ยุคทองของคนแก่ โอกาสทองของ SMEs

ยุคทองของคนแก่ โอกาสทองของ SMEs

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0"

ในงานทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกับการขับเคลื่อนสู่แนวโน้มสำคัญของโลกในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ได้ยกตัวอย่าง Megatrends ของโลกถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะคนเกิดน้อยลงมาก เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้คนมีอายุสูงขึ้น ในปี 2040 หรืออีก 23 ปีข้างหน้า โลกจะมีสัดส่วนประชากรที่อายุสูงกว่า 60 ปี ถึงร้อยละ 20 จากร้อยละ 15 ในปี 2015 

สังคมผู้สูงอายุจะเป็นความท้าทายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดแรงงาน โครงสร้างการบริโภคการออม ภาระด้านการคลัง และรายจ่ายด้านสวัสดิการ ตลอดจนคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่ต้องดูแลตัวเองในวัยชรา

ปัจจุบันประเทศในกลุ่มอาเซียนมีประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป 36.9 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.89 ของประชากรทั้งหมดในอาเซียน สำหรับประเทศไทยมีประชากรกว่า 66 ล้านคน มีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ประมาณ 6.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 9.9 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากเป็นอันดับสองของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และในปี 2563 คาดว่า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ 14.4 ซึ่งจะก้าวเข้าสู่ สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ เป็นกลุ่มประชากรที่มีอำนาจต่อรองในการซื้อ มีกำลังซื้อสูง เนื่องจากมีการวางแผนทางการเงินในการเก็บออมและการใช้เงินหลังเกษียณที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น

ในปี 2013 ประเทศที่พัฒนาแล้ว การใช้จ่ายของผู้สูงอายุมีขนาดราว 15% ของ GDP มูลค่าประมาณ 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าในปี 2020 จะขยายตัวเป็น 1.7 แสนล้าน ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นปีละ 6% โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา อายุเฉลี่ยของประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 38 ปี ในปี 2020 เพิ่มขึ้นจาก 35 ปี ในปี 2013 

ประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมาย ที่ชาวต่างชาติที่เกษียณอายุแล้วเลือกมาใช้ชีวิตบั้นปลาย หรือพำนักระยะยาว อาทิเช่น ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในภาคเหนือของไทย และชาวสแกนดิเนเวีย ที่นิยมพักตามแถบจังหวัดชายทะเล ปัจจุบันมีชาวต่างชาติกว่า 50,000 คน อาศัยอยู่ในประเทศไทย ประมาณค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่อปี คิดเป็นเงินประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพที่ถูก มีบริการทางการแพทย์ที่มีระดับมาตรฐานเทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว

“ผู้สูงอายุ” จึงเป็นลูกค้าเป้าหมายสำคัญที่ท่านผู้ประกอบการ จะต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ดร.รัชฎา ฟองธนกิจ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า ธุรกิจรองรับผู้สูงอายุ แบ่งตามช่วงอายุเป็น 3 ช่วง คือ วัยต้นอายุ 60-69 ปี เป็นตลาดใหญ่ถึง 56% ของผู้สูงอายุทั้งหมดใน 10 ปี ข้างหน้า หรือราว 4.6 ล้านคน เป็นกลุ่มที่สนใจสุขภาพ เน้นการตรวจสุขภาพ รับประทานอาหารเสริม เครื่องสำอางเน้นเรื่องความชุ่มชื้น ชะลอวัย วัยกลางอายุ 70-79 ปี ประมาณ 2.5 ล้านคน เป็นกลุ่มที่ต้องการพักผ่อน บางคนมีโรคประจำตัว ต้องการเรียนรู้โซเชียลมีเดีย อุปกรณ์ไอที ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม วัยปลายอายุ 80 ปี ขึ้นไป ประมาณ 1 ล้านคน  เป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพิงผู้ดูแล ต้องการสินค้าที่ช่วยอำนวยความสะดวก

สินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัยตามกลุ่มอายุดังกล่าว มีตั้งแต่เวชภัณฑ์และการดูแลสุขภาพ ระบบการเงินผู้สูงวัย สินค้าอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยว สำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจบริการผู้สูงวัย วัสดุก่อสร้างอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุ เฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุ และอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ

ประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบในการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เนื่องจากมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกประมาณร้อยละ 23.7 ของประชากรทั้งหมด 126.66 ล้านคน ผู้ประกอบการของญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของผู้สูงอายุ ทำให้สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพสังคม สามารถเพิ่มรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทยซึ่งกำลังจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ท่านผู้ประการจึงควรมีการวางแผนทางการตลาด โดยเฉพาะกลยุทธ์ในการเข้าถึงลูกค้าสูงวัยที่มีขนาดของตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว 

อย่าพลาดเป็นอันขาด!