ุุ6 เมกะเทรนด์โลก ปี2030

ุุ6 เมกะเทรนด์โลก ปี2030

ผู้นำที่มีประสิทธิภาพในการบริหารองค์กรย่อมขึ้นอยู่กับแนวโน้มและทิศทางต่างๆของสภาพแวดล้อม

บรรยากาศปีใหม่ยังอบอวลอยู่ เราคงต้องพูดคุยกันเรื่องแนวโน้มต่างๆของโลกที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองกัน เพราะการจะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพในการบริหารองค์กรย่อมขึ้นอยู่กับแนวโน้มและทิศทางต่างๆของสภาพแวดล้อม ไม่เช่นนั้นก็อาจเกิดอาการภาวะผู้นำเพี้ยนหรือเฟอะไม่เข้ากับคนและระบบงานได้

ในเรื่องของการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหลายจนกลายเป็น “ข่าวกรอง” ที่น่าเชื่อถือคงต้องยอมรับว่าสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence  Authority หรือเรียกย่อๆว่า NIA) ของสหรัฐอเมริกานั้นเป็นหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อถือมาก ในการบริหารประเทศและนานาประเทศในโลกที่สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ด้วย รัฐบาลสหรัฐฯต้องใช้ “ข่าวกรอง” มากมาย และ NIA นี่แหละที่เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากที่สุดแหล่งหนึ่ง

ดังนั้นเมื่อ NIA ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มต่างๆในโลกที่จะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2030 ทั่วโลกก็ต้องฟังกันหูผึ่งละค่ะ และเพื่อให้แฟนคอลัมน์ของดิฉันในนสพ.กรุงเทพธุรกิจหูไวตาไวไม่แพ้ใคร สัปดาห์นี้เราจะร่วมกันศึกษาว่าทิศทางความเป็นไปของสังคมโลกในอีก 13 ปีข้างหน้า (เลขสวยเสียด้วย) จะเป็นอย่างไร

เพื่อมิให้การนำเสนอข้อมูลของดิฉันเป็นการนำเสนอข้อมูลด้านเดียวที่อาจมีอคติของ NIA ดิฉันก็ได้ไปค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มต่างๆที่นำเสนอโดยองค์กรและผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ เช่น จากแผนกประชากรศาสตร์ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Population Division) จากสหภาพยุโรป (European Union Institute for Security Studies) จากเคพีเอ็มจี (KPMG) หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากบริษัทที่ปรึกษาเฮย์กรุ๊ป (Hag Group) เป็นต้น พอได้ข้อมูลมาทั้งหมดก็ทำการสังเคราะห์ออกมาเป็น “ข่าวกรอง” ให้ท่านผู้อ่านได้ดังต่อไปนี้ค่ะ

1. แนวโน้มการกระจายขั้วอำนาจของโลก จากประเทศฝั่งตะวันตก เช่น สหรัฐฯ ยุโรปมาสู่ประเทศในซีกโลกตะวันออก เช่น จีน อินเดีย และแม้แต่ภูมิภาคอาเซียนของเรา หมดสมัยแล้วที่จะมีเพียงประเทศหรือสองสามประเทศที่จะเป็น “อภิมหาอำนาจ” (Superpower) ที่เป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจที่ประเทศต่างๆทั่วโลกต้องเกรงใจในบารมี ประเทศเล็กๆ หากรวมตัวกันแข็งแกร่งก็จะสามารถสร้างอำนาจต่อรองและกลายเป็นศูนย์อำนาจแห่งหนึ่งได้เช่นกัน ฟังอย่างนี้แล้วประเทศในอาเซียนคงมีกำลังใจมากขึ้นนะคะ

2.ปัจเจกบุคคลมีอำนาจมากขึ้น (Individual Empowerment) จากการที่นานาประเทศมีนโยบายในการขจัดความยากจนของประชากรได้ผลดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรตัวเล็กๆแต่ละคนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น สุขภาพดี มีการศึกษา สามารถใช้เครื่องมือสื่อสารและเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้มากขึ้น ซึ่งการสื่อสารและเทคโนโลยีนี่เองที่ทำให้ประชาชนคนเดินดินธรรมดาๆที่เคยถูกมองข้ามกลายเป็นลูกค้า เป็นประชากรที่มีพลังอำนาจมากขึ้น รัฐบาลและพ่อค้าต้องฟังเสียงพวกเขาแต่ละคนมากขึ้น ถึงแม้จะไม่มีปืนในมือ แค่มีมือถือก็อาจรวมตัวกันปฏิวัติประเทศยังได้...ไม่เชื่ออย่าเผลอ

3. การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรศาสตร์ ข้อนี้คงต้องอธิบายกันมาก เห็นๆกันอยู่ว่าสังคมโลกกำลังกลายเป็นสังคมสูงวัยแผ่ขยายไปทั่วโลก สร้างผลกระทบที่เริ่มจากช้าๆไม่ทันรู้สึก มารู้ตัวก็สูงวัยชราภาพกันไปหมดแล้ว ทำให้ความเป็นอยู่ในสังคม เศรษฐกิจการค้า การเมืองได้รับผลกระทบไปหมด ซึ่งการที่เห็นๆอยู่ไม่ได้หมายความหาทางออกได้แล้วนะคะ อีกไม่นานจะเห็นโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนต่างๆปิดกิจการ ตอนนี้อาจารย์ก็เริ่มตกงาน ต่อไปใครที่ขายสินค้าให้เด็กและวัยรุ่นก็ต้องเริ่มหาทางสร้างนวัตกรรมสินค้าให้ลูกค้าสว.กันได้แล้วและน่าหนักใจถ้าบรรดาทหารตำรวจ และรปภ.ที่ต้องทำหน้าที่ป้องกันชีวิตทรัพย์สินและประเทศจะมีแต่ทหารตำรวจและรปภ.วัยสว. ...จะไหวไหมเนี่ย?

4. วิกฤตทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ก็เห็นมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากนานาชาติอย่างจริงจัง ในอีก 13 ปีข้างหน้า โลกเราจะปั่นป่วนมากกว่านี้ ฤดูกาลพลิกผัน น้ำท่วม พายุแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นบ่อยกว่านี้แรงกว่านี้ จะสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของมวลมนุษยชาติมากกว่านี้แบบประเมินไม่ถูก

5. เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทำให้สังคมโลกกลายเป็นสังคมดิจิตัลแบบจัดเต็ม ความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ ไฟฟ้าและอื่นๆที่มีคุณอนันต์ในแง่ของการพัฒนาคุณภาพชีวิตและอุตสาหกรรมการผลิต การบริการ การคมนาคม การแพทย์ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทุกสาขามีผลทำให้ระบบโครงสร้างการผลิต การทำงาน การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เกิดสังคมเมือง (Urbanization) มากมาย อาณาเขตพื้นที่ซึ่งเคยเป็นชานเมือง (Suburb) ก็จะกลายเป็น “เมือง” ที่มีความเจริญ เกิดเมืองเล็กเมืองน้อยยุ่บยั่บไปหมด

จะว่าไปก็เป็นเรื่องดี ถือเป็นการกระจายความเจริญ ไม่ต้องมากระจุกตัวในเมืองหลวงเมืองใหญ่เท่านั้น เป็นการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจการค้า อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้สูงที่ประชาชนผู้ประกอบการและผู้บริหารองค์กรและสถาบันทั่วโลกจะไม่พร้อมที่จะรับมือกับความก้าวหน้านี้ คนหลายร้อยล้านอาจจะมีมือถือ เล่นไลน์แต่ยังไม่เข้าใจวิธีการใช้เทคโนโลยีทำงาน ยังไม่พร้อมบริหาร “พนักงานเสมือน” (Virtual employees) ที่ตัวไม่อยู่ออฟฟิศและยังทำงานรับจ๊อบหลายแห่งให้หลายองค์กร เป็นแรงงานที่เรียกว่า “Gig Economy Worker” ที่ไม่ทำงานประจำ แต่ทำสัญญาทำงานเป็นระยะเวลา คิดดูก็แล้วกันว่ากลยุทธ์การบริหารงานบริหารคนจะต้องปรับกันขนาดไหนในเรื่องการสร้างแรงจูงใจ ความผูกพันและการสร้างทีมระหว่างพวก Gig Economy Workers? นี่แค่ตัวอย่างแบบเบาะๆนะคะ ของจริงจัดเต็มจะมาในไม่ช้า

6.แนวโน้มความขัดแย้งและสงครามโลก ถ้าเทคโนโลยีอยู่ในมือคนที่ไม่มีจริยธรรม อะไรจะเกิดขึ้น? ทุกวันนี้คนบ้าอำนาจ พวกก่อการร้ายเพราะคิดต่างเชื่อต่างก็ทำให้โลกเราอันตรายมากอยู่แล้ว ในอีก 13 ปีข้างหน้า ความที่ประชาชนธรรมดามีพลังอำนาจมากขึ้นโดยที่ศีลธรรมไม่ได้เจริญตามทัน แนวโน้มความขัดแย้งที่จะนำไปสู่สงครามจะเกิดขึ้นได้ง่าย ได้เร็วและในวงกว้างมากเกินคาด

นี่คือแนวโน้มใหญ่ 6 ประการที่จะมีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของโลก มีทั้งโอกาสและสิ่งท้าทายมากมายรออยู่ข้างหน้า คราวหน้ามาคุยกันต่อค่ะว่าภาวะผู้นำที่จะสอดคล้องกับโลกยุคปี 2030 จะเป็นอย่างไร