การเมืองชีวิต : ความ (ไม่) สุขภายใต้ความไม่แน่นอน

การเมืองชีวิต : ความ (ไม่) สุขภายใต้ความไม่แน่นอน

เราจะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเราได้บ้างหรือไม่ว่าในช่วงเวลาที่เราใช้คำว่า “เรามีความสุข”

หรือ ไม่มีความสุข” นั้น ความรู้สึกเป็นอย่างไรและเป็นเพราะอะไร เรานั่งดูรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ แล้วเราได้รับความสุขที่มอบคืนมาจากนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และอย่างไร

คำถามง่ายๆ นี้ ตอบยากมากนะครับ

ความสุขหรือไม่มีความสุขเป็นประสพการณ์อันมาจากการประกอบกันขึ้นของอัตวิสัยของแต่ละคน (subjective experience) กับความหมายร่วมกันของการดำรงชีวิตในแต่ละสังคม (collective livelihood) ดังนั้น เราจึงจะพบว่ามีความพยายามจะอธิบายความสุขหรือความไม่สุข (อย่าใช้ว่าความทุกข์นะครับ เพราะจะต้องอธิบายไปในอีกแนวทางหนึ่ง) ออกไปในสองมิติเสมอมาว่า เป็นเรื่องของแต่ละคน เช่น พอใจในสิ่งที่ตนเองมีก็มีความสุขแล้ว (ความพึงพอใจส่วนตัว) หรือ ถ้าไม่ทำอะไรผิดแผกไปจากสังคมส่วนใหญ่ก็เป็นสุข เป็นต้น

ไม่ว่าความสุขจะถูกอธิบายอย่างไร ก็กล่าวได้ว่ามนุษย์ทุกผู้ทุกนามในโลกใบนี้ล้วนแล้วแต่ปรารถนาความสุขกันทั้งสิ้น เราทั้งหมดต่างแสวงหาแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อค้นหาความสุขกันทั้งส้ิน นักปราชญ์ทางศาสนาทุกศาสนาก็ได้พยายามแสดงหลักคิดในศาสนาว่าเป็นหนทางที่แน่นอนเที่ยงแท้ในการเข้าพบความสุขที่แท้จริง

การเกิดรัฐสมัยใหม่ก็จะเน้นการปกครองที่ทำให้ประชาชนมีความสุข ขณะเดียวกัน ประชาชนก็จะคาดหวังให้รัฐจัดเงื่อนไขให้ตนเองในฐานะพลเมืองนั้นได้รับความสุข ซึ่งรัฐเองก็จะต้องแสดงบทบาท ทั้งทางด้านการควบคุมและการบริการ เพื่อจะจะลดความเสี่ยงต่างๆ ในชีวิตพลเมืองลงไป พร้อมกับทำให้เกิดความแน่นอนในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะทำให้เกิดมาตรฐานกลางของการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคม และเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ปัจเจกชนแต่ละคนสามารถแสวงหาความสุขได้อย่างไม่ขัดแย้งกัน

ระบบเศรษฐกิจแต่ละระบบในแต่ละช่วงเวลา ก็จะสร้าง “ความสุข” ให้แก่ผู้คนเพื่อเป็นรากฐานให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ต้องทำให้ทุกอย่างเป็นทุนและเป็นสินค้าเพื่อที่จะทำให้เกิดการสะสมทุนต่อเนื่องต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จึงจำเป็นต้องทำให้ผู้คนทั้งหลายมี “ความสุข” ในการบริโภค เพราะหากไม่มีความสุขในการบริโภคแล้วหยุดซื้อสินค้าต่างๆ ระบบทุนนิยมก็จะกระทบกระเทือนทันที

ระบบทุนนิยมจึงได้สร้าง แรงปรารถนากับ ความพึงพอใจประกอบร่วมไปกับเป็นความสุขในระบบการบริโภค จนตกผลึกมาสู่ความหมายที่สำคัญที่แฝงฝังเป็นความสุข อันได้แก่ “การมีและการเป็น” (having and being ) ซึ่งจะกระตุ้นให้เราแสวงหาความสุขด้วย “การมีและการเป็น” ตลอดเวลา เครื่องมือสร้างความสุขเช่นนี้ที่ชัดเจนได้แก่สื่อโซเชียลทั้งหลาย

การสถาปนาความหมายของการดำรงชีวิตด้วยการสร้างความสุขบนความรู้สึกของ การมีและการเป็น จึงเป็นความหมายร่วมกันของการดำรงชีวิตในแต่ละสังคมที่ทุกคนได้รับรู้และตระหนักได้อย่างแจ่มชัด

แต่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเช่นสังคมไทย ความสามารถใน “การมีและการเป็น” มีไม่เท่าเทียมกัน รัฐไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการสร้างกระบวนการกระจายโอกาสของ “การมีและการเป็น” ให้เท่าเทียมกัน ดังนั้น การแสวงหาความสุขจึงทำให้กระจัดกระจายไปตามโอกาสและฐานะของผู้คนในสังคม

ขณะเดียวกัน การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ได้ขยายพลังครอบคลุมคนมากขึค้นด้วยการทำให้เกิดสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น ด้วยการสั่นคลอนความมั่นคงในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะด้วยการทำให้เกิดระบบ “การจ้างงานชั่วคราว” หรือการทำให้คนทำงานไม่มีความแน่นอนพร้อมไปกับการจ้างงานระยะสั้น อันได้แก่ การควบคุมคนด้วยการสร้างหน่วยมาตรวัดต่างๆ (Metrics : Unit of measurement) ที่ละเอียดอย่างไร้เหตุผล ความไม่แน่นอนกลายเป็นแกนกลางของการดำรงชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน

ดังนั้น ความสุขจึงกลายเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ที่ “มีและเป็น” ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของสังคมที่ไม่สามารถจะ “มีและเป็น” ได้ ก็จะตกอยู่ในสภาวะของคนที่ไม่ (ค่อย) มีความสุข ไม่เชื่อลองสังเกตหน้าตาเพื่อยร่วมสังคมตามสถานที่ต่างๆดูนะครับ

ขณะเดียวกัน ทางด้านการเมืองหลังการรัฐประหารได้ทำให้ความแน่นอนทางการเมืองสลายลง และแทนที่ด้วยความไม่แน่นอนในการนโยบายรัฐ ยื่งทำให้ส่งผลกระทบต่อความสุขของพลเมืองด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นความพยายามที่จะชี้ให้ลองมองดูว่าแม้อารมณ์พื้นฐานของเราในฐานะมนุษย์ เช่น ความสุขหรือความไม่สุข ก็ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกชน หากแต่เป็นเรื่องของการเมืองโดยแท้

แม้ว่าในด้านหนึ่ง รายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ของนายกรัฐมนตรีจะเป็นการประกาศพันธกิจของรัฐในการทำงานการเมืองเรื่องความสุข แต่ต้องเข้าใจว่าหากไม่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันและไม่ทำให้เกิดความแน่นอนทางการเมือง การประกาศคืนความสุขก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นมากนอกจากเป็นการประชาสัมพันธ์ธรรมดาเท่านั้น เพราะความสุขมันคืนให้กันไม่ได้ครับ