ทิศทางการศึกษาด้านธุรกิจในอนาคต

ทิศทางการศึกษาด้านธุรกิจในอนาคต

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ได้จัดสัมมนาวิชาการภายใต้หัวข้อ

Flagship for Innovative Wisdom ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่คณะจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบร้อยปีของการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ฟังกว่า 300 คนเป็นคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาทางด้านธุรกิจทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางด้านการบริหารจัดการ

ในช่วงแรกที่เป็น keynote นั้นได้รับเกียรติจากคุณมารุต บูรณเศรษฐกุล ซึ่งเป็น CEO ของโออิชิ และ คุณวรวัจน์ สุวคนธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดด้านทรัพยากรบุคคลของไทยพาณิชย์ (ทั้งสองท่านเป็นศิษย์เก่าของคณะฯ) มาร่วมเป็นผู้อภิปรายร่วมกับผมในเรื่องทิศทางการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจ ซึ่งได้รับประโยชน์และข้อคิดดีๆ มากมายโดยเฉพาะจากมุมมองของผู้บริหารระดับสูงในองค์กรขนาดใหญ่ และคิดว่าน่าจะสามารถไปปรับใช้กับศาสตร์สาขาอื่นนอกเหนือจากทางด้านบริหารธุรกิจ เลยขอนำมาสรุปและแบ่งปันกัน

เริ่มจากประเด็นแรกก่อนคือสถาบันที่สอนทางด้านธุรกิจ (รวมทั้งสถาบันการศึกษาทั่วๆ ไป) กำลังดำเนินงานอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างจากในอดีตและมีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา งานและหน้าที่หลักที่สถาบันเหล่านี้ทำ เริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้น และมีคู่แข่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน เช่น งานวิจัยที่มีการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการนั้น เริ่มได้รับคำถามว่าจริงๆ แล้วงานเหล่านั้นก่อให้เกิดผล (Impact) ต่อธุรกิจจริงๆ เท่าไร? มีคุณค่าต่อภาคธุรกิจอย่างแท้จริงเพียงใด?

นอกจากนี้ ผู้เรียน (ไม่ว่าระดับใด) ก็จะเริ่มมีช่องทางและทางเลือกอื่นๆ ในการแสวงหาความรู้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งสถาบันที่ถูกตั้งขึ้นมาด้วยคุณลักษณะพิเศษที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาทักษะที่ธุรกิจต้องการโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น CCL (Center for Creative Leadership) หรือ Galvanize เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงของบริบทเหล่านี้ทำให้ Business School ต้องเปลี่ยน Positioning ไป และที่สำคัญคือผู้สอนตามสถาบันเหล่านี้ก็ต้องปรับเปลี่ยนไป ไม่ใช่มีหน้าที่เพียงแค่การสอนหรือถ่ายทอดความรู้เหมือนในอดีต แต่ต้องทำหน้าที่เป็น Enablers ในการส่งเสริมและสนับให้ลูกศิษย์ได้เกิดการเรียนรู้ ที่น่าสนใจคือมีคำถามสำคัญจากทางผู้บริหารที่ร่วมสัมมนาว่า เกรดยังมีความสำคัญอีกไหม?” และ ปริญญายังมีความจำเป็นต่อไปหรือไม่?”

มุมมองของผู้บริหารท่านหนึ่งต่อหน้าที่ของสถาบันการศึกษา คือการสร้างคนสำหรับอนาคต ไม่ใช่ปัจจุบัน ดังนั้นบัณฑิตรุ่นใหม่ที่สถาบันการศึกษาผลิตออกไป จึงไม่ควรจะเป็นเพียงแค่ผู้ที่มีความรู้ (Knowledge) อยู่แต่ในปัจจุบันเท่านั้น

เมื่อเรียงลำดับความสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องการจากบัณฑิตจบใหม่ที่เข้าไปทำงานแล้ว ระหว่าง ทัศนคติ (Attitude) ทักษะ (Skills) และความรู้ (Knowledge) ส่ิงที่ธุรกิจให้คุณค่าและความสำคัญมากที่สุดเรียงจากมากไปน้อยก็คือ ทัศนคติ ทักษะ และ ความรู้ ดังนั้นจึงมีคำถามสำคัญขึ้นมาว่าบทบาทของสถาบันการศึกษาควรจะเป็นเพียงแค่การถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนเท่านั้นหรือไม่? หรือควรจะเป็นสถานที่ให้ผู้เข้ามาเรียนได้ฝึกวิธีการในการที่จะเรียนรู้และแสวงหาความรู้ และเป็นสถานที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกวิธีการในการนำความรู้ไปปฏิบัติมากกว่า?

ทัศนคติที่สำคัญที่ผู้บริหารต้องการจากคนรุ่นใหม่คือเรื่องของความอดทน และความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานของตนเอง นอกจากนั้นทัศนคติที่ดีที่พร้อมจะทำงานร่วมกับผู้อื่นก็เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับทักษะที่สำคัญนั้น หลักๆ ก็หนีไม่พ้นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต ส่วนความรู้นั้นสิ่งที่ผู้บริหารมองกันก็คือไม่ใช่ความรู้ในเชิงลึกที่รู้ลึกเฉพาะในศาสตร์ของตนเองอีกต่อไป แต่จะต้องเป็นลักษณะของ Trans-discipline ที่มีความรู้ในหลากหลายสาขามากขึ้น

สรุปคือบทบาทของสถาบันการศึกษา (โดยเฉพาะทางด้านธุรกิจ) จะต้องเปลี่ยนไป รวมถึงบทบาทของผู้ที่เป็นอาจารย์ ในขณะเดียวกันสิ่งที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกลับไม่ใช่ความรู้แบบในอดีต กลับเป็นเรื่องของทัศนคติ วิธีการคิด (Attitude & Mindset) รวมทั้งทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคตมากขึ้น ส่วนเรื่องของความรู้นั้นมุ่งเน้นเรื่องของความสามารถในการแสวงหาความรู้ และสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติมากกว่าตัวความรู้จริงๆ