สร้างเครือข่ายแก้ทุจริต

สร้างเครือข่ายแก้ทุจริต

จากรายงานของหน่วยงานด้านการปราบปรามการทุจริต ของสหรัฐและอังกฤษ

 ระบุถึงการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ ในการจัดซื้อจัดจ้างในบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) โดยความสนใจมุ่งไปที่จำนวนเงินและผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่มีประเด็นที่น่าสังเกตจากรายงานของหน่วยงานสหรัฐและอังกฤษคือ ระบุว่ามีการจ่ายสินบนทั้งเจ้าหน้าที่ในต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทุจริตที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

พฤติกรรมการจ่ายสินบนอาจเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไป แม้อาจจะไม่เห็นชัดเจนนัก แต่คนไทยมักจะได้ยินเสมอเกี่ยวกับการต้องจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนพิเศษ ซึ่งไม่ว่าเราจะเรียกการจ่ายว่าอะไรก็ตาม และดูเหมือนว่าพฤติกรรมการจ่ายเงินเพื่ออำนวยความสะดวกหรือเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมีการพัฒนามากขึ้น ยิ่งกระบวนการตรวจสอบเข้มข้นและหาวิธีการแก้ไขมากเท่าไร กระบวนการจ่ายสินบนก็ยิ่งพัฒนากลไกให้มีความซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น เพื่อป้องกันการตรวจสอบ

เราต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งว่ากระบวนการจ่ายสินบน เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบคนอื่นในสังคมนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา และมีพัฒนาการหลบหลีกมากขึ้น ดังนั้น การปราบปรามการทุจริตเหล่านี้ จำเป็นต้องพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับพฤติกรรมเหล่านี้ กล่าวคือ เป็นงานที่ไม่จบสิ้นไปในคราวเดียว แต่เป็นเรื่องที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา หากเราต้องการให้สังคมมีความโปร่งใสมากขึ้น และลดการเอารัดเอาเปรียบเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม

จากกรณีของโรลส์-รอยซ์ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญมากขึ้น ของความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ว่าก่อนหน้านี้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้มาแล้วว่าการทุจริตได้ก้าวพ้นพรมแดนของประเทศไปแล้ว ทำให้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระหว่างประเทศมีความจำเป็น เพราะจากกรณีนี้คนไทยไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น จนกระทั่งทางการสหรัฐและอังกฤษออกมาเปิดเผยผลการสอบสวน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าลำพังหน่วยงานของไทยเองไม่อาจรับมือได้

แน่นอนว่าขณะนี้มีความร่วมมือระหว่างประเทศ ของหน่วยงานด้านการปราบปรามการทุจริต โดยมีการส่งข้อมูลและแลกเปลี่ยนกัน รวมทั้งการร่วมมือกันดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ได้ทำการขอข้อมูลจากทางการอังกฤษในรายละเอียด ซึ่งเราเชื่อว่าข้อมูลที่ได้มาจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินการในไทย และหากมีการเปิดเผยรายละเอียดเท่าที่สามารถทำได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสังคมไทย

ดังนั้น กระบวนการปราบปรามการทุจริตในยุคใหม่ จึงเปลี่ยนโฉมอย่างสิ้นเชิง จากเดิมมีอาณาเขตประเทศเป็นแนวกันชนทำให้คดีความต่างๆสามารถเล็ดลอดไปได้ แต่จากนี้ไปทำให้การทุจริตเป็นเรื่องยากขึ้นเมื่อเกิดความร่วมมือกันอย่างจริงจัง และการตื่นตัวจากกรณีของโรลส์-รอยซ์จากประเทศอื่นที่มีการกล่าวถึงในรายงาน ได้สะท้อนให้เห็นเช่นเดียวกันว่าจากนี้ไปต้องมีการประสานทำงานร่วมกันในระดับโลกเท่านั้น จึงจะสามารถแก้ปัญหาการทุจริตระดับประเทศได้

จากกรณีนี้ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับสังคมไทย ให้ตระหนักว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้น ลำพังหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบไม่สามารถทำงานได้ตามลำพัง แต่ต้องทำงานกันเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยกันสอดส่องดูแล เราเชื่อว่าหากคนไทยทุกคนร่วมมือกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ก็จะทำให้สังคมปราศจากการทุจริตตามอุดมคติที่มีการกล่าวถึงกันมานาน เราหวังว่าคนไทยน่าจะใช้กรณีนี้เป็นบทเรียนสำคัญ ในการสร้างเครือข่ายร่วมกันป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการแก้ปัญหาการทุจริตระดับชาติ