New Year Resolution

New Year Resolution

Year Resolution ที่ต่างกัน บางท่านอาจตั้งเป้าทางการเงิน ขณะที่หลายๆ ท่านอาจตั้งเป้าด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ

สวัสดีครับ เผลอหน่อยเดียว เข้าสู่เดือนแรกของปี 2560 มากว่าครึ่งแล้วครับ หวังว่าทุกท่านคงต้อนรับปีใหม่ด้วยความสุขในช่วงวันหยุดยาวอย่างเต็มเปี่ยม และกลับมาทำงานอย่างเต็มที่พร้อมกับ New Year Resolution ใหม่ๆ ที่วางไว้ 

เราต่างก็มี New Year Resolution ที่ต่างกันครับ บางท่านอาจจะตั้งเป้าหมายทางการเงิน ในขณะที่หลายๆ ท่านอาจตั้งเป้าหมายด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ แต่ก็อาจมีบางท่านอาจจะยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนครับ

“Every year, I take on a personal challenge to learn new things and grow outside my work.  My personal challenge for 2017 is to have visited and met people in every state in the US by the end of the year.” นี่คือวลีของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของ Facebook สื่อ Social Media อันดับหนึ่งของโลกที่โพสต์ ใน Facebook ของเขารับปีใหม่ 2560 ว่า เขาตั้งปณิธานในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุกปี และเติบโตในโลกที่กว้างใหญ่กว่าการทำงานของเขา ซึ่ง New Year Resolution ในปี 2560 ของมาร์ค คือการเดินทางไปพบปะผู้คนในแต่ละรัฐของสหรัฐให้ครบทุกรัฐ  เพื่อเรียนรู้ว่าเพื่อนร่วมชาติใช้ชีวิตอย่างไร มองอนาคตอย่างไร และหากย้อนกลับไปต้นปี 2559 มาร์คโพสต์ว่า เขาตั้งเป้าอ่านหนังสืออย่างน้อยสองเล่มต่อเดือน โดยเน้นเรื่องวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเทคโนโลยี 

จะเห็นได้ว่า เป้าหมายชีวิตแต่ละปี หรือ New Year Resolution ของมาร์คต่างกันออกไป และมีหลายแง่มุม ซึ่งล้วนน่าสนใจ

ผมยก New Year Resolution ของมาร์คมาเป็นตัวอย่างวันนี้ เพื่อบอกว่า เป็นสิ่งที่ดีหากเราจะตั้งเป้าในแต่ละปี หรือ New Year Resolution ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน สุขภาพ การเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด เช่น จะออมเงินให้มากขึ้น ออกกำลังกายทุกสัปดาห์เพื่อความฟิตแอนด์เฟิร์ม วางแผนการท่องเที่ยว ตั้งเป้ากลับเข้าชั้นเรียนอีกครั้ง  หรืออ่านหนังสือให้มากขึ้น เช่นเดียวกับมาร์คก็ได้

ในฐานะแบงก์เกอร์ ผมจึงอยากยกตัวอย่าง New Year Resolution ที่ทุกท่านทำได้ในส่วนการจัดการการเงินส่วนบุคคล ซึ่งขอแนะนำแนวคิดการเพิ่มเงินออมที่เรียกว่า Incremental Saving นั่นคือการตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล หรือค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน ขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มเงินออม แนวความคิดนี้ทำได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต หรือเพิ่มความลำบากในการดำเนินชีวิต 

Incremental Saving เกิดขึ้นเพียงดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งครั้งเดียว สามารถลดรายจ่ายที่เกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง อาทิ ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศเป็นค่ามาตรฐาน เพื่อลดค่าไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 

ตัวอย่างการดำเนินการ ส่วนที่จะช่วยบริหารการเงินส่วนบุคคล ที่ลุกขึ้นมาทำ ก็ได้รับประโยชน์การลดค่าใช้จ่าย อาทิ การรีไฟแนนซ์เงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย หรือการขอเปลี่ยนโปรแกรมผ่อนชำระเงินกู้ให้มีดอกเบี้ยต่ำลง การโอนยอดค้างชำระบัตรเครดิตไปยังสถาบันการเงินที่เสนอดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ซึ่งช่วยลดดอกเบี้ยแล้ว ยังช่วยคืนเงินต้นได้เร็วขึ้น การเลือกโปรแกรมการผ่อนดอกเบี้ย0% และการเลือกใช้บัตรเครดิตที่มีการเครดิตเงินคืน 

มาถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านอาจคิดว่าเป็นแผน Marketing เพื่อเพิ่มยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตของผม ซึ่งไม่ได้ช่วยลดรายจ่าย แต่เป็นการเพิ่มรายจ่ายเสียอีก ซึ่งจริงๆ ต้องเรียนว่าหลายๆ สถาบันการเงินมีโปรแกรมการให้เครดิตเงินคืน สำหรับการจ่ายค่าสาธารณูปโภคและค่าบริการที่ทุกท่านต้องจ่ายเป็นประจำอยู่แล้ว แม้รายจ่ายของท่านจะเท่าเดิมทุกเดือน เราสามารถใช้เครดิตเงินคืนที่ได้เป็นการดำเนินการเพื่อลดรายจ่ายของเรานั่นเอง 

New Year Resolution เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ชีวิตก้าวเดินอย่างมีความหวัง มีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย และควรเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้จริงและทำได้ (Feasible and Achievable) เราสามารถกำหนด New Year Resolution ในทุกพื้นที่ของชีวิต ท่านผู้อ่านที่ยังไม่ได้วาง New Year Resolution ลองเริ่มดูซิครับ  

ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จใน New Year Resolution ตามที่วางไว้ครับ