5 วิธี ที่จะทำให้เงินงอกเงยอย่าง “ปลอดภัย”

5 วิธี ที่จะทำให้เงินงอกเงยอย่าง “ปลอดภัย”

ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมานี้ ผมได้อ่านบทความด้านการเงินจากสหรัฐอเมริกาไปหลายบทความ

และพบว่ามีหลายบทความที่พยายามสอนให้คนอเมริกันนำเงินของตนไปลงทุนอย่างปลอดภัย ผมชอบบทความเหล่านั้นมาก จึงได้นำมันมาเรียบเรียงใหม่โดยใช้ปัจจัยต่างๆที่มีอยู่ในเมืองไทย เพื่อให้เหมาะกับคุณผู้อ่านและคนไทย จึงขออนุญาตนำมาให้คุณผู้อ่านได้อ่านกัน ดังนี้ครับ

หนึ่ง ทำให้ เงินสด...ที่อยู่เฉยๆงอกงาม

เงินสดที่อยู่เฉยๆคงจะไม่สามารถงอกเงยให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นได้ แต่ถ้าคุณผู้อ่านนำเงินจำนวนดังกล่าวไปฝากประจำกับธนาคารตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ก็จะได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมา ในปัจจุบันน่าจะให้ผลตอบแทนซักประมาณ 1% - 2.5% ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่น้อยมาก

แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น...คุณผู้อ่านอาจจะศึกษากองทุนตราสารหนี้ ที่ลงทุนในตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชน ที่ให้ผลตอบแทนน่าจะอยู่ในช่วง 2% - 5% ซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากประจำที่ธนาคารมาก ดังนั้นถ้าอยากให้เงินงอกงามขึ้น ก็ต้องลงมือศึกษาด้วยตัวเอง

สอง แสวงหากองทุนที่คิดค่าจัดการ...ต่ำที่สุด

คุณผู้อ่านที่เคยลงทุนในกองทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากกองทุนที่สามารถเอาไปลดภาษีได้ เช่น LTF, RMF หรือกองทุนตราสารหนี้ที่กล่าวไปแล้วในข้อหนึ่งก็ตาม ถ้าคุณผู้อ่านอยากจะได้เงินงอกงามขึ้นอีก อาจจะต้องเข้าไปดูว่าค่าใช้จ่ายต่างๆที่กองทุนเหล่านั้นคิดมามีอะไรบ้าง เช่น ค่าแรกเข้า ค่าสวิทช์กองทุน ค่าขายออก ค่าจัดการกองทุน และอื่นๆ สิ่งที่ผมอยากให้คุณผู้อ่านศึกษามากที่สุดก็คือ ค่าจัดการกองทุน ซึ่งโดยเฉลี่ยจะคิดประมาณ 1% - 2% ต่อปี

ถ้าคุณผู้อ่านศึกษาในรายละเอียดจะพบว่า กองทุนที่มีชื่อเสียงหลายแห่งจะเก็บค่าจัดการกองทุนเกือบ 2% ขณะที่บางกองทุนที่มีชื่อเสียงน้อยกว่ากลับเก็บค่าจัดการกองทุนประมาณ 1% เท่านั้น เนื่องจากค่าจัดการกองทุนนี้ เป็นรายการที่เราต้องจ่ายทุกปี ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญมากที่สุด แล้วก็นำไปเปรียบเทียบกับผลประกอบการซัก 5ปี หรือ 10ปี ยิ่งนาน...ยิ่งดี จากนั้นก็ให้น้ำหนักในการเลือกกองทุนที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่ดีที่สุด และคิดค่าจัดการกองทุนต่ำที่สุด

สาม ศึกษาการประกันชีวิตที่นำมาลดภาษีได้

สำหรับคุณผู้อ่านที่ยังไม่มีการประกันชีวิตแบบ “ตลอดชีพ” ผมขอแนะนำให้รีบทำประกันด่วน เพราะมันเป็นวิธีที่จะเฉลี่ยภัยได้ดีที่สุด ในกรณีที่เราอาจจะต้องประสบกับโรคภัยไข้เจ็บ นอกจากนั้นแล้วเบี้ยการประกันชีวิตแบบตลอดชีพยังนำมาลดภาษีได้อีกด้วย

การประกันชีวิตแบบออมทรัพย์นั้น...ดูเหมือนจะดี แต่มันจะช่วยอะไรเราไม่ได้เลย หากสัญญานั้นครบอายุแล้ว และเราก็จะได้เงินก้อนโตที่เราสะสมมาเอง แต่หลังจากนั้นก็จะไม่มีหลักประกันใดๆในการคุ้มครองตัวเราอีกต่อไป

การประกันชีวิตแบบบำนาญยังเป็นอีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะนำมาลดภาษีได้เพิ่มเติมอีกด้วย การประกันประเภทนี้มักจะส่งบำนาญให้เราต่อไปเรื่อยๆหลังจากเรามีอายุ 60 ปีไปแล้ว ดังนั้นการศึกษาการประกันชีวิตจึงมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง หากคุณผู้อ่านยังคงต้องเสียภาษีอยู่ในปัจจุบัน

สี่ ปลดหนี้แล้ว ตั้งเป้า

เริ่มต้นจากจ่ายหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงๆ เช่น บัตรเครดิตอัตราดอกเบี้ย 20% เงินกู้ทั่วไปมากกว่า 10% แต่ถ้าหากอัตราดอกเบี้ยพอๆกัน ให้จ่ายหนี้ก้อนเล็กๆก่อน เพราะคุณผู้อ่านจะสามารถตัดกังวลออกไปได้ทีละเปลาะ ซึ่งจะทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้นที่จะ “ปลดหนี้” ก้อนต่อๆไป

หลังจากที่ปลดหนี้จนหมดทุกก้อนแล้ว เราก็เริ่มตั้งเป้าสะสมความมั่งคั่ง สำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านการลงทุนเลย ควรจะเริ่มศึกษาหาความรู้ได้แล้ว สำหรับผู้ที่มีความรู้บ้างและมีจิตใจที่ไม่ค่อยมั่นคงในการลงทุนที่มีความเสี่ยง การลงทุนในตราสารหนี้ การลงทุนในกองทุน และการลงทุนอีกหลายประเภท น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามากเมื่อเทียบกับการนำเงินไปฝากธนาคาร

ห้า สำคัญที่สุด...ต้องลงทุนตามจริตของตัวเอง

ผมเคยเจอนักลงทุนบางท่านที่ซื้อหุ้นไปแล้ว หลังจากนั้นราคาของหุ้นตัวนั้นๆก็เริ่มลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทำให้บรรดานักลงทุนเหล่านั้นนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย และดูเหมือนเป็นคนอมทุกข์อยู่ตลอดเวลา ลักษณะที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่า เขาลงทุนไม่ตรงกับจริตของตัวเอง

การลงทุนตามจริตของตัวเองในมุมมองของผมจะประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยคือ หนึ่ง สภาพจิตใจ (Mindset) สอง เงินที่มีอยู่ และสาม สติปัญญา (Wisdom) ยกตัวอย่างเช่น คนขี้กลัว เสียเงินซักหมื่นบาทก็เป็นทุกข์แล้ว แต่ถ้าคนขี้กลัวคนนั้นเขามีเงินซักร้อยล้านบาท เสียเงินซักหมื่นบาท...ก็คงจะไม่ทุกข์มากนัก หรือคนที่ลงทุนจะกล้าเสี่ยงมากขึ้น หากเขาได้ศึกษาเรียนรู้จนเกิดสติปัญญา ก็จะทำให้มีความกล้าลงทุนมากขึ้น ดังนั้นนักลงทุนจึงควรคำนึงถึงปัจจัยทั้งสามข้อนี้ และลงทุนตามจริตของตัวเอง โดยไม่ปล่อยให้เงินของตนเอง...นั่งอยู่เฉยๆ

ทำให้นึกถึงคำพูดของ Sir Richard Branson นักธุรกิจชื่อดังชาวอังกฤษที่เคยกล่าวไว้ว่า “My philosophy is that if I have any money I invest it in new ventures and not have it sitting around.” แปลตามความได้ว่า “ปรัชญาของผมคือ ถ้าผมมีเงิน ผมก็จะลงทุนในธุรกิจใหม่ไปเรื่อยๆ โดยไม่ปล่อยให้มัน (เงิน) นั่งอยู่เฉยๆ”