เพื่อพรุ่งนี้ ที่ไม่ลืมเมื่อวาน 

เพื่อพรุ่งนี้ ที่ไม่ลืมเมื่อวาน 

ในโลกที่หมุนเร็วและเด็กรุ่นใหม่ๆ กำลังสนุกสนานโลดแล่นไปกับแรงดึงดูดของเทคโนโลยีที่แสนเย้ายวน 

มุมของผู้ใหญ่เชื่อว่าย่อมมีไม่น้อยที่รู้สึกห่วงใยอยู่ลึกๆ ว่า กลุ่มคนที่กำลังจะเป็นอนาคตของประเทศเราจะก้าวไวกระโดดไกลชนิดที่ไม่เหลียวมมามองสิ่งที่อยู่ข้างหลังกันเลยหรือเปล่า เพราะการ“ก้าวตามโลก” โดยปราศจากความ “เข้าใจในรากเหง้า” บางทีก็มีแง่มุมที่อาจนำมาสู่การก้าวพลาดหรืออาจใช้ประโยชน์ของการผสมผสานได้ไม่ลงตัวเท่าที่จะพึงเป็น 

ไม่นานนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสเป็นกรรมการตัดสินการประกวดงานสร้างสรรค์และผลิต E-Magazine ของน้องๆ เด็กมัธยมทั่วประเทศกับโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ได้มีโอกาสทั้งเห็นผลงานที่ทำเสร็จเรียบร้อยและได้ฟังการพรีเซ็นต์บอกเล่าถึงวิธีการ กว่าจะได้มาซึ่งผลงานนั้นๆ และทำให้ได้ตระหนักว่าในหลายๆ เรื่องราวของชีวิต “ระหว่างทาง สำคัญไม่แพ้ปลายทาง” จริงๆ

     เด็กมัธยมหลายชีวิตจากกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศพวกเขาเติบโตมากับยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลแพร่หลายชนิดที่แทบจะไร้ขีดจำกัด ฉะนั้นการใช้โปรแกรมนั้นเทคนิคนี้ในการที่จะรังสรรค์ผลงานเป็น e-magazine ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่“เนื้อหาและเรื่องราว” ที่ต้องลงพื้นที่จริงเพื่อให้ได้มาต่างหากคือกุญแจสำคัญที่ช่วยเปิดประตูโลกทัศน์บานใหญ่ให้พวกเขา

โจทย์ที่ต้องทำ E-magazine ในหัวข้อ “ภูมิใจ ภูมิไทย” ทำให้เด็กๆ เหล่านี้ที่แต่เดิมอาจไม่เคยให้ความสนใจกับคุณค่าหรือที่มาที่ไปของท้องถิ่นที่อยู่อาศัยของตัวเองมากนัก ได้มีโอกาสสัมผัสคลุกคลีอย่างลงลึก จากความรู้ ก่อให้เกิดความเข้าใจและตระหนักภาคภูมิในท้องถิ่นที่มาของตนเอง ตามมาด้วยจิตสำนึกแห่งความเป็นพลเมือง ซึ่งมีหน้าที่ในการธำรงไว้ซึ่งคุณค่าอันดีงามของชุมชนให้สืบสานต่อจากรุ่นสู่รุ่นเป็นวิถีแห่งการรู้จักตัวตนและปรับปรนที่เหมาะเจาะกับกระบวนการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างยิ่ง

จึงเป็นสุนทรียะสไตล์ดิจิทัล ที่ได้เห็นเด็ก โรงเรียนหอวัง กรุงเทพฯ สร้างนิตยสารออนไลน์ “ HUMAN WIDE” ถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนท่าเตียนผ่านวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนได้มีเสน่ห์ เปี่ยมชีวิตชีวา และชวนฮือฮาด้วยสีสันเทคโนโลยีแอพพลิเคชั่นภาพเคลื่อนไหว 

ได้ชมเด็กโรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา จ.ปัตตานี สร้างนิตยสารชื่อเก๋ “ใครมาสายโดน!!” ถ่ายทอดความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อชุมชนสายบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อันห่างไกล, ได้อ่านงานของโรงเรียนดีบุกพังงาวิทยายน จ.พังงา สร้างนิตยสาร “KOEY” (เคย) นำของดีเด่นของจังหวัดพังงา มาเผยแพร่ให้อยากไป (เคย) ลองสักครั้ง ทั้งอาหารการกิน วัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์และ ธรรมชาติอันงดงาม 

ได้ชื่นชม โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม จ.สุโขทัย กับงานแนวติสต์ถึงใจ กับนิตยสาร “Pratueng” (ประเทือง) ที่เล่าเรื่องเมืองสุโขทัยในมุมมองของคนพื้นถิ่นด้วยภาพวาดลายเส้นเขียนมือล้วนๆ, ได้ปลื้มปริ่มกับโรงเรียนอามานะศักดิ์ จ.ปัตตานี ที่สร้างนิตยสาร “เกลือหวาน” บอกเล่าเสน่ห์แห่งศิลปวัฒนธรรม ที่งดงามด้วยความพอเพียง, ได้ตรึงตรากับฝีมือของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่สร้างนิตยสาร “Deep in Khonkaen” ด้วยเรื่องราวที่แสนสนุก อย่างการพาชมหมู่บ้านงู พาดูกรรมวิธีกว่าจะเป็นผ้าไหม ในแบบ 2 ภาษา 

ได้ชิลไปกับเรื่องราวที่น้องๆ โรงเรียนสตรีศรีน่าน ที่รังสรรค์นิตยสาร “น่านฟ้า” พาไปสัมผัสชีวิตสไลว์ไลฟ์ของชาวเมืองน่าน โดยมีตัวละครการ์ตูนคาแรคเตอร์ที่สร้างขึ้นเป็นเสมือนไกด์นำเที่ยว, ได้ดื่มด่ำสุนทรียะจากโรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา .สุโขทัย ที่ทำให้นิตยสาร “สินสวรรค์” พาเราไปรู้จักวัด วัง ที่เปี่ยมมนต์ขลังของเมืองหลวงเก่า คละเคล้ากับสีสันอาหารอันน่าลิ้มลอง, ได้เห็นฝีมือของเด็กโรงเรียนสาธิตปทุมวัน ที่สร้างนิตยสาร Over Look ได้ฮิปมาก ทำให้เรื่องราวของเด็กเมืองกรุงน่าติดตาม น่าอ่านแบบชนิดวางเม้าส์ไม่ลง นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะ 400 โรงเรียน ก็สร้างนิตยสารดิจิทัลที่มีคุณค่า 400 เล่ม ให้อ่านได้ไม่รู้เบื่อ

เป็นความอิ่มเอมใจที่ได้อ่านผลงานคุณภาพจากฝีมือของเด็กๆ ที่ทำได้ดีมาก จนเกือบลืมไปว่านี่คือผลงานของมือสมัครเล่น แต่เป็นความชื่นอกชื่นใจยิ่งกว่าที่อย่างน้อยก็ได้เห็นว่า “คนที่เป็นอนาคตของประเทศเราในวันพรุ่งนี้ ยังรู้จักและไม่ลืมเมื่อวาน”

และนี่คือพันธกิจหนึ่งอันงดงามอีกแง่มุมหนึ่งของสื่อดิจิทัล ที่ทั้งช่วยทลายกำแพงที่ปิดกั้นการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และเป็นสะพานสานต่อสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ให้ดำรงอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน...เหนือกาลเวลา!