หมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์

หมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์

ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้เคยเขียนถึงการเคลื่อนไหว เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์

ความรู้รวมถึงการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ในโลกตะวันตกโดยกลุ่ม Post-autistic Economics movement, Econ 4, Post-Crash Economics Society, Cambridge Society for Economic Pluralism ซึ่งสาเหตุหลักของการเรียกร้องคือ การเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันผูกแน่นกับการใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์และ การครอบงำของเศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิค ส่งผลให้เศรษฐศาสตร์แยกขาดกับสภาพความเป็นจริง จึงไม่สามารถทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆที่เผชิญอยู่ได้

การเรียกร้องดังกล่าวส่งผลให้เกิดการรวมตัวกันของนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ในระดับนานาชาติที่เรียกว่า The International Student Initiative for Pluralism in Economics อันประกอบด้วย 65 สมาคม จาก 30 ประเทศ การผลักดันนี้ส่งผลเป็นรูปธรรมให้เกิดการสร้างแนวทางใหม่ในการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ที่รู้จักในชื่อ The CORE Project หรือ Curriculum Open-access Resources in Economics ซึ่งมี The Institute for New Economic Thinking เป็นผู้ริเริ่มให้มีการเรียนการสอนแก่นักศึกษาแบบออนไลน์ โดยมีคำขวัญว่า การสอนเศรษฐศาสตร์ต้องส่องสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

โครงการดังกล่าวมีจุดหมายเพื่อนำเอาโลกของความเป็นจริงกลับเข้ามาสู่การศึกษาเศรษฐศาสตร์ โดยนำงานวิจัยและเหตุการณ์เชิงประจักษ์เป็นจุดเริ่มต้น รวมถึงทำให้การศึกษาเศรษฐศาสตร์มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งทางทฤษฎีและวิธีการศึกษา โดยพิจารณาว่า เศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ไม่ได้หยุดนิ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การจัดการเรียนการสอนดังกล่าวยังได้ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ผ่านบริบททางประวัติศาสตร์และสถาบันที่แตกต่างกัน

โครงการดังกล่าวยังมองว่า มนุษย์ ไม่ได้มีแต่มิติมนุษย์เศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว ระบบเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องอยู่ในภาวะดุลยภาพเหมือนในตำรา (โดยเฉพาะในตลาดแรงงานและสินเชื่อ) ราคา ปริมาณ และเทคโนโลยี ล้วนเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อีกทั้งค่าเช่าทางเศรษฐกิจยังมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ และความแตกต่างทางสถาบันของประเทศต่าง ๆทำให้เศรษฐกิจมหภาคแต่ละที่แตกต่างกัน

การศึกษาเชิงเศรษฐศาสตร์จึงควร พิจารณาหลากหลายมิติควบคู่กันไป ทั้ง การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ การศึกษาเศรษฐศาสตร์ต้องไม่ผูกขาดโดยสำนักคิดใดสำนึกหนึ่ง และเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอิงอาศัยศาสตร์และวิธีวิทยาที่หลากหลายควบคู่กันไป ทั้งนี้ การศึกษาเศรษฐศาสตร์ควรเป็นชุมชนของการเรียนรู้ของเหล่านักเรียนและอาจารย์โดยมีการตั้งคำถามและข้อสงสัยเป็นแรงผลักดัน

คอร์สและ ebook ที่เปิดให้มีการศึกษาโดย The CORE Project ในปัจจุบัน เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ มีจำนวน 20 หน่วย ไล่เรียงไปตั้งแต่

1) การปฏิวัติของระบบทุนนิยมหรือผลกระทบที่ระบบทุนนิยมทำให้เกิดขึ้น

2) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ประชากร และการเติบโตทางเศรษฐกิจ

3) ความขาดแคลน การทำงาน และทางเลือก

4) ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

5) ทรัพย์สินและอำนาจ : ผลได้ร่วมกันและความขัดแย้ง

6) บริษัท : เจ้าของ ผู้จัดการ และคนงาน 7) บริษัทและผู้บริโภค

8) อุปทานและอุปสงค์ : ผู้รับราคาและตลาดแข่งขัน

9) การเสียดุลยภาพของตลาด : การแสวงหาค่าเช่าและการกำหนดราคา

10) ตลาด สัญญา และข่าวสารข้อมูล

11) สินเชื่อ ธนาคาร และเงินตรา

12) ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการว่างงาน

13) การว่างงานและนโยบายการคลัง

14) เงินเฟ้อและนโยบายการเงิน

15) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การว่างงาน และมาตรฐานการครองชีพในระยะยาว

16) รัฐชาติในเศรษฐกิจโลก

17) เศรษฐกิจตกต่ำ ยุคทองของระบบทุนนิยม และวิกฤตการเงินโลก

18) เศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

19) ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และ

20) นวัตกรรม ข่าวสารข้อมูล และเศรษฐกิจเครือข่าย

ในแต่ละหน่วยจะประกอบไปด้วยการอธิบายประเด็นและเนื้อหาหลักพร้อมๆ ไปกับการยกตัวอย่างเชิงรูปธรรมของประเด็นนั้นๆ ทั้งยังมีการอธิบายด้วยกราฟและภาพประกอบซึ่งผู้ศึกษาสามารถเรียนรู้ได้แบบมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบ มีการให้คำอธิบายเพิ่มเติมทั้งความหมายของคำและการคำนวณทางคณิตศาสตร์ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์ถกเถียงและอภิปรายแบบออนไลน์กับผู้เรียนคนอื่น ๆได้ในแต่ละหัวข้อ

การเรียนการสอนดังกล่าวเริ่มต้นทดลองในปี 2014 ในระดับปริญญาตรีของ 2 มหาวิทยาลัย คือ University College London (UCL) และ the University of Massachusetts (Boston) ในปัจจุบันการทดลองรูปแบบการเรียนการสอนดังกล่าวขยายตัวไปในอีกหลายมหาวิทยาลัยทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย เช่น University of Sydney, University of Bristol, Central European University (Budapest) , Azim Premji University (Bangalore), University of Chile, Columbia University(New York), Sciences Po (Paris) เป็นต้น

นอกจากการทดลองการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว การศึกษาเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมได้โดยผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ตและสามารถศึกษาโดยใช้ ebook ผ่านระบบการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบแบบออนไลน์เช่นเดียวกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

จึงนับได้ว่า COREECON เป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันที่น่าจับตามอง ผู้ที่สนใจหมุดหมายแห่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.core-econ.org/

------------------

กุลลินี มุทธากลิน

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย