เปลี่ยนขยะเป็นเงิน ไอเดียดีๆ จาก SE รักษ์โลก

เปลี่ยนขยะเป็นเงิน ไอเดียดีๆ จาก SE รักษ์โลก

จะเป็นอย่างไรหากต่อไปนี้เราจะสามารถขาย “ขยะ”ที่แทบจะรีไซเคิลหรือใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้อย่างอุปกรณ์สำนักงานต่างๆเพื่อนำไปทำประโยชน์ต่อสังคมได้

“กรีน คอลเล็ค” (Green collect) คือตัวอย่างกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ธุรกิจคิดดีอีกรายจากเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ที่สามารถจูงใจให้บริษัทต่างๆ ในออสเตรเลียให้ขายขยะที่ว่านี้

โมเดลธุรกิจของ “กรีน คอลเล็ค” คือการรับจ้างขนขยะอุปกรณ์สำนักงานจากบริษัทต่างๆ โดยจะว่าจ้างพนักงานที่ด้อยโอกาสทางสังคมให้ปรับปรุง หรือ “โมดิฟาย” ขยะเหล่านั้นให้กลายเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์ และนำกลับมาขายให้แก่บริษัทเดิมที่ทิ้งสิ่งของนั้นไป ซึ่งเท่ากับได้ถึงสองต่อทีเดียวค่ะ

พันธกิจของ SE อย่าง “กรีน คอลเล็ค” คือการแก้ปัญหาทางสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และปัญหาทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ธุรกิจหล่อเลี้ยงตัวเองได้ จากนั้นนำกำไรอย่างน้อย 50% มาสานฝันตามพันธกิจที่ตั้งไว้

“แซลลี่ ควินน์” ก่อตั้ง กรีน คอลเล็ค โดยเป็นธุรกิจที่ไม่แสวงกำไร ร่วมกับพาร์ทเนอร์ “ดาร์เรน แอนดรูส์” มากว่า 11 ปีแล้ว โดยในตอนนั้นเธอตั้งใจที่จะช่วยให้คนที่ด้อยโอกาสทางสังคมกลุ่มต่างๆ ได้มีโอกาสทำงานหาเลี้ยงชีพ

ปัจจุบัน กรีน คอลเล็ค มีพนักงานประจำประมาณ 30 ราย และมีรายได้ต่อปีประมาณ 8 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 28 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนหมุนเวียนของบริษัทประมาณ 85% ส่วนที่เหลือเป็นการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐ

ควินน์ เล่าว่า เธอหวังว่าธุรกิจจะเริ่มเลี้ยงตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2562 หรืออีก 3 ปีจากนี้ และตั้งเป้าในการรับพนักงานที่เคยประสบปัญหาในการเข้าทำงาน ไว้ในสัดส่วน 60% ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องสำคัญคือการที่พนักงานทุกคนต้องมีรายได้ที่ดีพออีกด้วย

ไอเดียของ กรีน คอลเล็ค มาจากการที่ควินน์ได้มีส่วนร่วมในงานเพื่อสังคมเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบวิกฤติไร้ที่พักอาศัยบริเวณหาดเซนต์ กิลด้า เมืองเมลเบิร์น โดยเธอเห็นว่าการมีงานทำนั้นจำเป็นมากที่จะช่วย “ฟื้นชีวิต” ของหญิงสาวเหล่านี้อีกครั้ง

ผู้หญิงหลายคนไม่สามารถกลับมาทำงานได้ โดยเหตุผลหลักเป็นเพราะพวกเธอไม่มีที่พักอาศัยที่เป็นหลักแหล่ง จึงไม่สามารถมีเรซูเม่ หรือข้อมูลที่อยู่ในการติดต่อได้ จึงไม่สามารถมีงานทำได้ และหากไม่ได้ทำงาน พวกเธอก็ไม่สามารถหาที่พักที่ปลอดภัยได้ ไม่มีกำลังเช่าที่พักอาศัย ซึ่งทำให้พวกเธอไม่มีที่ไป” ควินน์ เคยให้สัมภาษณ์แก่เวบไซต์ เดอะ การ์เดี้ยน

จากนั้น หุ้นส่วนของเธอคือ แอนดรูส์ ที่มีประสบการณ์ในการวางแผนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จึงร่วมกันกลั่นไอเดียออกมาในการสร้าง “บริษัทรีไซเคิล” โดยได้ทำการศึกษาศักยภาพทางธุรกิจ โดยเริ่มจากให้บริการตรวจสอบของเสีย หรือ Waste Auditing ซึ่งทำให้พวกเขาได้ศึกษาธุรกิจเก็บขยะและกลบขยะไปด้วยในแต่ละสัปดาห์

สำหรับขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้จะจัดการอย่างไร? จากการคัดกรองขยะ พวกเขาพบอุปกรณ์ต่างๆ อย่างเครื่องใช้สำนักงาน ขยะอิเล็กทรอนิกส์ แฟ้มเอกสาร ตลับหมึก และแผ่นซีดี โดยของที่พวกเขานำกลับมาขายคืนให้แก่บริษัทเหล่านี้ อาทิ สมุดบันทึกทำมาจากแฟ้มเอกสาร ที่มีหน้าปกทำจากพีวีซี และร้อยด้วยห่วงโลหะ เป็นต้น โดยใน 18 เดือนที่ผ่านมา กรีน คอลเล็ค รวบรวมแฟ้มเอกสารได้ถึง 75,000 แฟ้ม และได้รีไซเคิลขยะไปแล้วถึง 100 ตัน

นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่นๆ อาทิ แมกเน็ตหรือแผ่นแม่เหล็กทำจากปุ่มคีย์บอร์ด, อุปกรณ์เครื่องเขียน ปากกา ไฮไลท์ ที่ถูกทิ้งแต่ยังใช้ได้อยู่ รวมถึงยังได้วางขายสินค้าตามหน้าร้านต่างๆ ในเมลเบิร์น

ควินน์บอกว่า กรีน คอลเล็ค เป็นทางเลือกของธุรกิจต่างๆ ในการกำจัดขยะด้วยราคาที่ถูกกว่า และเธอยังบอกด้วยว่าเธอไม่ใช่ผู้ประกอบการในธุรกิจรีไซเคิลขยะเสียทีเดียวนัก แต่เรียกได้ว่าเป็นกิจการเพื่อสังคมด้านการฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมากกว่า

เรามาเอาใจช่วยให้ผู้ประกอบการคิดดีเหล่านี้ ได้มีโอกาสสร้างสรรค์ไอเดียที่เป็นประโยชน์กลับคืนสู่สังคมกันนะคะ