วิกฤตน้ำท่วมใต้ โอกาสซ่อมสร้างฟื้นฟู

วิกฤตน้ำท่วมใต้ โอกาสซ่อมสร้างฟื้นฟู

ผ่านมาแล้วเกือบ 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา ข่าวอุทกภัยใหญ่ฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลาก

 น้ำท่วมภาคใต้ ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญติดตามอย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการช่วยเหลือทั้งบริจาคสิ่งของ ข้าวปลา อาหาร และของใช้จำเป็นลงสู่พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ ที่หลายคนบอกว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี รุนแรงกว่าอุทกภัยหลายครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่เสียหายเป็นวงกว้าง ครอบคลุมถึง 12 จังหวัด พื้นที่เกษตรกรรม ปศุสัตว์ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย เสียหายอย่างหนักจากน้ำท่วมขังสูงขึ้น จากปริมาณฝนที่ยังคงตกรุนแรงต่อเนื่อง

ข้อมูลอัพเดทจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ว่า ฝนที่ตกหนัก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีจังหวัดได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ รวม 111 อำเภอ 663 ตำบล 4,993 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 369,680 ครัวเรือน 1,105,731 คน มีผู้เสียชีวิต 25 ราย สูญหาย 2 ราย

นอกจากนี้ พบว่าสถานที่ราชการเสียหาย 5 แห่ง ถนน 218 จุด คอสะพาน 59 แห่ง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 1 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ยังคงมีสถานการณ์ใน11 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ รวม 92 อำเภอ 556 ตำบล 4,299 หมู่บ้าน

ความช่วยเหลือมีเข้ามาหลากหลาย ทั้งจากภาครัฐ องค์กรเอกชน และบุคคลทั่วไป ดารานักแสดงคนดังต่างลงพื้นที่ นำอาหารและของใช้จำเป็นเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น ขณะที่หน่วยงานอื่น เช่น ธนาคารหลายแห่งก็มีมาตรการเร่งด่วนออกมาช่วยผู้ประสบภัย เช่นล่าสุด ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกาศเตรียมวงเงิน 500 ล้านบาท จัดทำ “โครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560” โดยลดภาระดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ โดยจะให้กู้เพิ่มและกู้ใหม่ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อซ่อมแซมที่พักอาศัย หรือปลูกสร้างใหม่ทดแทน

ขณะที่ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารกรุงไทย ได้เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าชั้นดีที่ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้เช่นกัน ด้วยนโยบาย ยืดหนี้ และพักหนี้ให้กับลูกค้าผู้ประสบภัยน้ำท่วม

หากจะรวบรวมมาตรการความช่วยเหลือ ที่หลายหน่วยงานออกมาดำเนินการช่วงนี้คงนับกันไม่ถ้วน แต่สิ่งหนึ่งที่มองเห็นโอกาสในช่วงวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชน คงต้องพร้อมรับมือความต้องการในการซ่อมแซม และปลูกสร้างที่จะมีตามมาภายในหลังน้ำลด ซึ่งจะมีงานต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน 

ความช่วยเหลือเชื่อว่าจะมีต่อเนื่อง ไปจนกระทั่งหลังน้ำลด ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องประสานความร่วมมือ ในการฟื้นฟูซ่อมแซม พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้ง 12 จังหวัด เมื่อถึงวันที่น้ำลดความต้องการจะกลับมา หวังเป็นโอกาสเล็กๆ ในช่วงวิกฤตภัยธรรมชาติที่วันนี้ต้องก้าวข้ามไปให้ได้