“ThaiMTB” สูตรปั้นเว็บให้รอดในยุค Social media

“ThaiMTB” สูตรปั้นเว็บให้รอดในยุค Social media

ในยุคสมัยที่Social networkมาแรง เว็บไซต์หลายๆ แห่งพบกับปัญหาจำนวนคนเข้าชมลดลงจนทำให้รายได้จากการโฆษณาลดลงและบางเว็บถึงกับเป็นเว็บร้างก็มี

ดังนั้นหลายๆที่ จึงต้องใช้กลยุทธ์ในการหาจุดเด่นของตัวเองมาเป็นจุดขาย

หนึ่งในเว็บไซต์ที่สามารถปรับตัวและอยู่รอดได้อย่างน่าสนใจคือ ThaiMTBซึ่งเป็นชุมชนจักรยานบนโลกออนไลน์ ที่ชาวจักรยานได้มาพูดคุยกัน ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน รวมไปถึงชวนกันไปปั่นจักรยานตามทริปต่างๆ

คุณโนบิตะ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ ThaiMTB เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของ ThaiMTB ว่า ในสมัยแรกๆ นั้น การพูดคุยเรื่องจักรยานบนโลกออนไลน์ในส่วนใหญ่จะอยู่ที่ห้อง Blue Planet ในเว็บไซต์ Pantip.com  ซึ่งในสมัยนั้น Pantip ก็จะมีห้องซื้อขายอุปกรณ์จักรยาน แต่ห้ามเอาการซื้อขายมาอยู่ในห้อง Blue Planet เลยจำต้องแยกห้องออกมาซึ่งไม่มีใครเข้าไปดู การซื้อขายจักรยานจึงลำบากมาก

ThaiMTB  จึงเริ่มต้นจากการรวมห้องสนทนาและการซื้อขายมาไว้ด้วยกัน เพื่อให้เป็นชุมชนของจักรยานที่ผู้ใช้งานจะได้รับข้อมูลที่ดีที่สุด นอกจากนั้นยังมีการให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับจักรยาน ไม่ว่าจะเป็นรายงานการปั่น ชวนปั่น ประชาสัมพันธ์สินค้าใหม่ การแนะนำสินค้า รีวิวสินค้า จนทำให้จากสังคมกลุ่มเล็กๆ ได้ขยายเป็นวงกว้างขึ้น จนเคยมียอดการเข้าชมสูงถึง 50,000 คนต่อวัน ส่งผลให้มีหลายบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับจักรยานสนใจมาซื้อโฆษณาภายในเว็บไซต์ จน ThaiMTB ติดอันดับ 1 ใน 4 เว็บไซต์กีฬายอดนิยม ซึ่งเว็บไซต์ที่เหลือเป็นเว็บไซต์ฟุตบอลทั้งหมด

จากฟังก์ชั่นและจำนวนผู้ใช้งานในเว็บไซต์จำนวนมากนี้ ทำให้เว็บไซต์มีกระทู้ซื้อขายเกิดขึ้นทุกๆ 1-2 นาที และผู้ตั้งกระทู้สามารถปิดการขายได้รวดเร็วมากด้วยเช่นกัน

กลยุทธ์ของ ThaiMTB ที่ทำให้เกิดความยั่งยืนนั้น คุณโนบิตะ มองว่า ความเข้าใจในความต้องการของทั้งผู้ประกอบการและนักจักรยานอย่างลึกซึ้งนั้นเป็นส่วนสำคัญ ดังนั้น ThaiMTB จึงไม่เพียงแต่ขายแบนเนอร์โฆษณาและเปิดพื้นที่ให้นักจักรยานมาพูดคุยกันเท่านั้น แต่ ThaiMTB ยังเอาใจผู้ประกอบการหรือสปอนเซอร์ด้วยการให้พื้นที่ประชาสัมพันธ์สินค้าของบริษัทเพิ่มเติมนอกเหนือจากการได้แบนเนอร์ ซึ่งนี่เองถือเป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้บริษัทต่างๆ สามารถมาใช้ในการนำเสนอ แนะนำ และตอบคำถามลูกค้าในทุกเรื่องผลิตภัณฑ์ ซึ่งแม้กระทู้จะถูกโพสต์หรือนำเสนอไปนานเท่าใด แต่ลูกค้ายังสามารถเข้ามารับข่าวสารได้ตลอดเวลาด้วยการกดเข้าบอร์ดของบริษัทนั้นๆ ซึ่งนับเป็นจุดได้เปรียบกว่าการโพสต์เนื้อหาลงบนเว็บไซต์บริษัทเอง ด้านทราฟฟิค การเข้าถึงข้อมูลสินค้าที่มากกว่า และได้เปรียบกว่าการโพสต์เนื้อหาลงบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค ด้านการทับถมของข้อมูลใหม่ หรือ “New Feed” ที่มีปัญหาในการค้นหาข้อมูลย้อนหลังเพราะไม่มีการจัดหมวดหมู่ของข้อมูล และจากข้อได้เปรียบเหล่านี้เอง ทำให้ ThaiMTB มีโมเดลธุรกิจที่คล้ายคลึงแต่แตกต่างจากเว็บบอร์ดชื่อดังอื่นๆ

นอกจากนั้นการปั้นให้เว็บไซต์อยู่รอด คุณโนบิตะยึดหลักว่า เว็บไซต์ต้องมีในสิ่งที่โซเชียลเน็ตเวิร์คไม่มี โดยคุณโนบิตะพบว่า สำหรับกิจกรรมของนักปั่นนั้นแต่ละปีมีมากกว่า 800 งาน หรือมากกว่า 10 ทริปต่อสัปดาห์ ดังนั้น ThaiMTB จึงนำจุดนี้มาสร้างเป็นจุดต่าง โดย ThaiMTB ลงทุนสร้างระบบการลงทะเบียนร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานครบวงจร ช่วยลดความยุ่งยากในการสมัครเข้าร่วมงานปั่นจักรยามต่างๆ ให้หมดไป ซึ่งระบบการลงทะเบียนนี้ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มผู้จัดงานและกลุ่มนักปั่นจักรยาน ซึ่งระบบการลงทะเบียนนี้ช่วยให้นักปั่นมั่นใจได้ว่าข้อมูลการลงทะเบียนของตนเองไปถึงยังผู้จัดเป็นที่เรียบร้อยและยังสามารถแก้ไขข้อมูลการสมัครได้ทันทีที่ต้องการด้วย แตกต่างจากการที่ต้องมาโพสต์ต่อท้ายกระทู้ทีละกระทู้เช่นในอดีต ที่นักปั่นพบปัญหาคือการตกหล่นของข้อมูล การแก้ไขข้อมูลที่ยากลำบาก และระบบการชำระเงินที่แตกต่างกันไปในแต่ละกิจกรรม

นอกจากนั้น ThaiMTB ยังมีการเน้นการสร้าง Content โดยการหากูรูมารีวิวทางด้านเทคนิคต่างๆ รวมถึงอัพเดทข่าวสารในวงการจักรยานโดยพร้อมที่จะสร้าง Content ทั้ง บทความ ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว เพื่อเอาใจนักปั่นจักรยานยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง แถมยังเปลี่ยนคู่แข่งคนสำคัญอย่างโซเชียลเน็ตเวิร์คให้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ Content ของเว็บไซต์อีกด้วย

กรณีศึกษาของ ThaiMTB สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างโอกาสในการอยู่รอดโดยการความแตกต่างของเว็บไซต์ แม้ใครๆ จะพูดถึงกลยุทธ์การสร้างความแตกต่างอยู่บ่อยๆ แต่จะทำให้ต่างจริงๆ ได้นั้น หลักการคิดไม่ยาก ขอให้เริ่มจากการเข้าใจลูกค้าสร้าง Gain ในเรื่องความสะดวก ลด Pain ในเรื่องความไม่มั่นใจ  ยังไงก็โดนใจลูกค้าอย่างแน่นอน

(เครดิต : การสัมภาษณ์คุณโนบิตะ และกรณีศึกษาโดย ภัทร คำจุมพล นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล CMMU)