'การเมืองยุโรป' อีกเรื่องที่นักลงทุนควรจับตา

'การเมืองยุโรป' อีกเรื่องที่นักลงทุนควรจับตา

การเมืองยุโรป อีกเรื่องที่นักลงทุนควรจับตา

นอกจากแนวโน้มนโยบายการบริหารประเทศที่ออกจะแหวกแนว เน้นความเป็นชาตินิยม และต่อต้านกลุ่มแนวคิดเดิมๆ ของ ปธน. ป้ายแดงอย่าง นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐฯ ที่เพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งไปนั้น มองไปข้างหน้ายังมีความวุ่นวายทางการเมืองในยุโรปที่กำลังจะรายเรียงเข้ามาสร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินทั่วโลกตลอดปี 2560 นี้

โดยจะมีการเลือกตั้งใน 4 ประเทศหลักของกลุ่มยูโรโซนเกิดขึ้น ซึ่งน่าจะสร้างความกังวลทางการเมืองในกลุ่มประเทศที่ใช้ค่าเงินยูโรได้ตลอดทั้งปี หลังจากปีที่ผ่านมานักลงทุนทั่วโลกได้สัมผัสกับความนิยมทางการเมืองรูปแบบใหม่ เช่นการลงประชามติในอังกฤษเพื่อออกจากกลุ่มอียู และการชนะเลือกตั้งของทรัมป์ผู้ซึ่งสร้างปรากฎการณ์ทางการเมืองใหม่ๆ ทำให้เราเห็นเค้าลางของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นถึง 4 ครั้งในปีนี้ ได้แก่ 1. วันที่ 15 มีนาคม (เนเธอร์แลนด์) 2. วันที่ 23 เมษายน (ฝรั่งเศส) 3. วันที่ 24 กันยายน (เยอรมนี) และ 4. ช่วงปลายปี (อิตาลี ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นสูงหากสามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายเลือกตั้งในสภา) นอกจากนี้ยังมีการเริ่มขั้นตอนการออกจากกลุ่มอียูของอังกฤษด้วยการประกาศใช้สนธิสัญญา Lisbon ข้อที่ 50 (น่าจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม) และปัญหาหนี้กรีซที่ยังคงไม่อาจไว้วางใจ

ทั้งนี้ หากจะพูดถึงผลกระทบจากเทศกาลเลือกตั้งดังกล่าว เราคาดว่าการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์คงจะไม่มีผลต่อทิศทางการลงทุนมากนัก ต่างจากการเลือกตั้งในฝรั่งเศสที่เริ่มเห็นสัญญาณความนิยมที่เพิ่มขึ้นของฝั่งขวา (ตรงข้ามรัฐบาล) ของ Le Pen ที่ชูนโยบายปกป้องผลประโยชน์ฝรั่งเศส (คุ้นๆ ว่าคล้าย Trump มั้ยครับ) และชูนโยบายต่อต้านผู้อพยพ (คุ้นๆ ว่าคล้ายเหตุผล Brexit มั้ยครับ) ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนมากยังมองว่า Le Pen มีโอกาสชนะไม่มากนัก (ไม่รู้ลางดีหรือลางร้ายนะครับ คุ้นๆ ว่าคล้ายผล โพลปากกาหักของสำนักต่างๆ ก่อน Brexit กับ Trump ชนะมั้ยครับ)

ส่วนการเลือกตั้งในเยอรมนีครึ่งหลังปี 2560 ก็เริ่มเห็นสัญญาณการก่อตัวของคะแนนนิยมใหม่ๆ คล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส โดยพรรคน้องใหม่ฝั่งขวาอย่าง Alternative for Germany (AfD) ที่ชูนโยบายต่อต้านการอพยพย้ายถิ่นฐานและนโยบายต่อต้านการช่วยเหลือประเทศกลุ่มอียูที่เผชิญกับปัญหาทางการเงิน (เช่นกรณีหนี้กรีซ) ก็ดูจะได้รับความนิยมจากประชาชนเยอรมนีเพิ่มขึ้น ทั้งจากปัญหาทางการเงินของกลุ่มสมาชิกอียู และปัญหาสภาพคล่องของสถานบันทางการเงินในประเทศเยอรมนีเอง แน่นอนครับ นักวิเคราะห์การเมืองและแบบสำรวจยังคงมองว่าชัยชนะของพรรคฝั่งขวาน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่หลังจากตลาดได้เผชิญกับผลลัพธ์ที่เหนือความคาดหมายมาแล้วถึง 2 ครั้ง (Brexit และ Trump) การเลือกตั้งที่จะมาถึงก็อาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดได้ไม่น้อย

ด้านการเลือกตั้งของอิตาลี ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2560 อันเป็นผลจากการแก้เนื้อหากฎหมายเลือกตั้ง (คาดว่าจะรู้ผลในเดือนมกราคมนี้) ซึ่งหลังจากความพ่ายแพ้ของพรรค Democratic ในการลงคะแนนเสียงประชามติเพื่อการปฏิรูป รธน. ที่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกความไม่สบายใจของประชาชนซึ่งสอดรับกับพรรคฝ่ายค้านมากกว่าหนึ่งแห่งที่สนับสนุนแนวคิดการออกจากกลุ่ม อียู ทำให้มีความเสี่ยงไม่น้อยที่อิตาลีอาจจะต้องเผชิญกับการทำประชามติเฉกเช่นอังกฤษก็เป็นได้ ซึ่งหากมีการทำประชามติแล้วผลออกมาเป็นว่าอิตาลีต้องออกจากกลุ่มอียูจริง ปัญหาที่ตามมาสำหรับอิตาลีจะมีความยุ่งยากกว่าอังกฤษมากเนื่องจากอิตาลีจะต้องยกเลิกการใช้ค่าเงินยูโรด้วย

สำหรับการประกาศถอนตัวจากกลุ่มประเทศอียูของอังกฤษอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือน มกราคมที่ผ่านมานั้น ถือว่าเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด โดยอังกฤษจะไม่ดำเนินรอยตามแบบโมเดลของนอร์เวย์ (นอร์เวย์ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศอียูแต่ก็ใช้การจ่ายค่าสมาชิกรายปีเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ) แต่อังกฤษจะดำเนินขั้นตอนออกจากกลุ่มประเทศอียูอย่างชัดเจน ซึ่งความเสี่ยงที่ตามมามากที่สุดจะอยู่ที่การเจรจาการค้าระหว่างประเทศอังกฤษและประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดภาวะชะงักได้ ส่วนปัญหาหนี้กรีซยังต้องรอการหารือเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในการชำระหนี้ก้อนใหญ่ที่มีกำหนดในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งก็อาจกลับจะสร้างความผันผวนให้กับตลาดได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนไทยแม้ว่าปัจจัยความเสี่ยงและความผันผวนจากภายนอกจะเข้าคิวรอสร้างผลกระทบต่อตลาดทุนอย่างต่อเนื่องดังกล่าว แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะช่วยให้เราผ่านพ้นปัญหาภายนอกไปได้ คือปัจจัยบวกภายในประเทศที่ไม่น่าจะถูกกระทบจากปัจจัยการเมืองในต่างประเทศเท่าไรนัก ทั้งการบริโภคที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน ผนวกกับความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเร่งตัวของการประมูลและการเบิกจ่ายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ล้วนแต่เป็นปัจจัยภายในที่แข็งแกร่งซึ่งจะช่วยให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยผ่านพ้นภาวะความผันผวนภายนอกไปได้ โดยทางหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ยังคงเป้าหมายดัชนี SET index ณ ปลายปี 2560 ที่ระดับ 1700 จุด และในช่วง ไตรมาส 1/59 นี้แนะนำให้เน้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร (KBANK, KTB) ที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ, กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (STEC, UNIQ) ที่ได้ผลดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะโรงกลั่น (IRPC, SPRC) ซึ่งน่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้แม้ในภาวะผันผวนดังกล่าว