“เฮทสปีช” ออนไลน์ กับวิธีกำกับดูแล (1)

“เฮทสปีช” ออนไลน์ กับวิธีกำกับดูแล (1)

ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงความคิดของฝ่ายนิติบัญญัติเยอรมัน ที่จะเสนอกฎหมายจัดการกับ

“ข่าวปลอม” บนเฟซบุ๊กและบริษัทโซเชียลมีเดียอื่นๆ โดยบริษัทจะต้องจ่ายค่าปรับซึ่งอาจสูงถึง 500,000 ยูโร (ประมาณ 18.8 ล้านบาท) ถ้าหากไม่ลบข่าวชิ้นนั้นภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากที่ได้รับแจ้ง และหลังจากนั้นก็จะต้องโพสข่าวฉบับแก้ไขให้ถูกต้องลงในพื้นที่เดียวกัน ให้คนเห็นได้อย่างชัดเจน

แน่นอนว่าร่างกฎหมายฉบับนี้คงเป็นที่ถกเถียงในสภาและที่สาธารณะอย่างเข้มข้น แต่อย่างน้อย “ข่าวปลอม” ก็สามารถเขียนนิยามให้ชัดเจนได้ (เช่น “เนื้อหาที่เขียนให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นข้อเท็จจริงและมาจากสำนักข่าวจริง อันส่งผลให้บุคคลสาธารณะเสียชื่อเสียง”) และผู้ที่มีหน้าที่ทำตามกฎหมายก็คือบริษัทโซเชียลมีเดียซึ่งมีทรัพยากรมากพอที่จะรับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบ ไม่เหมือนกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2559 ของไทย วึ่งผลักภาระรับผิดซึ่งมีโทษอาญาให้กับผู้ใช้ ในข้อหานำเข้าข้อมูล “ปลอม/เท็จ/บิดเบือน” ซึ่งคลุมเครือจนนำไปตีความได้อย่างกว้างขวางเพื่อ “ปิดปาก” การแสดงออก โดยเฉพาะผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐหรือนโยบายของรัฐ

เหตุใดชาวเยอรมันหลายคนจึงสนับสนุนให้ออกกฎหมายจัดการกับ ข่าวปลอม” ? ส.ส. บางคนอธิบายว่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่ “ข่าวปลอม” หลายชิ้นมีเนื้อหาที่เจตนาหมิ่นประมาทหรือสร้างความเกลียดชัง ขัดต่อกฎหมาย “เฮทสปีช” ของเยอรมนีอย่างชัดเจน แต่เฟซบุ๊กหลายครั้งไม่จัดการกับเนื้อหาเหล่านี้อย่างทันท่วงที เฮทสปีชหรือ “Volksverhetzung” ในสารบบกฎหมายอาญาของเยอรมีนั้น หมายถึงคำพูดที่ยั่วยุให้เกลียดชังคนอื่นโดยพื้นฐานของชาติพันธุ์ ศาสนา หรือสีผิว หรือ “โจมตีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของพวกเขาด้วยการประณามหยามเหยียด เพียงเพราะว่าสังกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

กฎหมายนี้สืบเนื่องมาจากการที่เยอรมนีมีอดีตดำมืดของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งความโหดร้ายทารุณและเมินเฉยของคนจำนวนมาก ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการยั่วยุอย่างต่อเนื่องให้เกิดความเกลียดชังนั่นเอง

ประเด็นที่ว่า เฮทสปีชควรถูกนิยามอย่างไร และเฮทสปีชในโลกออนไลน์ควรจัดการอย่างไร เป็นประเด็นที่เรียกได้ว่า “ร้อนฉ่า” ในทุกประเทศที่โซเชียลมีเดียขาดไม่ได้สำหรับคนจำนวนมาก ในแง่กฎหมาย ประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศทั่วโลกนอกจากเยอรมนีมีกฎหมายห้ามเฮทสปีช อาทิ แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย และอินเดีย

เฟซบุ๊กเองกำหนด “มาตรฐานชุมชน” เรื่องนี้ (https://www.facebook.com/communitystandards#hate-speech) ไว้ว่า เฟซบุ๊กจะลบ “เฮทสปีช” ซึ่งหมายถึง “เนื้อหาที่โจมตีคนอื่นบนพื้นฐานของสีผิว ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ เพศกำเนิด ความพิการหรือโรครุนแรง” รวมถึง “ไม่ยินยอมให้กลุ่มใดก็ตามที่ส่งเสริมความเกลียดชังต่อกลุ่มคนเหล่านี้ได้ใช้พื้นที่บนเฟซบุ๊ก”

อย่างไรก็ดี เฟซบุ๊กอาศัยการกด “รีพอร์ต” (report) จากผู้ใช้ และบ่อยครั้งถึงแม้จะมีการระดมกดกันมากมาย เฟซบุ๊กก็ไม่นำเนื้อหานั้นลงเนื่องจากมองต่างจากผู้รายงานว่า เนื้อหาที่ถูกรายงานนั้นไม่เข้าข่าย “เฮทสปีช”

เฟซบุ๊กพยายามขยายความวิธีการกำกับดูแลของตัวเอง เช่น ในปี 2013 เฟซบุ๊กประกาศ (จากโพส https://www.facebook.com/notes/facebook-safety/controversial-harmful-and-hateful-speech-on-facebook/574430655911054/) ว่า

เราพยายามอย่างมากที่จะลบเฮทสปีชทันที อย่างไรก็ดี มีหลายกรณีที่เนื้อหานั้นเพียงแต่ทำให้คนรู้สึกว่าก้าวร้าวหรือน่ารังเกียจ (offensive content) เช่น อารมณ์ขันที่คนไม่ชอบ เนื้อหาทำนองนี้ไม่เข้าข่ายเฮทสปีชในนิยามของเรา

ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กไม่เคยเปิดเผยแนวปฏิบัติภายในของบริษัทในการลบเนื้อหา ยกเว้นบางครั้งที่เอกสาร “หลุด” มาถึงมือสื่อ ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนธันวาคม 2016 เอกสารที่หลุดมาถึง SZ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในเยอรมนี (ข่าว http://www.theverge.com/2016/12/20/14022472/facebook-hate-speech-moderation-germany-migrant-refugee) ทำให้เรารับรู้ว่า วิธีจัดการกับเนื้อหา “เฮทสปีช” ของเฟซบุ๊กนั้นตั้งอยู่บนการนิยาม “ประเภทคุ้มครอง” (protected category) ก่อน เช่น เด็ก ศาสนา ผู้ชรา ฯลฯ แต่เส้นแบ่งนี้ก็พร่าเลือนเมื่อมาถึงกลุ่มใหม่ๆ ซึ่งตกเป็นเป้าของเฮทสปีชเมื่อไม่นานมานี้ เช่น ผู้อพยพ (migrants)

รายงานข่าวของ SZ ระบุว่า ยกตัวอย่างเช่น โพสว่า มุสลิมเหี้ยๆ” (fucking muslims) ไม่ได้ เพราะการสังกัดศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นประเภทคุ้มครอง แต่ประโยค ผู้อพยพเหี้ยๆโพสได้ เพราะผู้อพยพเป็นเพียง ประเภทกึ่งคุ้มครอง” (quasi-protected category) – ประเภทพิเศษซึ่งเฟซบุ๊กกำหนดขึ้นมาใหม่หลังจากที่ถูกร้องเรียนในเยอรมนี กฎข้อนี้บอกว่า การส่งเสริมความเกลียดชังต่อผู้อพยพนั้นทำได้ภายใต้บริบทบางอย่าง ประโยคอย่าง ผู้อพยพสกปรกโสโครก” (migrants are dirty) ไม่ผิด แต่ ผู้อพยพเป็นขี้ตีน (migrants are dirt) ผิด

แน่นอนว่าการเรียกร้องให้ “จัดการ” กับเฮทสปีช ไม่ว่าจะด้วยกฎหมายหรือกติกาในสังคมออนไลน์ สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเซ็นเซอร์จนอาจบั่นทอนบรรยากาศการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อันเป็นรากฐานที่ขาดไม่ได้ของสังคมประชาธิปไตย และการหาจุด “สมดุล” ระหว่างการรักษาเสรีภาพการแสดงออกและบรรยากาศการถกเถียง กับการคุ้มครองคนบางกลุ่มที่เคยเป็นเหยื่อความรุนแรงมาแล้วมากมาย ก็เป็นเรื่องที่จะท้าทายบริษัทโซเชียลมีเดียทุกแห่งไปอีกนาน

ฝ่าย “เสรีภาพสุดโต่ง” หลายคนข้องใจว่า ทำไมเราถึงต้องครุ่นคิด นิยาม และหาวิธีจัดการกับ “เฮทสปีช” ด้วย? ทำไมไม่ปล่อยให้คนใช้เน็ตถกเถียงด่าทอ กำกับดูแลกันเอง (เช่น ใครที่ออกมายั่วยุให้ใช้ความรุนแรงก็จะโดนคนรุมประณามไปเอง)? ลำพัง “คำพูด” จะก่อความเสียหายได้อย่างไร?

คำตอบส่วนหนึ่งคือ เฮทสปีชเป็นเพียงคำพูดก็จริง แต่มันก็เป็นการคุกคามข่มขู่คนให้รู้สึกหวาดกลัวเพียงเพราะสังกัดกลุ่มบางกลุ่ม ส่งผลให้ไม่มั่นใจว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสถานะทางสังคมของพวกเขามั่นคงจริงไหม พวกเขามีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่นตามกฎหมายจริงหรือไม่

หลายคนยกตัวอย่าง Reddit เว็บกระดานสนทนาชื่อดัง ซึ่งกระทู้อย่างเช่น /r/nazi, /r/killawoman, /r/misogyny และ /r/killingwomen กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะและแพร่เฮทสปีช หลายคนบอกว่า Reddit ควรจัดการกับกระทู้เหล่านี้ไม่ใช่เพราะเนื้อหาของมันทำให้คนรู้สึกไม่สบายใจ (เพราะโลกออนไลน์เต็มไปด้วยสิ่งที่เรารังเกียจหรือรู้สึกไม่สบายใจ และปฏิกิริยาแบบนี้ก็ต่างจิตต่างใจ) แต่เป็นเพราะว่ามันบั่นทอนกลุ่มคนที่ถูกกดขี่มาแล้วมากมายในอดีต