Multiasks กับอุปสรรคในการพัฒนาสู่คนไทย 4.0

Multiasks กับอุปสรรคในการพัฒนาสู่คนไทย 4.0

เป็นที่ทราบกันดีว่าทักษะที่จำเป็นและสำคัญสำหรับอนาคตเป็นเรื่องของการคิด ทั้งใน

การคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical thinking) การคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity & Innovative) รวมทั้งการคิดในเชิงองค์รวม (Holistic thinking) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เรากำลังสร้างคนไทยให้เป็นคนไทย 4.0 แต่ปัญหาเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ประการหนึ่งที่เรามักจะมองข้ามและเป็นปัญหาที่จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคนไทยให้เป็น คนไทย 4.0 คือพฤติกรรมที่เราเป็นกันมากขึ้นทุกขณะ เนื่องมาจากพัฒนาการของเทคโนโลยี

พฤติกรรมดังกล่าวคือการ Multitasking หรือการที่เราทำหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน หรือ สลับกันไปมา เช่น เช็คไลน์ในห้องประชุม หรือ เขียนบทความไปพร้อมๆ กับเล่น facebook และเช็คอีเมล หรือ คุยกับครอบครัวไปพร้อมๆ กับอัพรูปใน IG เป็นต้น เราอาจจะมีความเข้าใจผิดว่าการ Multitask นั้นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม เป็นการแสดงถึงความสามารถและความมีประสิทธิภาพในการทำงาน แต่จากผลการทดลองและผลการวิจัยต่างๆ ในเรื่องนี้แล้วพบว่าการ Multitask กลับก่อให้เกิดผลเสียต่อสมอง พฤติกรรม และ กระบวนการคิดของเรา

เริ่มจากสมองของเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกัน ดังนั้นที่เราคิดว่ากำลัง Multitasks อยู่นั้น จริงๆ แล้วสมองของเราถูกเปลี่ยนจากงานชนิดหนึ่งสู่งานอีกชนิดหนึ่งอย่างรวดเร็ว สรุปคือสมองของคนเราไม่ได้ถูกออกแบบให้ทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกัน เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนหรือสลับไปมาระหว่างงานต่างๆ อย่างรวดเร็วเท่านั้นเอง

ความน่ากลัวคือการที่เรา Multitask บ่อยๆ กลับกลายเป็นการฝึกสมองและฝึกพฤติกรรมของเราให้คุ้นชินและชอบในการคิดหรือทำงานกับสิ่งที่สั้นๆ และเล็กๆ ซึ่งจะทำให้เราขาดความสามารถในการคิดเชิงลึก ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เมื่ออ่านและตอบอีเมลฉบับหนึ่งเสร็จ หรือ ตอบ / ส่งต่อข้อความในไลน์จากเพื่อนๆ หรือ โพสต์ข้อความ/รูปลงในสื่อสังคมออนไลน์ เราจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่าทำงานเสร็จไปหนึ่งอย่าง และความรู้สึกที่ทำงานเสร็จก็จะทำให้สมองหลั่ง Dopamine ที่เป็นสารสร้างความสุข 

ดังนั้นอย่าแปลกใจเมื่อเราอ่านอีเมลเสร็จเราก็จะรู้สึกดี เมื่อตอบไลน์ หรือ โพสต์ข้อความก็จะรู้สึกดี ทั้งนี้เนื่องจากสมองเราหลั่งเจ้าสารแห่งความสุขนั้นเอง ดังนั้นเมื่อเข้าสู่วงจรนี้เรื่อยๆ เราก็จะเปลี่ยนไปทำงานหรือให้ความสนใจต่องานที่เล็กๆ และสั้นๆ ตลอดเวลาเพราะจะรู้สึกมีความสุขขึ้น แล้วก็สลับไปมาระหว่างงานที่ต้องทำจริงๆ กับการอ่านอีเมล ตอบไลน์ หรือ เข้าไปอ่าน Facebook

มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการ Multitasks นั้นเปรียบเสมือนกับการทำงานที่ถูกรบกวนตลอดเวลา เมื่อถูกรบกวนบ่อยๆ ก็จะสร้างให้เรามีสมาธิในการทำงานหรือสิ่งต่างๆ ที่สั้นลง และท้ายสุดถึงขั้นที่ไม่มีสิ่งภายนอกมารบกวน ก็ต้องหาเรื่องรบกวนตนเอง (self-interrupt) เช่น เมื่อปิด notification ต่างๆ ไปหมดแล้ว (เพื่อไม่ให้ถูกรบกวน) แต่เมื่อทำงานไปได้เพียงแค่ไม่กี่นาที ก็อดไม่ได้ที่จะเข้าเช็คอีเมล หรือ อ่าน FB

ดังนั้นอย่าแปลกใจนะครับที่เรามักได้ยินว่าในปัจจุบันสมาธิของเราสั้นลง หรือ เวลาคิดนั้นคิดได้เพียงผิวๆ ไม่สามารถคิดลึกหรือคิดรอบได้ ทำให้สิ่งที่คิดหรืองานที่ออกมาไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร แถมยังมีวิจัยที่ชี้ให้เห็นอีกว่าระหว่างที่เรา Multitask นั้น IQ ของเราจะลดต่ำลง และลดต่ำลงพอๆ กับการที่เราอดนอนเลยทีเดียว มีงานวิจัยอีกชิ้นที่พบว่าแม้กระทั่งการรู้สึกได้กำลังจะมีโอกาสในการ Multitask เช่น รู้ว่ามีอีเมลเข้ามา หรือ รู้ว่ามีข้อความใหม่เข้ามาในไลน์ ก็สามารถทำให้ไอคิวของเราลดลงได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้นในยุคที่เราบอกว่า การคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การคิดสร้างสรรค์ การคิดอย่างเป็นระบบ ฯลฯ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่ขณะเดียวกันพฤติกรรมของเรากลับ Multitask มากขึ้น แล้วเมื่อใดเราถึงจะได้กลายร่างเป็นคนไทย 4.0?