เพลง กับ สะพาน

เพลง กับ สะพาน

เริ่มต้นปีใหม่ 2560 คนไทยได้ยินเสียงเพลงใหม่อีก 1 เพลง จากลุงตู่

คราวนี้ตั้งชื่อว่า “สะพาน” และระบุชัดว่าจะให้ เป็นเพลงประจำคณะรัฐมนตรี เพราะต้องการให้รัฐมนตรีตระหนักว่า ต้องทำงานหนัก ทำตัวเป็นสะพาน ให้ประชาชนก้าวเดินไปจนถึงเป้าหมาย ที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน 

ผมเลยนึกถึงเรื่อง “สะพานจริงๆ” ในโลกนี้ ซึ่งมีหลายแห่งที่น่าสนใจ แต่ถ้าถามคนทั่วโลกว่า อยากไปเยือนและถ่ายภาพกับสะพานแห่งใดมากที่สุด ผมคิดว่า “สะพานโกลเด้น เกท” (Golden Gate Bridge) ที่ซาน ฟรานซิสโก ซึ่งยาวถึง 2.7 กิโลเมตร เป็นสะพานแขวนที่สวยสง่า โดดเด่นด้วยสีแดงเจิดจ้า จะเป็นอันดับต้นๆ แน่นอน

โกลเด้น เกท เป็นสะพานที่สร้างขึ้นและเปิดใช้งานเมื่อปี 2480 เมื่อ 79 ปีมานี้ วันนี้ผมจึงอยากพูดถึงสะพานแขวนอีกสะพานหนึ่ง ซึ่งเก่าแก่กว่านั้น และคนทั่วโลกได้ยินชื่อบ่อยๆ เหมือนกัน แต่ไม่ยาวเท่าโกลเด้น เกท ไม่มีสีสันสดใสเท่า ไม่โดดเด่นสง่างามเท่า แต่ที่มีมากกว่าคือประวัติการก่อสร้างที่น่าสนใจ สะพานนี้มีชื่อว่า “Brooklyn Bridge” ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก เป็นสะพานข้าม East River มีความยาว 486 เมตร เป็นสะพานแขวน ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกา เปิดใช้งานเมื่อปี 2426 หรือ 134 ปีมาแล้ว

นาย John Roebling ซึ่งเคยมีผลงานสร้างสะพานแขวนขนาดเล็กมาหลายแห่ง ได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้น แต่ระหว่างการสำรวจบริเวณก่อสร้าง เขาประสบอุบัติเหุตถูกเรือเฟอรี่ อัดกระแทกจนต้องตัดนิ้วโป้งเท้าออก ต่อมาไม่นานกลายเป็นแผลบาดทะยักและเขาเสียชีวิตในที่สุด

ทำให้ Washington Roebling บุตรชายซึ่งเป็นวิศวกรหนุ่มวัย 32 ปี ต้องรับงานต่อ แต่การขุดเพื่อก่อสร้างหอคอยสะพาน ยากลำบากมาก คนงานหลายคน รวมทั้ง Washington ป่วยด้วยโรค “เมาความกดดันของอากาศ” จนเขากลายเป็นคนพิการ ต้องนั่งอยู่กับบ้าน

แต่เมื่อใจยังสู้ ย่อมมีทางออกเสมอ Emily Roebling ภรรยาซึ่งเป็นแม่บ้านธรรมดาๆ และไม่มีความรู้เชิงช่างเลย อาสาเข้ามาควบคุมงานก่อสร้างแทนสามี โดยนำปัญหาการก่อสร้างต่างๆ ไปขอความเห็นจากสามี ซึ่งเขาทำได้เพียงให้คำแนะนำจากที่บ้าน และช่วยสอนคณิตศาสตร์ให้เธอ จนเธอเชี่ยวชาญในการคำนวณงานได้รวดเร็ว

เมื่อสะพานเสร็จเรียบร้อยด้วยฝีมือของ Emily เธอจึงได้รับเกียรติให้เป็นบุคคลแรกที่ข้ามสะพานแห่งนี้ในพิธีเปิดอันยิ่งใหญ่ เมื่อ 134 ปีที่แล้ว

บทเรียนสอนใจที่ได้จากประวัติการก่อสร้าง สะพานบรู้คลิน คือ คนเราถ้ามุ่งมั่นที่จะทำอะไรให้สำเร็จ แม้จะมีอุปสรรคเพียงใด ย่อมทำได้

เพลงแรกที่นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอ คือ “คืนความสุขให้ประเทศไทย" เป็นการสื่อสารและสร้างความหวังให้ประชาชน ให้ทราบว่า ผู้นำเข้าใจถึงความรู้สึกประชาชน และใช้เพลงสื่อในการให้คำมั่น ซึ่งประชาชนอาจจดจำได้มากกว่าคำพูดเสียอีก เมื่อได้ฟังเพลงทุกวัน ประชาชนย่อมมี “ความคาดหวัง” และนายกรัฐมนตรีก็ย่อมมี “ข้อผูกพัน” ต้องทำให้ได้ตามที่เขียนไว้ในเนื้อเพลงนั้น

คราวนี้ นายกรัฐมนตรีนำเอา “สะพาน” มาเป็นเพลงเพื่อสื่อกับรัฐมนตรีทั้งคณะ ปลุกเร้าให้ทำงานอย่างไม่หวั่นไหว ให้ทำตนเป็นสะพาน เพื่อให้ประชาชนก้าวไปสู่เป้าหมายที่ดีกว่าวันนี้ เป็นเนื้อเพลงที่เห็นภาพได้ง่ายและสื่อความหมายได้ชัด

             ​“อย่าเพิ่งท้อแท้ เพราะฉันไม่เคยจะท้อถอย

              สองมือจะไม่ปล่อย ขอจงอย่าหวั่นใดใด

             ​ ฉันพร้อมจะเป็นสะพานเพื่อให้เธอข้ามไป

              ​ปลายทางที่ฝัน จะพาถึงฝั่ง ดั่งที่ตั้งใจ”

ก็ต้องถือว่า นายกรัฐมนตรีคนนี้ มีอารมณ์ศิลปินมากพอสมควร อารมณ์ขันก็มีไม่น้อย (เฉพาะในบางเวที) และอารมณ์เกรี้ยวกราดก็มีไม่น้อยเหมือนกัน (ในบางเวที)

แต่เพลงก็คือเพลง ไม่ต่างอะไรกับสโลแกน ที่ทุกรัฐบาลสรรค์สร้างขึ้นมาอย่างไพเราะเพราะพริ้ง ประชาชนฟังแล้วชื่นใจและมีความหวัง แต่หลังจากนั้น อาจไม่ได้เห็นผลใดๆ อย่างที่พร่ำพรรณนาไว้เลยก็ได้

ที่ผมเล่าเรื่องสะพานบรู้คลิน ใช่ว่านึกอยากจะเล่าก็เล่า แต่ผมตั้งใจจะให้เป็นอุทาหรณ์ว่า การสร้างสะพานที่มั่นคงและยั่งยืน และสร้างในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงและท้าทายนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย John Roebling รวมทั้งลูกชาย และ ลูกสะใภ้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ว่าต้องมุ่งมั่นและเสียสละมากเพียงใด

สภาพแวดล้อมของสังคมไทยวันนี้ น่าจะท้าทายและมีความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่า East River ในวันที่สร้างสะพานบรู้คลินเท่าใดนัก คณะรัฐมนตรีจึงต้องอดทน มุ่งมั่น และทุ่มเท เพื่อสร้างให้สำเร็จ และเป็นสะพานที่แข็งแกร่ง ให้ประชาชนก้าวข้าม ไปสู่สิ่งที่ดีกว่านี้ได้จริงๆ

ที่ผ่านมา ผมคิดว่ารัฐบาลหลายยุคหลายสมัย แม้ไม่ได้ใช้คำว่า “สะพาน” แต่คำมั่นของทุกรัฐบาล ก็ไม่ต่างกับคำว่าสะพาน นั่นแหละ คือสัญญาว่าจะพาประชาชนก้าวข้ามไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
เพียงแต่ทำไม่ค่อยสำเร็จ บางครั้งสะพานก็พังครืนไปต่อหน้าต่อตาประชาชน คราวนี้ขอให้ได้เห็นสะพานจริงๆ เสียทีเถอะ....เจ้าประคู้น