“Water Window Challenge” เฟ้นหาไอเดียรับมือ “น้ำท่วม”

“Water Window Challenge” เฟ้นหาไอเดียรับมือ “น้ำท่วม”

จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในภาคใต้ เชื่อว่าเราทุกคนคงต่างร่วมส่งแรงใจให้แก่พี่น้องชาวใต้ที่กำลังประสบภัยกันอยู่ในเวลานี้

แม้ว่าระดับน้ำจะลดลงแล้ว แต่สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น เราคงต้องร่วมกันฟื้นฟูอีกพักใหญ่ทีเดียวค่ะ

ปัญหาน้ำท่วมหรือ “อุทกภัย” ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วโลกนั้นส่งผลกระทบต่อมวลมนุษย์มากกว่าภัยพิบัติใดๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม โดยโลกเรามีผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยเฉลี่ยถึง 250 ล้านคนในแต่ละปี หรือมากถึง 2.3 พันล้านคนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (โดย 95% อยู่ในเอเชียบ้านเรานี่เองค่ะ) ซ้ำร้ายปัญหาน้ำท่วมยังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากสภาวะโลกร้อน การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และการกระจุกตัวของเมืองต่างๆ

วันนี้ดิฉันจึงจะขอเล่าถึงโครงการดีๆ ในต่างประเทศ ที่เขากำลังเฟ้นหาสุดยอดไอเดียรับมือน้ำท่วมแบบยั่งยืน นั่นคือโครงการ Water Window Challenge” ที่เกิดจากความร่วมมือของZurich Insurance Group กลุ่มประกันชั้นนำของโลก และ Global Resilience Partnership(GRP) กองทุนรับมือภัยพิบัติที่ก่อตั้งโดยสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (USAID) และมูลนิธิ Rockefeller เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมในภูมิภาคที่ประสบภัยบ่อย ได้แก่ แอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เช่น เคนยา บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม และอินโดนีเซีย

จากสถิติที่ GRP รวบรวมไว้พบว่า เมื่อเกิดภัยน้ำท่วม 87% ของเงินช่วยเหลือจะถูกใช้ไปเพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉิน และฟื้นฟูภัยพิบัติต่างๆ หลังเหตุการณ์ แต่มีเพียง 13% ที่ใช้ไปเพื่อลดความเสี่ยงก่อนที่น้ำท่วมจะกลายเป็น “ภัยพิบัติ”

การแข่งขัน Water Window Challenge จึงเปิดโอกาสให้ผู้สมัครจากหลากหลายสาขาทั่วโลก ร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่นของตนเอง คิดไอเดียและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับน้ำในท้องถิ่นนั้นๆ ที่ทำได้จริงและเกิดผลในวงกว้าง โดยไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เป็นการรับมือที่ยั่งยืนและส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาด้านคน การเงิน ธรรมชาติ สังคม โดยอาจอยู่ในรูปของเทคโนโลยี นวัตกรรมทางการเงิน ระบบการชี้วัดและเครื่องมือในการวิเคราะห์ การศึกษา และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เป็นต้น

ในปลายปีที่ผ่านมาได้มีการประกาศผลทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายใน Water Window Challenge  แล้วเป็นจำนวน 16 ทีม จากผู้สมัครกว่า 250 ทีมจากทั่วโลก โดยขณะนี้ทั้ง 16 ทีมกำลังอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปรับแผนโครงการ และจะประกาศผู้ชนะเลิศภายในต้นปีนี้ โดยทีมผู้ชนะเลิศ ซึ่งจะมีประมาณ 6-10 ทีม จะได้รับเงินทุนตั้งต้นในวงเงินตั้งแต่ 250,000 ถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8-35 ล้านบาท) ขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ เพื่อนำเงินไปทำให้ไอเดียเหล่านั้นเป็นความจริง โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด และต้องรายงานผลกลับมาภายในเวลา 1 ปีครึ่ง หรือกลางปี 2561

ตัวอย่างทีมที่เข้ารอบ เช่น โครงการ “บ้านสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก” ในเวียดนาม โดยUniversity of Waterloo ในแคนาดา ซึ่งนำเสนอการปรับปรุงต่อเติมบ้านเพื่อให้ลอยน้ำได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และยังนำไปประยุกต์ใช้กับบ้านหลังเดิมได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาให้แก่ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้ชาวบ้านสามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ทำกินได้แม้ในระหว่างน้ำท่วม โดยจะมีการทำเวิร์คช้อปร่วมกันระหว่างกลุ่มชุมชน และผู้ประกอบการในท้องถิ่น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการต่อเติมบ้าน

อีกทีมที่ผ่านเข้ารอบคือ โครงการ “ถนนกู้ภัย” ในบังคลาเทศ โดยกลุ่ม MetaMeta ซึ่งเชื่อมโยงแนวคิดการบริหารจัดการน้ำ กับโครงการก่อสร้างและปรับปรุงถนนในประเทศ เพื่อให้ถนนมี “บทบาท” ในการป้องกันน้ำท่วมมากขึ้น ด้วยการจัดทำฐานข้อมูลของถนนที่มักประสบภัยน้ำท่วม เพื่อประเมินการจัดการน้ำของถนนสายต่างๆ รวมถึงการวิเคราะห์ในเชิงลึกโดยถนนเหล่านั้นจะได้รับการออกแบบและปรับปรุงใหม่ เพื่อติดตั้งระบบการจัดการน้ำที่ดีขึ้น และเกิดประโยชน์สูงสุด

“ความท้าทายของปัญหาน้ำท่วมคือเราสูญเสียเงินมหาศาลไปกับการฟื้นฟู แต่เมื่อพูดถึงแนวทางการป้องกันกลับมีไม่มากนัก ทั้งๆ ที่ปัญหาน้ำท่วมนั้นมีผู้เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยคนเพียงกลุ่มเดียว” ลินดา เฟรนเนอร์ ผู้จัดการโครงการ Zurich Flood Resilience Program จาก Zurich Insurance Group กล่าว

นับเป็นอีกโครงการดีๆ เพื่อรับมือกับภัยพิบัติอย่างบูรณาการ ที่อาจจุดประกายให้อีกหลายประเทศ รวมถึงไทยเราด้วยเช่นกันค่ะ