หน้าที่ของพ่อแม่

หน้าที่ของพ่อแม่

เป็นไปได้ไหมว่าสิ่งที่เคย ‘ดีพอ’ สำหรับเรา อาจไม่ ‘พอดี’ สำหรับเขา

สัปดาห์ที่แล้ว ไลน์ผมแทบระเบิดจากเพื่อนๆ ผู้เป็นคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย กระหน่ำแชร์โพสต์ของ คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ 

ขออนุญาตคุณหมอนำเนื้อหานั้นมาเล่าต่อยอดในนี้นะครับ ใครชอบก็กดไลค์ติดตามแชร์ดีๆของท่านในเฟซบุ๊คได้เลย

"เพิ่งออกจากการประชุมพัฒนาระบบการศึกษา พร้อมข้อสรุปส่วนตัวว่า เราไม่มีทางไปไหนแน่นอน เราเสียหายหมดทั้งระดับปฏิบัติการ ระดับนโยบาย และระดับการประกันคุณภาพ แล้วยังไม่รู้ตัว พ่อแม่ที่ใส่ใจ เราปฏิรูปการเรียนรู้ของลูกเราได้เองที่บ้าน ทำความเข้าใจการศึกษาสมัยใหม่ให้มาก อ่าน 21st Century Skills และ Executive Function (EF) ให้เข้าใจ แล้วลงมือทำเอง" 

หากผมรวมส่วนที่เป็นคอมเมนท์ของบรรดาคุณพ่อคุณแม่ด้วย กรุงเทพธุรกิจทั้งฉบับนี้คงมีเนื้อที่ไม่พอ

คุณผู้อ่านที่ให้เกียรติติดตามเฟซบุ๊คของผม คงพอทราบว่า บ้านเรามักจะพาลูกๆ ออกท่องเที่ยวโลกอยู่เสมอ สิ่งที่ไม่เคยเล่าคือ เพชรกับผม มักจะส่งเด็กๆ ไปโรงเรียนอื่นด้วย 

สมัยอยู่สาธิตพัฒนา พินถูกส่งไปซัมเมอร์ที่ KPIS อินเตอร์ตั้งแต่ ป. 1 แถมขอแทรกเข้าไปในปีการศึกษาปกติ พูดภาษาอังกฤษยังไม่ได้สักคำแต่นั่งเรียนท่ามกลางเพื่อนต่างเชื้อชาติ

พอถึงเจ้าธีร์พ้นอนุบาลก็ส่งไปบ้าง ภาษาอังกฤษคำแรกที่ฮีพูดได้คือ “Go home” และพูดอยู่คำเดียวทั้งวัน

ปีนี้ก็เช่นกัน ผมและเพชรส่งเด็กๆ ไปเรียนซัมเมอร์ที่ NIST International School (NIST)

วันก่อน เพชรส่งคลิปอ่านเรียงความที่น้องพินเขียนส่งครูที่ RIS มาให้ฟัง

“Oh no, it’s going to be a terrible summer. I can’t believe it! I needed to attend NIST and not RIS!?!? How could it get more awful than this? It would not be entertaining. It was going to be the most unpleasant time in my life.” 

ผมไม่ได้ตัดอะไรออกเลยนะครับ เก็บไว้ทั้งเครื่องหมายตกใจ เครื่องหมายคำถาม และขีดเส้นใต้ ครบถ้วนเหมือนต้นฉบับทุกอย่าง

สรุปใจความง่ายๆว่า “หนูไม่อยากไป”

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

1. Executive Function คุณหมอประเสริฐเขียนสมมติฐานว่า “บัณฑิตเราจบมาแต่ไม่รู้จะทำอะไร สมองส่วนที่ควบคุม EF ไม่ได้รับการพัฒนามากพอ ผ่านการศึกษาแบบท่องจำสอบหรือตอบให้ตรงคำเฉลยมานาน”

ในหนังสือ ปรับสมอง เปลี่ยนชีวิต พิชิตเป้าหมาย ผมเขียนไว้ถึง The Marshmallow Experiment ของ Dr. Walter Mitchel ซึ่งพบว่าเด็กกลุ่มที่มี EF ดี ประสบความสำเร็จมากกว่า ในทุกๆด้านที่พึงวัดผล เช่น คะแนนเรียน สถาบันการศึกษา หน้าที่การงาน รายได้ ความสุขในชีวิตคู่ ความมั่นคงของครอบครัว ฯลฯ งั้นคุณพ่อคุณแม่จงหาวิธีพัฒนา EF ของลูก

2. Stop answers; Start questions ทักษะสำคัญสำหรับผู้นำในอนาคตคือการตั้งคำถามเพื่อค้นคว้าหาคำตอบ 

จากประสบการณ์ส่วนตัวผมเห็นด้วยกับคุณหมออย่างมากว่าคนไทยไม่ชอบคำถาม เมื่อเริ่มทำอาชีพเทรนนิ่งใหม่ๆ คำแนะนำที่ได้รับจากรุ่นพี่คือ “คนไทยชอบให้บอกคำตอบ”  หากอยากสอนให้ถูกใจต้องบอกเลยว่าให้คนเรียนออกไปทำอะไร อย่าทิ้งไว้เป็นคำถาม 

ข่าวดีคือทัศนคติแบบนี้กำลัง(ค่อยๆ)เปลี่ยนไป ล่าสุดผมมีส่วนร่วมจัดทำหลักสูตร Multipliers ให้กับองค์กรหนึ่ง เน้นการสร้างผู้นำผู้ตั้งคำถามโดยเฉพาะ เย้!

3. ไม่ต้องชอบแต่ต้องทำนะจ๊ะ ประโยคเด็ดประจำบ้านผมคือ “ไม่ต้องชอบแต่ต้องทำ” 

อ้าว แล้วเด็กไม่เครียดหรือ  เครียดครับ แต่ความเครียดใช่ว่าจะไม่ดีเสมอไป สิ่งที่เป็นพิษกับสมองคือความเครียดที่ “เรื้อรัง” เช่นการเรียนวิชาที่น่าเบื่อ ในระบบที่จำเจ กับครูที่ถอดใจ ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ

ส่วน “ไม่ต้องชอบแต่ต้องทำ” หมายถึงการฝึกเอาชนะใจตนเอง หากอยากให้ EF ของลูกแข็งแรง จงฝึกให้เขามีความอดทนอดกลั้น ใครพูดอะไรไม่เข้าหูฝึกฟังเฉยๆ โดยไม่ตอบโต้ อยากได้โทรศัพท์ใหม่ลองฝึกไม่วิ่งออกไปซื้อทันทีเมื่อเปิดจอง ถ้าจะต้องเผชิญกับประสบการณ์ใหม่ให้ลองกลั้นใจทำดูเผื่อได้บทเรียนดีๆ

เรียงความของน้องพินยาวประมาณหนึ่งหน้ากระดาษ พร่ำพรรณนาถึงสิ่งที่ได้พบเจอระหว่างซัมเมอร์ที่ NIST

หากสิ่งที่ทำให้ผู้เป็นพ่อสะดุดคือย่อหน้าสุดท้าย

“I love going to NIST summer school now! I want to go there again next summer… I learned that I shouldn’t judge an experience before I try it. It was such a wonderful experience at NIST!” 

หนูชอบโรงเรียนซัมเมอร์ที่ NIST มาก และอยากกลับไปอีกในปีหน้า หนูเรียนรู้ว่าเราไม่ควรด่วนตัดสินประสบการณ์ใหม่ๆ ก่อนจะได้ลองทำมัน