วิกฤตผู้นำ ภาวะขาดหัวหน้างานที่ดี

วิกฤตผู้นำ ภาวะขาดหัวหน้างานที่ดี

ยังจำได้ดีว่า ก่อนปี ค.ศ. 2000หรือก่อนเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21หลักสูตรเนื้อหาด้านการจัดการมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก

แทบจะทุกศาสตร์ทุกสาขาและทุกวิชา อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของโลกาภิวัตน์ โลกแบน และการเชื่อมต่อถึงกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตก่อนที่จะถึงจุดรุ่งเรืองสุดๆในยุคนี้ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางภายภาพ องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะก้าวกระโดดไปไกลแบบพลิกโฉมแล้วก็ตาม แต่การพัฒนาโครงสร้างองค์กร การบริหารงาน และการจัดการคน ดูเหมือนจะยังไม่ไปถึงไหน ยิ่งถ้าเหลียวไปดูธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็ยังคงพบปัญหาเดิมๆ ไม่ต่างจากช่วงที่คำว่า SMEsบูมใหม่ๆเมื่อร่วม 20ปีก่อน

แต่วันนี้ปัญหาเรื่องคนทำงาน ดูจะหนักหนาสาหัสขึ้นทุกวัน เมื่อสอดส่องมองลงไปลึกๆถึงข้างในองค์กรต่างๆ จะพบกับหลายปัญหาที่สะสมต่อเนื่องกันมา โดยไม่ได้รับการแก้ไขหรือวางแผนป้องกันไว้แต่แรก จนทำให้หลายองค์กรต้องคิดหนัก แล้วเราจะไปสู่องค์กรยุคใหม่ที่ทันสมัยได้อย่างไร

สิ่งแรกคือ วิกฤติผู้นำระดับสูง ที่ขาดทั้งปริมาณและขาดทั้งคุณภาพ อันนี้ผมไม่ได้พูดเองคิดเอง แต่ด้วยอาชีพที่ปรึกษาด้านการจัดการองค์กร จึงมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนเห็นข้อมูลที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นปัญหาจริงๆ และนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น โดยปกติแล้วผู้บริหารสูงสุดขององค์กรทั่วไปมักจะได้จากการสรรหา ผ่านคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้น โดยมีวาระการทำงาน 4 ปี แต่ถ้าเราติดตามดูให้ดีจะพบว่ามีองค์กรจำนวนไม่น้อย ที่ใช้ระยะเวลาสรรหายาวนานขึ้น บางองค์กรต้องเปิดรอบสองรอบสาม เพราะยังหาตัวบุคคลที่ดีและถูกใจไม่ได้ บางองค์กรได้ผู้บริหารแล้วอยู่ไม่ครบวาระก็ต้องไปก่อนเวลาอันควร อย่าว่าแต่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจที่บางที 2 ปี 3 คนเลย แม้แต่เสนาบดีระดับคุมกระทรวง กรม กอง 2 ปี อาจจะปาเข้าไป 4 คนด้วยซ้ำ

ดังนั้นการกำหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และการบริหารการเปลี่ยนแปลงในยุคที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเร็วมากในปัจจุบันแทบเรียกว่าเป็นไปได้ยากจริงๆ เพราะพนักงานภายในองค์กรก็จะนั่งรอว่าเมื่อไรจะมีคนมาชี้เป้า และกล้าลงมือผ่าตัดโดยไม่กลัวต่อแรงต้านทาน จึงได้แต่คอยช่วยกันประคองสถานะให้รอดไปวันวัน

อีกวิกฤตหนึ่งคือผู้บังคับบัญชาในทุกระดับชั้น ขาดทักษะความสามารถในการบริหารจัดการ บางส่วนอาจจะทำงานได้ดีได้เก่ง แต่ไม่รู้จะบริหารคนบริหารความรับผิดชอบที่กว้างขวางมากขึ้นได้อย่างไร อีกทั้งทักษะไม่พอจากการไม่ได้เติมหรือเติมไม่ทัน เพราะองค์กรไม่มีระบบพัฒนาคนที่ดี หรือมีกำหนดไว้แต่ไม่มีประสิทธิผล แน่นอนองค์กรที่มีระบบดีมีความก้าวหน้าก็จะไปได้ไกลและไปได้เร็ว ซึ่งเราสามารถเห็นได้แต่น้อยเหลือเกิน

วิกฤตด้านบุคลากรอีกส่วนหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กันก็คือ ระดับคนทำงานหรือระดับปฏิบัติการ ที่มีอยู่ก็ไม่สอดรับกับความต้องการทักษะใหม่ในยุคดิจิตัล แม้บางครั้งองค์กรจะพยายามพัฒนาแต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ จะเอาคนรุ่นเก่าที่ไม่ยอมพัฒนาออกไปก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่มีใครอยากทำ ครั้นจะเอาคนรุ่นใหม่เข้ามาทำแทนก็หาไม่ได้อีก เพราะคนรุ่นใหม่อยากจะไปสร้างอนาคตกับองค์กรแบบใหม่ที่เขามีส่วนร่วมสร้าง และได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ ภาวะความต้องการคนเก่ง ความประพฤติดี มีวินัย และพร้อมจะทำงานในระบบองค์กรใหญ่ๆที่มีขั้นตอนและชั้นบังคับบัญชามาก จึงกลายเป็นสิ่งที่เหมือนกับไม่เหมาะกับยุคสมัยเอาเสียเลย

แม้ว่าหน้าที่ 5ประการของการจัดการ (Five Functions of Management)ที่เคยใช้กันมายาวนานในยุคศตวรรษที่ 19จนถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 20ที่ประกอบด้วย การวางแผน (Planning)การจัดโครงสร้างองค์กร (Organizing)การวางแผนกำลังคน (Staffing)การบังคับบัญชาหรือสั่งการ (Commanding)และการควบคุมให้เป็นไปตามที่กำหนด (Controlling)จะได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 20เป็นหน้าที่ 4ประการของการจัดการ ประกอบด้วย การวางแผน (Planning)การจัดโครงสร้างองค์กรและกำลังคน (Organizingเป็นการรวมเอา Staffingเข้ามาไว้ด้วยกัน)การนำ (Leading) และสุดท้ายคือการติดตามประเมินผล (Evaluating)และเริ่มพูดและพยายามใช้กันอย่างมากในศตวรรษนี้แล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติยังไปได้ไม่เร็วและมากพอ

เพื่อให้เกิดประโยชน์และส่งผลต่อการนำไปปฏิบัติ จึงอยากจะแบ่งปันแนวทางการพัฒนาหัวหน้าในแบบผู้นำเพื่อมุ่งสู่ผลลัพธ์ที่ดี ที่มีทั้งผลิตภาพและคุณภาพในคราวเดียวกัน โดยจำแนกเป็น 8 ทักษะความสามารถ (Eight Competency Skills) ของการเป็นหัวหน้า (Supervising) ไม่ว่าจะหัวหน้าทีม หัวหน้างาน หัวหน้าโครงการ หรือแม้แต่ผู้บริหารในระดับชั้นต่างๆ ที่ต้องนำพาคนให้ร่วมใจสร้างสรรค์ผลงานให้สอดรับกับบริบทความเปลี่ยนแปลง และความต้องการใหม่ๆอยู่เสมอ ดังนี้

ทักษะในการวางแผนงาน (Planning the Work)

ทักษะการสื่อสารเพื่อสร้างผลงานร่วมกัน (Communicating for Result)

ทักษะการนำและสร้างพลังร่วมจากคนในทีม (Leadership and Influencing)

ทักษะการจัดการเพื่อยกระดับสมรรถนะในงาน (Managing Work Performance)

ทักษะการจัดการให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง (Managing Change)

ทักษะการบริการลูกค้าและตอบสนองต่อความต้องการใหม่ๆ (Customer Service)

ทักษะการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิผล (Effective Problem Solving)

ทักษะการปรับปรุงคุณภาพและผลิตภาพอย่างเป็นระบบ (Productivity and Quality Improvement)

นี่คือ 8 ทักษะที่ควรบรรจุไว้ในหลักสูตรฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติให้กับพนักงานคนใดก็ตาม ที่กำลังจะได้รับการปรับระดับให้ขึ้นสู่ตำแหน่งที่ต้องมีการนำคนเพื่อบรรลุผลงานตามเป้าหมายที่ร่วมกันกำหนดไว้ในแผนงาน เป็นทักษะการจัดการที่จำเป็นสำหรับองค์กรยุคใหม่ในวันนี้ นอกเหนือจากที่ต้องรู้รอบ รู้กว้าง และรู้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นทุกวัน ซึงจะนำมาขยายให้ได้นำไปเป็นแนวทางพิจารณาต่อไป