“ไทยพลาสติก แฮนดิคราฟท์” SMART SMEs ตามคำสอนพ่อ

“ไทยพลาสติก แฮนดิคราฟท์” SMART SMEs ตามคำสอนพ่อ

การเริ่มต้นธุรกิจของบริษัท ไทยพลาสติก แฮนดิคราฟท์ จำกัด โดย“คุณมานัส พรมฮวด” SME รายเล็กๆ ที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่เริ่มกิจการ

เป็นกรณีศึกษาที่ผมอยากให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่กำลังจะเริ่มดำเนินกิจการได้นำไปเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจของท่าน

เริ่มตั้งแต่ความพอประมาณ ไม่ก่อหนี้มาก อาศัยทุนจากการเก็บออม เมื่อกิจการเริ่มมั่นคงจึงเริ่มก่อหนี้เพื่อขยายกิจการ ในแง่ของความมีเหตุผลคือการทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด นั่นคือ อุตสาหกรรมพลาสติก ที่สนใจมาตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ คุณมานัส ไม่เคยนำเงินจากกิจการไปใช้นอกลู่นอกทาง เงินทุกบาททุกสตางค์มีการบันทึกบัญชีที่ถูกต้อง มีคนมาชวนลงทุนทำอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจที่ถนัดก็ไม่เอาด้วย เมื่อเจอปัญหาลอกเลียนแบบจากคู่แข่งก็ให้ความสำคัญกับเรื่อง Innovation ด้วยการทำผลิตภัณฑ์หวายสงเคราะห์ที่พัฒนาจากผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกจนคู่แข่งตามไม่ทัน

ในแง่ของการสร้างภูมิคุ้มกันคือการบริหารสภาพคล่องอย่างเข้มงวดและเหมาะสมกับกิจการ การเจรจากับคู่ค้าที่ซื้อวัตถุดิบด้วยเงื่อนไขและราคาที่เป็นธรรม ผลิตภัณฑ์หวายสังเคราะห์ของบริษัทมีจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำและส่งออกไปต่างประเทศด้วย จึงได้จดสิทธิบัตรการประดิษฐ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ ในกรณีส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศซึ่งจะต้องเผชิญความไม่แน่นอนในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนก็ปรึกษากับธนาคารและทำ Forward Contact เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้วย

ในแง่ของความรอบรู้คือการเพิ่มพูนความรู้อย่างต่อเนื่อง ศึกษาหาความรู้ทั้งด้านการเงินและการตลาด โดยเฉพาะความรู้ทางด้านธุรกิจต่างประเทศที่ตัวเองไม่ถนัด คุณมนัส เข้ารับการฝึกอบรมการสนทนาภาษาอังกฤษ จนสามารถเจรจาต่อรองกับลูกค้าต่างชาติได้

ในแง่คุณธรรมซึ่งคุณมานัสให้ความสำคัญมาก โดยยึดหลักความซื่อสัตย์ทั้งต่อสถาบันการเงินที่ใช้บริการและคู่ค้าทุกราย ตั้งแต่เริ่มกิจการจนถึงปัจจุบันไม่เคยมีปัญหาในการชำระหนี้ คุณมานัส บอกว่าปัญหาในการดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่คือการขาดคุณธรรม จึงสอนลูกน้องทุกคนในบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และยังได้เข้าปฏิบัติธรรมทุกสัปดาห์ จนมีความรู้ลึกซึ้งทางด้านศาสนา เพื่อใช้เป็นเกราะป้องกันตัวเองในการดำเนินธุรกิจและดูแลครอบครัว

ความประทับใจที่คุณมานัส ถือเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต คือการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตะกร้าหวายสังเคราะห์เว้าข้าง พร้อมเบาะรอง จำนวน 12 ใบ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เพื่อทรงใช้สำหรับสุนัขทรงเลี้ยง เมื่อปี พ.ศ.2546 และกลางปี พ.ศ.2547 โดย “คุณประสงค์ พิทูรกิจจา” ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในขณะนั้น นำตะกร้าหวายสังเคราะห์เว้าข้าง ที่ชำรุดเนื่องจากถูกสุนัขกัดขอบ จำนวน 2 ใบ กลับมาให้ซ่อม คุณมานัส แจ้งคุณประสงค์ว่า จะขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตะกร้าใบใหม่แทน แต่ก็ได้รับคำตอบว่า พระองค์ท่านเห็นว่าส่วนที่ชำรุดเฉพาะขอบเพียง 20 % เท่านั้น แต่สภาพโดยร่วมยังดีอยู่ ซ่อมเพียงแค่ขอบก็ใช้การได้แล้ว

บทเรียนอันทรงคุณค่าที่สอนในเรื่องของการประหยัด มีความละเอียดรอบคอบแม้เพียงสิ่งเล็กน้อยที่ได้รับในครั้งนี้ทำให้คุณมานัส ยิ่งมั่นใจว่าแนวทางเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ยึดมั่นมาตั้งแต่เริ่มกิจการ เป็นสิ่งที่จะต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเข้มข้นและจริงจังต่อไป แม้ว่าปัจจุบันกิจการจะเติบโตก้าวหน้ามั่นคง จนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน หนังสือจากสำนักราชเลขาธิการทุกฉบับ ที่มีพระราชทานกระแสขอบใจจากพระองค์ท่าน ถือเป็นมงคลสูงสุด ที่ติดกรอบไว้กราบไหว้บูชายึดมั่นตลอดมา

ผมจึงอยากให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีหน้าที่ในการพัฒนาดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ได้บรรจุแนวทางเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในทุกหลักสูตรที่มีการฝึกอบรม

เพราะจะเป็นแนวทางในการลดความเสี่ยงในการดำเนินกิจการ และช่วยสร้างผู้ประกอบการ SME ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง