พฤติกรรมชวนสงสัยในตลาดหุ้น

พฤติกรรมชวนสงสัยในตลาดหุ้น

พฤติกรรมชวนสงสัยในตลาดหุ้น

การเป็นนักลงทุนแบบ “Focus” ที่เลือกหุ้นลงทุนเพียงไม่กี่ตัวและ “ถือยาว” นั้น เราจะต้องวิเคราะห์กิจการรวมถึงราคาของหุ้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน หนึ่งในนั้นก็คือการดูผู้บริหารและเจ้าของว่ามีการบริหารงานอย่างไร ในเรื่องของฝีมือหรือความสามารถในการทำงานนั้น โดยปกติเราก็จะดูได้จากผลประกอบการย้อนหลังหลาย ๆ ปีและผลงานการค้าขายสินค้าแข่งกับคู่แข่งในตลาดได้ แต่ในด้านของคุณสมบัติทางด้านความประพฤติซึ่งรวมถึงความซื่อสัตย์สุจริตนั้น สิ่งที่เราจะต้องดูก็คือดูพฤติกรรมหรือการกระทำเป็นครั้งๆ ที่เขาทำในฐานะผู้บริหารที่บางเรื่องก็ต้องประกาศผ่านตลาดหลักทรัพย์

ทุกครั้งที่มีข่าวของบริษัทจากปากของผู้บริหารนั้น ผมก็มักจะอ่านหรือรับฟังและก็คิดว่ามันมีความหมายอย่างไรต่อบริษัทหรือต่อหุ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่บางครั้งผมก็รู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นดู “แปลก” หรือ “ไม่มีเหตุผลทางธุรกิจ” ในสายตาของผม แต่แน่นอนว่าต้องเป็นประโยชน์แก่เจ้าของหรือผู้บริหารมิฉะนั้นเขาก็คงไม่ทำ นี่ก็เป็นเรื่องของ “พฤติกรรมชวนสงสัย” ของนักลงทุนแบบ VI ที่มักจะ “ขี้สงสัย” ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ

พฤติกรรมชวนสงสัยที่พบเจอบ่อยๆ โดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นบูมมากๆ กลุ่มแรกก็คือการประกาศเกี่ยวกับเรื่องของเงินทุนหรือหุ้นซึ่งบางทีก็เรียกว่า “Financial Engineering” ถ้ามันดูซับซ้อนและมีการใช้เครื่องมือทางการเงินที่เป็น Derivative เช่นพวก วอแรนต์ ที่ออกมาแจกให้ผู้ถือหุ้นหรือแถมให้กับคนที่เข้ามาซื้อหุ้นใหม่เป็นต้น

ลำพังการออกหุ้นหรือวอแรนต์นั้น อาจจะไม่ได้มีอะไรน่าสงสัยถ้ามันมีเหตุผลทางธุรกิจเพียงพอ แต่การแจกในปริมาณที่มากและออกมาบ่อยมากในราคาที่ถูกมากและเม็ดเงินที่คาดว่าจะได้กับธุรกิจที่จะทำก็มีความไม่แน่นอนสูงมาก ในกรณีแบบนี้ ผมก็มักจะสงสัยว่าบริษัทอาจจะกำลัง “พิมพ์เงินกงเต็ก” ออกมาขายให้กับคนที่ไม่เข้าใจมูลค่าของมันแต่ต้องการมาซื้อขายเก็งกำไรซึ่งในที่สุดก็มักจะขาดทุนอย่างหนักในขณะที่เจ้าของและผู้ถือหุ้นเดิมก่อนที่จะมีการประกาศนั้นได้กำไรจากการทำแบบนี้อย่างง่ายๆ

พฤติกรรมชวนสงสัยกลุ่มที่สองก็คือเรื่องของการดำเนินงานภายในบริษัท เรื่องที่ผมสงสัยและเห็นอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในยามที่ภาวะของอุตสาหกรรมหรือบริษัทเริ่ม “โตยากขึ้น” ก็คือการซื้อทรัพย์สินหรือซื้อหุ้นหรือกิจการอื่นที่เรียกว่าทำ M&A ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องปกติในทางธุรกิจถ้าบริษัทมีเงินสดเหลือมากพอและสามารถซื้อกิจการที่ตนเองมีความสามารถในการดำเนินการได้ดีกว่าเจ้าของเดิมรวมถึงสามารถซื้อได้ในราคาที่ยุติธรรม

ประเด็นที่น่าสงสัยในการซื้อทรัพย์สินหรือหุ้นของกิจการอื่นนั้นเรื่องแรกก็คือ บริษัทเองอาจจะ “ไม่มีเงิน” หรือมีเงินสดน้อยแต่กลับมีหนี้สูงและอาจจะต้องเพิ่มทุนมาซื้อ และ/หรือ บริษัทไม่ได้มีความรู้หรือเคยทำธุรกิจนั้นมาก่อน และ/หรือ บริษัทไม่ได้ซื้อในราคาที่ยุติธรรมแต่เป็นราคาที่ “แพงมาก” หรือในบางกรณีก็อาจจะเป็นการซื้อในธุรกิจเดิมของบริษัทแต่เป็นการซื้อในต่างประเทศที่บริษัทไม่เคยทำธุรกิจหรือไม่คุ้นเคยแต่กลับกล้าซื้อบริษัทด้วยเม็ดเงินมหาศาลหรือมีนัยสำคัญทั้ง ๆ ที่กิจการนั้นไม่ได้มีประวัติของความสำเร็จทางธุรกิจที่ยาวพอหรือบางทีบริษัทนั้นมีปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้ด้วยซ้ำ

เป็นไปได้ว่าผู้บริหารอาจจะไม่เข้าใจและตัดสินใจผิดในการซื้อทรัพย์สินหรือหุ้นของกิจการอื่น แต่ในบางกรณีผมเองก็สงสัยว่าแรงจูงใจของผู้บริหารและเจ้าของอาจจะมาจากการที่เขาจะได้ประโยชน์โดยที่บริษัทเองอาจจะเสียประโยชน์ก็เป็นได้ ข้อแรกก็คือ ถ้าเจ้าของ “เล่นหุ้น” เขาก็อาจจะใช้การซื้อกิจการโดยเฉพาะกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังร้อนแรงมาช่วยดันราคาหุ้นของบริษัท ซึ่งก็จะทำให้เขาได้กำไรจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นมหาศาลโดยเฉพาะในระยะเวลาอันสั้น ข้อสองที่อาจจะเป็นไปได้ก็คือ การซื้อทรัพย์สิน หุ้น และกิจการ โดยเฉพาะจากเอกชนที่ไม่ต้องรายงานหรือถูกตรวจสอบจากหน่วยงานอื่นนั้น คนขายอาจจะสามารถ “ทอนเงิน” ให้กับคนซื้อเป็น “ส่วนตัว” ได้

ประเด็นน่าสงสัยในพฤติกรรมของผู้บริหารเรื่องสุดท้ายก็คือการที่ผู้บริหารมีความ “กระตือรือร้นกับราคาหุ้น” ของบริษัทในตลาดมากเป็นพิเศษ เช่น ชอบแถลง “ข่าวดี” ไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหนของบริษัทอย่างถี่ยิบผ่านสื่อเกี่ยวกับการลงทุน คาดการณ์ Market Cap. ในอนาคตของบริษัทที่สูงลิ่ว เน้นเป็นนัยว่าราคาหุ้นยังต่ำกว่าพื้นฐาน ดึงนักลงทุนรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงเข้ามาร่วมถือหุ้น บางคนก็ซื้อขายหุ้นของบริษัทเองบ่อย ๆ ครั้งแต่ในจำนวนครั้งละไม่มากคล้าย ๆ กับการ “ส่งสัญญาณ” ให้กับตลาด

แน่นอนว่าการแถลงผลงานและกิจกรรมของบริษัทสำหรับผู้บริหารนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิดแม้ว่าจะทำค่อนข้างถี่ยิบ ว่าที่จริงอาจจะเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ แต่คนที่ทำมากเกินไปและไปเน้นถึงราคาหุ้นมากรวมถึงการที่ตนเองเองเข้ามา “เล่นหุ้น” ทั้งเปิดเผยและอาจจะลับนั้น ก็ทำให้ผมสงสัยว่าเขากำลังพยายามดันราคาหุ้นและล่อให้เราเข้าไปรับซื้อในราคาแพงหรือเปล่า?

ว่าที่จริงยังมีพฤติกรรม “ชวนสงสัย” ของผู้บริหารอีกมากมายหลายอย่างซึ่งรวมถึงผู้บริหารที่ “ปิดตัวเงียบ” และบริหารแบบเหมือนบริษัท “ส่วนตัว” และโดยที่เขาแทบไม่สนใจราคาหุ้นเลย แต่นี่ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับว่าเขามีพฤติกรรมที่ดูเหมือนจะ “เอาเปรียบนักลงทุน” อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ไม่ยอมจ่ายปันผลในอัตราที่ยุติธรรมทั้งๆ ที่บริษัทมีกำไรที่ดี เหตุผลที่ว่าจะเก็บเงินไว้เพื่อขยายงานหรือเผื่อสำหรับความปลอดภัยในอนาคตนั้นส่วนใหญ่แล้วก็มักจะ “ฟังไม่ขึ้น”

ทั้งหมดนั้นก็เป็นกรณี “น่าสงสัย” ของผู้บริหารที่เราจะต้องวิเคราะห์และติดตามใกล้ชิด เขาอาจจะไม่ได้ทำหรือเป็นอย่างที่เราคิด บางทีเราอาจจะคิดหรือวิเคราะห์ผิดเองก็เป็นได้ ประสบการณ์จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเราควรจะเกี่ยวข้องกับบริษัทหรือหุ้นดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน