ง (Confirmation Hearings)

ในระบบประธานาธิบดีของสหรัฐนั้น ผู้ที่เป็นรัฐมนตรี ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง กระบวนการแต่งตั้งจึงถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากวุฒิสภาว่ามีความเหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆ หรือไม่ การตรวจสอบไม่ใช่เฉพาะความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะบริหารกิจการของกระทรวง แต่รวมถึงประวัติการทำงานก่อนเข้ามารับตำแหน่ง ใครที่มีประวัติไม่ขาวสะอาดก็จะถูกซักฟอกอย่างที่สุด

บ้านเราใช้ระบบรัฐสภา รัฐมนตรีอาจมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรืออาจมาจากบุคคลภายนอก ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี จะต้องนำรายชื่อทูลเกล้าเพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง นั่นหมายความว่า บุคคลผู้นั้นไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากวุฒิสภาหรือรัฐสภาแต่อย่างใด

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐมนตรีจะเป็นใคร จึงไม่มีใครขัดได้ ประชาชนไม่สามารถทราบเบื้องหน้าเบื้องหลัง ประวัติการทำงาน และแม้กระทั่งเคยมีรัฐมนตรีอิมพอร์ตบางคนในบางรัฐบาลที่เกือบจะพูดภาษาไทยไม่ได้ในสมัยหนึ่ง

จึงอดคิดไม่ได้ว่า จะดีหรือไม่ ถ้าผู้ที่นายกรัฐมนตรีเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ต้องผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภา แล้วจึงเสนอชื่อทูลเกล้าเพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป

ในอดีตที่ผ่านมา มีรัฐมนตรีในหลายรัฐบาลที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่เรื่องการผิดศีลธรรมจรรยาบรรณจนถึงทุจริตประพฤติมิชอบ และได้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จนถึงมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ต้องรับโทษ

แท้จริงแล้ว เบื้องหลังของผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น หลายคนเป็นที่ทราบกันในวงสังคมถึงบทบาทที่ไม่เหมาะสม แต่เนื่องจากเราไม่มีกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากวุฒิสภา บุคคลเหล่านี้จึงฝ่ากระแสเข้ามารับตำแหน่งสำคัญของกระทรวง และสร้างความเสียหาย

อาจมีผู้โต้แย้งว่า ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐนั้น ประธานาธิบดีเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ประชาชนไม่ได้เลือกผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรี จึงมีความเหมาะสมที่ต้องผ่านการตรวจสอบจากวุฒิสภา แต่ของประเทศไทยนั้นผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนแล้ว จึงไม่ควรต้องมีการตรวจสอบอีก แต่ข้อโต้แย้งนี้น่าจะมีน้ำหนักไม่มาก เพราะถึงอย่างไร ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาก็ไม่ได้สมัครเพื่อเป็นรัฐมนตรี การเป็นรัฐมนตรีขึ้นอยู่กับการเสนอชื่อของนายกรัฐมนตรีโดยผ่านแค่กระบวนการในพรรค ซึ่งก็เป็นที่ทราบว่าใครเป็นใครในพรรค ใครทุนใหญ่ ใครทุนน้อย ใครมีอำนาจ ใครมีนักธุรกิจหนุนหลัง เมื่อเป็นเช่นนี้การได้มาซึ่งรัฐมนตรีจึงไม่ได้มาจากความรู้ความสามารถพร้อมประวัติการทำงานที่ขาวสะอาดจริงๆ

อยากจะฝากแนวคิดนี้ให้กับนักร่างรัฐธรรมนูญทั้งหลาย และถ้าหากเป็นความคิดที่ดี การแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็อาจทำได้ในอนาคตเพื่อบ้านเพื่อเมืองของเราในอนาคต

------------------

ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร

นักวิชาการอิสระ