การแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ตอน 2)

การแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ตอน 2)

เมื่อตอนที่1 ได้กล่าวแล้วว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “เพื่อแก้ปัญหาการบริหาร

งานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)” เป็นเป้าหมายที่สำคัญ หมายความว่า การแก้กฎหมาย น่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในการบริหารงานของสปสช. และผ็เขียนเรื่องนี้ ได้สรุปว่า มีปัญหาอะไรจากการบริหารงานของสปสช.ที่รัฐบาลนี้และหัวหน้าคสช.ได้รับทราบแล้ว และได้แก้ปัญหาโดยการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2557 ไปแล้ว เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น และในคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 37/2559 (1) ข้อ 5 วรรคสอง ยังได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทำหารตรวจสอบว่า การจ่ายเงินและการรับเงินซึ่งได้กระทำไปแล้วโดยสุจริตตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2558 จนถึงวันที่ประกาศตามข้อ 4 มีผลใช้บังคับ (คือวันที่ 5 ก.ค.2559) ให้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นตามคำสั่งนี้ด้วย

ซึ่งความหมายของคำสั่งในข้อ 5 ก็คือ มีการตรวจพบว่าสปสช.ใช้จ่ายงบประมาณโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด (เรียกว่ามีการประพฤติมิชอบสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว) แต่รัฐมนตรีสาธารณสุขต้องตรวจสอบว่า การใช้จ่ายนั้น (ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) เป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ ? หรือใช้จ่ายไปโดยทุจริต หรือมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนรวม กับผลประโยชน์ส่วนตัว (Conflict of Interest)

จึงขอเรียนถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วยความห่วงใยว่า ท่านได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวนี้แล้วหรือยัง? ไม่เช่นนั้นท่านเองอาจจะต้องถูกตรวจสอบเรื่องประสิทธฺภาพในการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงสาธารณสุขและในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกด้วย

ในตอนนี้ ผู้เขียนจะขอเสนอปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของสปสช.ที่กลุ่มบุคลากรที่ทำงานในรพ.ของกระทรวงสาธารณสุขได้รับผลกระทบโดยตรง และได้เรียกร้องให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสปสช.แก้ไข แต่ยังไม่มีการแก้ไขที่มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม คือ การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณในการใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยไม่เพียงพอกับภาระค่าใช้จ่ายจริง ซึ่งทำให้มีผลขาดทุนสะสมเป็นจำนวนหลายร้อยโรงพยาบาล คิดเป็นจำนวนเงิน 7,000 ล้านบาท(2) เมื่อปี 2554 และเมื่อเวลาต่อมาอีก 5 ปีคือพ.ศ. 2459 ก็ยังมีข้อมูลโรงพยาบาลขาดทุนอยู่อีกมากมายหลายร้อยแห่ง แต่โรงพยาบาลที่ขาดทุนมากคืออยู่ในขั้นวิกฤติและสุ่มเสี่ยงต่อภาวะการล้มละลาย(3) ก็คงมีอยู่มาก แต่ที่ได้มาชี้แจงต่อกมธ.สาธารณสุขสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน 7 แห่ง โดยมีบางแห่งที่

ผู้ป่วยได้รับยาเพียง 30% คือได้ยาไม่ครบ

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสปสช.คือนพ.วินัย สวัสดิวร และคณะ(4) ได้ออกมาโต้แย้งว่าการที่โรงพยาบาลขาดทุน ไม่เกี่ยวกับงบบัตรทอง

จึงขอถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณศุขนพ.ปิยธสกล สกลสัตยาทรว่า ท่านได้ทำการสอบสวนเรื่องที่รพ.ขาดทุนแล้วหรือไม่ว่า สาเหตุการขาดทุนนั้น เกี่ยวกับงบบัตรทองหรือไม่?/อย่างไร? และท่านจะแก้ไขอย่างไร ?

ซึ่งอันที่จริงแล้วสาเหตุสำคัญของการขาดทุนของโรงพยาบาลต่างๆ ล้วนมีสาเหตุมาจากการได้รับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการทำงาน น้อยกว่างบประมาณที่ได้จ่ายจริง ไม่ต้องไปถามนักบัญชีระดับด๊อกเตอร์ที่ไหนก็ได้ ชาวบ้านทั่วไปที่ต้องรับผิดชอบบัญชีค่าใช้จ่ายของตนก็ย่อมตอบได้เหมือนกัน

คำถามต่อไปก็คือ โรงพยาบาลมีรายได้จากไหนบ้าง? คำตอบก็คือ โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณจากรัฐบาลโดยตรงน้อยมาก แต่เงินเดือนของข้าราชการของโรงพยาบาลส่วนหนึ่งก็ต้องเอามาจากงบบัตรทอง โรงพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บเงินรักษาผู้ป่วยได้เอง ต้องขอรับงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยตามระบบการประกันสุขภาพ กล่าวคือระบบสวัสดิการข้าราชการ ขอรับงบประมาณจากกรมบัญชีกลาง ระบบประกันสังคม รับงบประมาณจากกองทุนประกันสังคม และระบบ 30 บาท รับงบประมาณจากสปสช. และผ็บริหารโรงพยาบาลต่างๆในหลายพื้นที่ก็มีตัวเลขทางบัญชียืยยันว่า โรงพยบาลที่ตนบริหารนั้น ล้วนได้เงินงบประมาณจากสปสช.ไม่ “เท่าทุน” ในการรักาผู้ป่วยทั้งสิ้น

ผู้เขียนจึงสรุปได้ว่า รพ.ที่รับเงินงบประมาณบัตรทอง ล้วนมีตัวเลขยืนยันว่า ได้รับเงินจากสปสช.ไม่พอ ในขณะที่ผู้บริหารสปสช.ยืนยันว่า “สปสช.ถูกใส่ร้าย”

เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้เขียนจึงมคำถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า ท่านไม่สนใจเลยหรือว่า ข้อมูลเดียวกัน แต่มีสองฝ่ายพูดไม่ตรงกัน ท่านไม่สนใจจะหาข้อมูลเลยหรือว่า เลขาธิการสปสช.หรือผู้บริหารรพ.กระทรวงสาธารณสุข ใครกล่าวความสัตย์จริงและใครโกหกตาใส?

แสดง่าสปสช.ไม่ยอมรับฟังข้อมูลจากผู้บริหารโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข แสดงถึงความไม่มี “ธรรมาภิบาล” ของผู้บริหารสปสช.อีกหลายข้อคือ “ไม่รับฟังความคิดเห็นจากผู้ร่วมงานและไม่รับผิดชอบต่อผลงาน” และไม่ยอมให้ “ตรวจสอบ”

 

หรือว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีท่านรัฐมนตรีเป็นประธานนั้นเอง ไม่ได้ทำหน้าที่ของคณะกรรมการตามมาตรา 18-22 ของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ?

ฉะนั้น ในการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ผู้เขียนจึงขอเสนอว่า ควรเพิ่ม บทบัญญัติของมาตรา 21 โดยกำหนดเวลาให้คณะกรรมการตรวจสอบ ต้องตรวจสอบผลงานของสปสช.ทุก ๖เดือน แล้วรายงานให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทราบุก 6 เดือน และเพิ่ม“หน้าที่”ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีก 1 ข้อ คือ เพิ่มวรรคสามของมาตรา 21 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องตรวจสอบรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อรับรองว่าการปฏิบัติงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกรอบ 6 เดือนนั้น ได้บริหารงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนที่เกี่ยวข้อง มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อผลของงาน และสามารถให้เลขาธิการสปสช.มาชี้แจง และถ้ามีความไม่สุจริตโปร่งใส หรือไม่ถูกต้องตามมกฎหมายและระเบียบแบบแผน ตามที่มีผู้กล่าวหา/ร้องเรียน หรือให้ข้อมูลกลับมา (Feed Back) จากผู้รับผลงาน(คือโรงพยาบาลหรือสถานบริการในระบบบัตรทอง) คณะกรรมการต้องดำเนินการสอบสวน ทางวินัย ทางแพ่งหรือทางอาญาโดยทันที

ทั้งนี้เพราะผลงานของสปสช.มีผลกระทบมากมายมหาศาลต่อโรงพยาบาลที่ให้การดูแลรักษาประชาชน 48 ล้านคน นับเป็นจำนวนที่มาสถานบริการมากถึง 200 ล้านครั้ง จึงสมควรที่จะต้องการผู้ที่มีความสุจริต โปรงใส และมีความรับผิดชอบ หรือยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงบประมาณมากมายมหาศาลที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน

และถ้าเกิดความไม่ถูกต้อง ก็สมควรจะได้ยุติปัญหานั้นอย่างรวดเร็วทันการณ์ ไม่ถูกปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายติดต่อกันยาวนานเป็น 10 ปี เพราะกฎหมายไม่มีบทบัญญัติเรื่องที่คณะกรรมการต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบและแก้ไขสถานการณ์อย่างทันที

---------------------------

โดย พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

กรรมการแพทยสภา

ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ