กองทุนอนุรักษ์ทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพในอนาคต

กองทุนอนุรักษ์ทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพในอนาคต

ปัญหาการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่ผู้สูงอายุยังไม่มีเงินออมและภาครัฐ

ยังไม่มีสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุอย่างเพียงพอ และปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำและพลังงาน อย่างฟุ่มเฟือยเป็นอีก 2 ปัญหาหลักที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ 

บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทางการจัดตั้ง กองทุนอนุรักษ์ทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพในอนาคต โดยใช้ทรัพยากรน้ำเป็นกรณีศึกษา กองทุนนี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ผู้สูงอายุมีสวัสดิการดีขึ้นและลดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยไปพร้อม ๆ กัน โดยปรับราคาทรัพยากรสาธารณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศใช้ร่วมกัน เช่น น้ำประปาหรือไฟฟ้าให้สูงขึ้นเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประหยัด 

จากนั้นจึงนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ไปจัดตั้งเป็นกองทุนแยกจากงบประมาณปกติของรัฐบาล โดยมีเงินสมทบส่วนหนึ่งจากรัฐบาลเข้าสู่กองทุน พร้อมผลตอบแทนจากการนำเงินในกองทุนไปลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ จนเมื่อประชาชนผู้ใช้ทรัพยากรนั้นเข้าสู่วัยเกษียณแล้วจึงจ่ายเงินสดจากกองทุนคืนให้ในรูปของเงินช่วยเหลือค่าครองชีพผู้สูงวัย จึงเป็นเสมือนการออมเงินในวันนี้เพื่อใช้ในวันหน้ากองทุนดังกล่าวมีองค์ประกอบและกลไกสำคัญ ดังนี้

ทรัพยากรสาธารณะตามแนวคิดนี้ควรเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปและเป็นทรัพยากรที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องใช้และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ได้ เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า

กลุ่มผู้ออมเงินและผู้ได้รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ โดยผู้ออมเงินเข้ากองทุนจะเป็นหน่วยครัวเรือนทุกครัวเรือนที่ใช้และจ่ายค่าน้ำประปาให้กับผู้ให้บริการในภาครัฐ โดยจะมีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนกี่คน สัญชาติใด ทำอาชีพอะไร หรือมีอายุเท่าไรก็ได้เนื่องจากประชาชนทุกคนที่ใช้น้ำควรมีบทบาทในการใช้น้ำอย่างประหยัด 

 ส่วนผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพคือประชาชนสัญชาติไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ เนื่องจากผู้สูงอายุเหล่านี้ก็คือผู้ใช้น้ำประปาซึ่งเคยจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนมาก่อนแล้วนั้นเอง กรณีครัวเรือนที่ยังไม่มีน้ำประปาใช้ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยและเป็นผู้ด้อยโอกาสจึงสมควรได้รับการยกเว้นการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนนี้แต่ยังคงมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพหลังเกษียณโดยถือเป็นรัฐสวัสดิการ ในส่วนของคนยากจนที่เดือดร้อนจากการขึ้นค่าน้ำประปาก็อาจลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อขอยกเว้นค่าน้ำประปาเฉพาะในส่วนที่ขึ้นราคาได้

รายได้หลักในกองทุน ได้แก่ (ก) เงินสะสมที่เรียกเก็บเพิ่มขึ้นจากการขึ้นราคาน้ำประปา (ข) เงินสมทบจากรัฐบาลซึ่งอาจเป็นงบประมาณที่รัฐบาลสามารถประหยัดได้จากการที่ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดจากโครงการนี้ เช่น ค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียที่ลดลง ค่าใช้จ่ายจากการเสียดุลการค้าในการนำเข้าวัตถุดิบหรือพลังงานเพื่อผลิตน้ำประปา ค่าใช้จ่ายที่ลดลงได้จากการชะลอการสร้างเขื่อนเพิ่มเติมเพื่อรองรับการขาดแคลนน้ำ ค่าใช้จ่ายในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประหยัดน้ำ ฯลฯ และ (ค) ผลตอบแทนจากการลงทุนเมื่อนำเงินจำนวนมากในกองทุนไปลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะทำให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าและมีความเสี่ยงต่ำกว่าการที่แต่ละครัวเรือนนำเงินไปลงทุนกันเอง

หน่วยงานที่จัดเก็บเงินสะสมและจ่ายเงินช่วยเหลือ ให้ผู้ให้บริการน้ำประปาซึ่งมีภารกิจอีกด้านในการรณรงค์เพื่ออนุรักษ์น้ำ เช่น การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาคและหน่วยงานประปาท้องถิ่นจัดเก็บค่าน้ำประปาในเขตพื้นที่บริการของตนเองตามปกติโดยรวมค่าน้ำประปาที่เพิ่มขึ้นจากโครงการนี้เข้าไปด้วย 

จากนั้นหน่วยงานเหล่านี้จึงค่อยโอนเงินส่วนที่เพิ่มจากการขึ้นค่าน้ำประปาดังกล่าวเข้ากองทุนเพื่อไม่ให้ต้องมีการจัดตั้งหน่วยงาน ธุรกรรมหรือมีค่าใช้จ่ายเพื่อจัดเก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่มเติม ในการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ กองทุนจะโอนเงินไปพร้อมกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้กับผู้สูงอายุวัยหลังเกษียณซึ่งได้ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ไว้ก่อนหน้าแล้วเป็นรายเดือนเพื่อไม่ให้ต้องมีการจัดตั้งหน่วยงาน ธุรกรรมหรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเช่นกัน

กลไกของกองทุนมีขั้นตอนในการดำเนินงาน โดยเริ่มจากการประกาศขึ้นราคาน้ำประปา จากนั้นหน่วยงานที่มีหน้าที่เก็บค่าน้ำประปาเก็บค่าน้ำประปาตามปกติแล้วจึงโอนเงินส่วนต่างที่เก็บเพิ่มจากการขึ้นราคาข้างต้นนำส่งกองทุน รัฐบาลจ่ายเงินสมทบส่วนหนึ่งเข้ากองทุน กองทุนนำเงินในกองทุนไปลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อประชาชนผู้ใดมีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป กองทุนก็จะจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเป็นเงินสดให้กับประชาชนผู้นั้นโดยจ่ายรวมไปกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ การปรับราคาขึ้นอาจทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อลดแรงต้านและไม่ให้มีผลกระทบกับประชาชนที่มีรายได้น้อย โดยต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจและเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวต่อตนเองเป็นหลัก

------------------

ผศ.ดร.อัศม์เดช วานิชชินชัย

ดร.ทิพภานิดา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา