ฟิลิปปินส์ : สถานการณ์และความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้าย

ฟิลิปปินส์ : สถานการณ์และความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้าย

ปัญหาการก่อการร้ายนับเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงอันดับต้นๆ ของฟิลิปปินส์ รัฐบาล

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) ได้ยกให้เป็นวาระสำคัญพอๆ กับปัญหายาเสพติดซึ่งกำลังดำเนินการปราบปรามอยู่ในขณะนี้ ล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีดูแตร์เตเตือนชาวฟิลิปปินส์ให้เตรียมพร้อมสำหรับภัยก่อการร้าย จากนั้นไม่กี่วัน ทางการฟิลิปปินส์ได้ยกระดับการเตือนภัยเป็นขั้นสูงสุด หลังจากเจ้าหน้าที่สืบสวนจนพบแผนลอบวางระเบิดสวนสาธารณะ ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีการเตรียมแผนวางระเบิดสถานทูตสหรัฐ กลางกรุงมะนิลา แต่แผนการล้มเหลวเสียก่อน

ด้วยเหตุที่ฟิลิปปินส์มีกลุ่มก่อการร้ายอาบู ไซยาฟ (Abu Sayyaf) เป็นภัยคุกคามในประเทศมาอย่างยาวนาน และการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มให้ กลุ่มก่อการร้ายสุดโต่งอย่างขบวนการรัฐอิสลาม (Islamic State) หรือกลุ่มไอเอส เข้ามาสร้างเครือข่ายตั้งฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้นำฟิลิปปินส์จึงแสดงความกังวลว่าสมาชิกของขบวนการดังกล่าวอาจเล็ดลอดเข้ามาในฟิลิปปินส์ตลอดจนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเช่น มาเลเซียและอินโดนีเซีย เพื่อต้องการเปลี่ยนประเทศเปล่านี้ให้เป็นรัฐอิสลาม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของฟิลิปินส์อย่างหลีกเลี่ยงไมได้

ทางการฟิลิปปินส์ยังยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างขบวนการรัฐอิสลามกับกลุ่มก่อการร้ายในประเทศ โดยอาศัยหลักฐานจากคลิปวิดีโอของฝ่ายผู้ก่อการร้าย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาใช้ธงสีดำของขบวนการรัฐอิสลาม รวมถึงอุดมการณ์ แรงบันดาลใจ และยุทธวิธีซึ่งได้ถูกนำไปใช้โดยกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ อย่างแพร่หลายในบริเวณภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ข้อมูลของรัฐบาลระบุว่ามีกลุ่มก่อการร้ายในประเทศเกี่ยวข้องกับขบวนการรัฐอิสลามถึง 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มอาบู ไซยาฟ และ กลุ่ม Ansarul Khilafa Philippines (AKP) ซึ่งต่างมีนักยุทธศาสตร์จากอินโดนีเซียเข้าร่วม และมีความเชื่อมโยงกับซีเรีย กลุ่มนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพอิสลามบังซาโมโร (Bangsamoro Islamic Freedom Fighters: BIFF) ซึ่งเป็นกลุ่มที่แยกตัวมาจากแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front: MILF) ที่เรียกได้ว่าเป็นสายเหยี่ยวและเน้นความรุนแรง สุดท้ายคือกลุ่ม Maute มีฐานอยู่ที่จังหวัด Lanao และมีเป้าหมายโจมตีทางทหารอย่างรุนแรง

สถานการณ์ภัยคุกคามก่อการร้ายดูจะมีความซับซ้อนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ รัฐบาลฟิลิปปินส์พยายามเดินหน้ากระบวนการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนหรือเรียกร้องการปกครองตนเองอย่างกลุ่ม MILF และกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์ หรือกองทัพประชาชนใหม่ เพื่อแยกกลุ่ม/ขบวนการทางการเมืองในพื้นที่ออกจากกลุ่มก่อการร้าย 

ขณะเดียวกันรัฐบาลดูแตร์เตก็ตอบโต้กลุ่มก่อการร้ายในภาคใต้ด้วยมาตรการทางการทหารควบคู่กันไป เช่น การส่งทหารเข้าประจำการในพื้นที่จังหวัดซูลูกว่า 5,000 นาย เพื่อเฝ้าระวังและปราบปรามกลุ่มอาบู ไซยาฟ ที่คุกคามความมั่นคงสาธารณะ ตลอดจนการลักพาตัวชาวต่างชาติหลายครั้งนับตั้งแต่นายดูแตร์เตเข้าบริหารประเทศ

ความร่วมมือระหว่างฟิลิปปินส์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการป้องกัน และแก้ไขภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะปัญหาการลักพาตัวเรียกค่าไถ่ในบริเวณน่านน้ำทะเลรอยต่อระหว่างฟิลิปปินส์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ล่าสุดลูกเรือชาวอินโดนีเซียถูกกลุ่มอาบู ไซยาฟลักพาตัวไป จึงนำไปสู่การลงนามเพื่อขยายความร่วมมือทางทะเลระหว่างสามประเทศ 

ในระหว่างการเดินทางเยือนมาเลเซียเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ประธานาธิบดีดูแตร์เตได้ลงนามรับรองหลักการ ไล่ตามติดพัน” (hot pursuit) ให้มีผลปฏิบัติโดยสมบูรณ์ หลักการดังกล่าวจะอนุญาตให้เรือของประเทศที่ลงนามสามารถไล่ตามเพื่อจับกุมเรือผู้ก่อการร้าย รวมถึงการกระทำผิดอื่นๆ ต่อเนื่องเข้ามายังอาณาเขตทางทะเลของประเทศตนได้ เรียกได้ว่าเป็นพัฒนาการใหม่ของความร่วมมือทางทะเลระหว่างกัน 

นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์และมาเลเซียยังแสวงความร่วมมือเพิ่มเติมอันเป็นผลสืบเนื่องจากข้อตกลงดังกล่าว ครอบคลุมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวทั้งประเด็นการลักพาตัวและอาชญากรรมอื่นๆ ในพื้นที่เขตความมั่นคงซาบาห์ตะวันออก ระหว่างหน่วยงานความมั่นคงของทั้งสองประเทศ

สถานการณ์และภัยคุกคามการก่อการร้ายในฟิลิปปินส์ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันความร่วมมือในหลักการ “ไล่ตามติดพัน” ที่สะท้อนอย่างชัดเจนว่า ภัยก่อการร้ายโดยเฉพาะการเชื่อมโยงของกลุ่มก่อการในอาเซียนกับความเคลื่อนไหวในตะวันออกกลางเป็นประเด็นที่ทุกประเทศในอาเซียนต้องเข้าใจสถานการณ์และส่งเสริมความร่วมมือในเข้มข้นยิ่งขึ้น และเป็นไปได้ว่าในวาระที่ฟิลิปปินส์ทำหน้าที่ประธานอาเซียนในปี 2560 นี้ ผู้นำฟิลิปปินส์จะผลักดันประเด็นเกี่ยวกับภัยคุกคามการก่อการร้ายอย่างแข็งขัน

------------------------

สรพงษ์ ลัดสวน

โครงการ ASEAN Watch ฝ่าย 1 สกว.