ทุนมนุษย์ของไทยพร้อมแค่ไหนที่จะไปสู่ยุค 4.0

ทุนมนุษย์ของไทยพร้อมแค่ไหนที่จะไปสู่ยุค 4.0

ไทยแลนด์ 4.0 กลายเป็นคำฮิตในแทบทุกวงการ เพราะการขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้า

ไปสู่ยุค 4.0 นั้นจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาในทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่การพัฒนาภาคธุรกิจและภาคราชการเท่านั้น เพราะยุค 4.0 จะเป็นระบบนิเวศน์ใหม่ของสังคมมนุษย์ นั่นหมายความว่า แทบทุกมิติของมนุษย์จะได้สัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงนี้ หากเรามองย้อนกลับไปในอดีต พลังการปรับตัวของสังคมขึ้นอยู่กับระดับทุนมนุษย์ของสังคมนั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็คงไม่ต่างกัน คำถามก็ถือ ในขณะที่เราอยากจะวิ่งไปสู่ยุค 4.0 ทุนมนุษย์ของเรามีเพียงพอแล้วหรือยัง?

ข้อมูลที่นำมาใช้เพื่อฉายภาพในเรื่องนี้มาจากรายงาน The Human Capital Report 2016 จัดทำโดย World Economic Forum จากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน เราอยู่ในอันดับสาม ตามหลังสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่ถ้าดูคะแนนแล้ว คะแนนของเราไม่ได้หนีมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซียมากนัก นั่นหมายความว่า เรามีคู่แข่งที่หายใจรดต้นคออยู่ถึง 4 ประเทศ ผลที่ได้สะท้อนให้เห็นว่า ใครจะแพ้ใครจะชนะเกมเศรษฐกิจในอาเซียน ก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหนสามารถแปลงทุนมนุษย์ที่มีอยู่ให้กลายเป็นความสามารถในการแข่งขันได้มากกว่ากัน

หากเราเชื่อว่าความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นจะช่วยให้ประเทศมีรายได้ต่อหัวมากขึ้น ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ต่อหัวกับดัชนีทุนมนุษย์ก็น่าจะสะท้อนภาพความสามารถในการ“แปลง” ทุนมนุษย์ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รูปที่ 2 เป็นการสรุปความสัมพันธ์ดังกล่าว ส่วนเส้นประที่แสดงไว้ ก็คือ เส้นที่ใช้ในการประเมินว่า โดยเฉลี่ยแล้วความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ต่อหัวกับดัชนีทุนมนุษย์ควรเป็นอย่างไร หากจุดไหนที่อยู่เหนือเส้นประ แสดงว่าประเทศนั้นสามารถทำได้ดีกว่าภาครวมของโลก ถือเป็นประเทศที่เก่ง จุดที่อยู่ใกล้เส้นประหมายถึงประเทศที่ทำได้ดีพอๆ กับค่าเฉลี่ยของโลก ถือว่าเป็นประเทศธรรมดาเท่านั้น ส่วนจุดที่อยู่ต่ำกว่าเส้นประ แสดงว่าประเทศนั้นทำได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

หากดูจากรูปจะเห็นว่าประเทศไทยอยู่ใกล้กับเส้นประ (แต่ต่ำกว่าเส้นประเล็กน้อย) ซึ่งแสดงว่าความสามารถในการแปลงทุนมนุษย์ให้เป็นรายได้ต่อหัวของไทยอยู่ในระดับธรรมดา แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ หากเราใช้รายได้ต่อหัวมาเป็นเกณฑ์ เพื่อแยกระหว่างประเทศที่ยังอยู่ในยุค 2.0 ถึง 3.0 กับประเทศที่ตอนนี้อยู่ในช่วง 3.0 ตอนปลายและกำลังเดินหน้าสู่ยุค 4.0 จะเห็นว่า นอกจากเราจะเป็นประเทศธรรมดาแล้ว ประเทศของเรายังอยู่ในยุค 2.0 ถึง 3.0 นั่นหมายความว่าการจะไปสู่ยุค 4.0 ของเรามีโจทย์ที่ต้องแก้ให้แตก 2 โจทย์ซ้อนกันอยู่

โจทย์แรก คือ จะทำอย่างไรเราถึงจะทำให้พื้นที่หรือภาคเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในยุค 2.0 ให้ก้าวไปสู่ยุค 3.0 ให้เร็วที่สุด และโจทย์ที่สอง คือ สำหรับภาคเศรษฐกิจที่อยู่ในยุค 3.0 อยู่แล้วเราจะผลักดันให้ไปสู่ยุค 4.0 ได้ยังไง

ในเมื่อทุนมนุษย์เป็นคำตอบของโจทย์ทั้ง 2 ข้อนี้ แสดงว่าแผนการพัฒนาทุนมนุษย์ของเราจะต้องมีทั้งแผนในการเคลื่อนจากยุค 2.0 ไปสู่ 3.0 และแผนที่จะเดินไปสู่ยุค 4.0 ด้วยเหตุนี้ การวางแผนกำลังคนจึงไม่ได้เป็นแค่การผลิตคนเพิ่มให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองถึงแนวทางยกระดับคุณภาพของคนในวันทำงานในปัจจุบันให้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการหาทางให้ทุกภาคส่วนของสังคมสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ได้อย่างเต็มที่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และด้านอื่นๆ ในวิถีชีวิต

ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ ยุค 4.0 จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอย่างแน่นอน สังคมไทยจึงต้องหาคำตอบร่วมกันให้ได้ว่า จุดยืนของเราในยุค 4.0 จะเป็นอย่างไร หาไม่แล้ว เราจะกลายเป็นประเทศที่มีทั้ง 3 ยุคซ้อนทับกัน การซ้อนทับกันนี้จะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งอาจจะกลายเป็นเชื้อไฟสำหรับความวุ่นวายครั้งใหม่ก็เป็นได้