กฎหมาย ป.ป.ช.ปราบกลโกงแนวทางพัฒนาทัดเทียมสากล

กฎหมาย ป.ป.ช.ปราบกลโกงแนวทางพัฒนาทัดเทียมสากล

ภายหลังจากประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต

(United Nations Convention against Corruption 2003: UNCAC) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญในการต่อสู้กับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้พัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในหลายเรื่อง และ ยังคงติดตามทิศทางของนานาชาติที่ร่วมกันหามาตรการปราบโกงอย่างต่อเนื่อง โดย ป.ป.ช.เล็งเห็นว่าการติดตามทรัพย์สินคืน และการไต่สวนสาธารณะ เป็นกระบวนการทางกฎหมายที่น่าสนใจและจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดีทุจริตให้เท่าทันบริบทของสังคมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี 

ติดตามทรัพย์สินคืนเยียวยาความเสียหายจากการทุจริต

แนวทางการดำเนินคดีทุจริตในยุคสมัยนี้ นอกจากจะต้องนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษแล้ว หลายประเทศยังให้ความสนใจอย่างมากกับเรื่องการนำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตกลับคืนมาเป็นของแผ่นดินเพื่อเยียวยาความเสียหาย แต่อุปสรรคที่พบบ่อยคือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตมักถูกยักย้ายถ่ายเทไปในที่ต่างๆทั้งในและนอกประเทศ ทำให้เกิดความยากลำบากในการติดตามตัวทรัพย์

สำหรับประเทศไทย หากสามารถยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวในระหว่างดำเนินการไต่สวน เมื่อพบว่ามีพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าจะมีการโอน ยักย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการติดตามทรัพย์สินคืนของประเทศเป็นอย่างมาก เพราะจะสามารถสกัดการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยไม่ปล่อยให้ผู้กระทำความผิดมีโอกาสนำทรัพย์สินไปซุกซ่อนไว้ที่อื่น และเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์ ป.ป.ช.ก็สามารถดำเนินการกับทรัพย์สินเหล่านั้นได้ทันที

นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่ทรัพย์สินจากการกระทำทุจริตมักถูกโยกย้ายข้ามประเทศ กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศจะต้องได้รับการพัฒนาควบคู่กันไปด้วย เพื่อเร่งติดตามและนำทรัพย์สินเหล่านั้นกลับคืนสู่ประเทศไทยโดยเร็วอันจะช่วยชดเชยความเสียหายที่เป็นผลจากการทุจริต

ไต่สวนสาธารณะปราบทุจริตเชิงนโยบาย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศประสบปัญหาการทุจริตที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็น วงกว้างและสร้างความเสียหายมหาศาลต่อภาพรวมของประเทศ รวมถึงการฉ้อโกงด้วยวิธีการที่ซับซ้อนอย่าง “การทุจริตเชิงนโยบาย” ของฝ่ายบริหารหรือนักการเมืองผู้มีอำนาจ โดยอ้างการจัดตั้งแผนงานและโครงการเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่แท้จริงกลับเป็นนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนและพวกพ้อง ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลียและแคนาดา ก็มีการนำกระบวนการที่เรียกว่า “การไต่สวนสาธารณะ” (Public inquiry / Public hearing) มาปรับใช้กับการดำเนินคดีทุจริตประเภทนี้ 

ทั้งนี้ การไต่สวนในรูปแบบดังกล่าวควรใช้กับกรณีที่มีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรงและกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งต้องคำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นอื่นๆ เช่น ประโยชน์ของการเปิดเผยสู่สาธารณะ และการคุ้มครองสิทธิของบุคคลและผลกระทบต่อรูปคดี ซึ่ง ป.ป.ช.คาดว่ารูปแบบการไต่สวนเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการกับคอร์รัปชั่นระดับนโยบายที่สาธารณชนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย โดยอาศัยกลไกความร่วมมือจากภาคประชาสังคม สื่อ และประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ความช่วยเหลือด้านพยานหลักฐาน ตลอดจนอาจจะสามารถยับยั้งการดำเนินโครงการที่ส่อแววทุจริตซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวน โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ (Mega project) ที่การไต่สวนสาธารณะจะช่วยป้องกันความเสียหายจากการนำงบประมาณของประเทศไปลงทุนโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดังนั้น การไต่สวนสาธารณะจึงสามารถเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการเอาผิดกับผู้วางนโยบายที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากสังคมในทางมิชอบ

ในยุคที่การขจัดปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลเร่งดำเนินการ ประกอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นฉบับปราบโกงกำลังจะมีผลใช้บังคับ ทำให้เห็นทิศทางที่ดีในการร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่ง ป.ป.ช.ก็เตรียมเสนอมาตรการและกลไกทางกฎหมายที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมาปรับใช้เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมที่ปราศจากการทุจริต