โอกาสกับกลยุทธ์ธุรกิจ

โอกาสกับกลยุทธ์ธุรกิจ

แม้ว่าในปัจจุบัน เรื่องของการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของธุรกิจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่

แต่ในหลายๆ ครั้งจะพบว่า กลยุทธ์ที่กำหนดมักจะไม่สัมพันธ์กับโอกาสทางการตลาดที่จะเปิดให้

โอกาส ถือได้ว่าเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่นักกลยุทธ์ธุรกิจจะต้องนำมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ให้กับธุรกิจ ควบคู่กับ อุปสรรค หรือ ภัยคุกคาม ที่ถือว่าเป็นปัจจัยที่จะให้ผลในทางตรงกันข้าม

เนื่องจากการกำหนดกลยุทธ์ เป็นเรื่องของการวางแผนในอนาคต ซึ่งไม่มีใครสามารถทำนายได้อย่างแม่นยำว่า อนาคตจะเป็นไปตามสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้หรือไม่

โดยเฉพาะในกรณีที่อนาคต มีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวให้ยืดหยุ่นและคล่องตัวอยู่ตลอดเวลา

ในขณะเดียวกัน ก็เป็นที่ยอมรับว่าการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวไกลก็มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งในด้านของการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และด้านความเป็นอยู่และวิถีการดำรงชีวิตของผู้บริโภค

ทำให้การปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับโอกาส ยิ่งทำได้ยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาจจะใช้ปัจจัยตัวที่ 3 เข้ามาช่วยกู้สถานการณ์ให้สามารถสร้างความเติบโตให้เกินกว่าขีดจำกัดเดิมที่ธุรกิจต้องเผชิญได้

นั่นก็คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ ที่เรียกกันว่า BMI หรือ Business Model Innovation การคิดค้นเพื่อแสวงหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำธุรกิจจะช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับแต่งโอกาสที่เปิดให้และกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้าให้สามารถเข้ามาร่วมทางผสมผสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การพัฒนาโมเดลธุรกิจ อาจทำได้โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อให้ตอบสนองความต้องการหรือช่วยให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการของธุรกิจได้ดีขึ้น

หรือปรับวิธีการทำธุรกิจ ให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของลูกค้าหรือผู้บริโภคที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้ดูล้าสมัยหรือแปลกแยกไปจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

นวัตกรรมโมเดลธุรกิจ อาจตอบโจทย์การเพิ่มยอดขายหรือขยายส่วนแบ่งการตลาด โดยการเพิ่มจำนวนลูกค้าในตลาดเดิมที่ทำอยู่ หรือการขยายตลาดออกไปสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเดิม

นอกจากนั้น โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ยังอาจมุ่งเป้าเพื่อเน้นผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การเพิ่มยอดขาย การเพิ่มอัตราส่วนกำไร หรือ การเพิ่มปริมาณการขาย

เนื่องจากโมเดลธุรกิจ มักจะต้องบ่งชี้ไปถึงองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน ซึ่งได้แก่โมเดลการนำเสนอสิ่งที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าหรือสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ และ โมเดลการสร้างกำไรและผลตอบแทนจากธุรกิจ ดังนั้น ในการกำหนดกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสทางการตลาด อาจต้องคำนึงถึงการปรับปรุงสมรรถภาพภายในเพื่อดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น

การหาวิธีการที่จะนำเสนอหรือสนองความต้องการของลูกค้าด้วยต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง

การหาวิธีการที่จะนำสินทรัพย์ทั้งที่จับต้องได้และที่จับต้องไม่ได้ เช่น สินทรัพย์ถาวรที่ได้ลงทุนไปแล้ว ทุนทรัพยากรมนุษย์ ทุนที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุดในการดำเนินธุรกิจ

การหาวิธีการที่จะมุ่งให้ความสนใจไปที่กิจกรรมหลักที่สร้างการขยายตัวให้กับธุรกิจ มากกว่าการต้องกังวลกับกิจกรรมที่ไม่ใช่กิจกรรมหลักทางธุรกิจ เช่น การพิจารณาให้ผู้รับเหมาเช่าช่วงที่มีความชำนาญและประสบการณ์ในงานนั้นๆ ไปรับผิดชอบดูแล หรือการเข้าร่วมกับเครือข่ายของผู้ค้ารายใหญ่ที่มีขอบเขตธุรกิจกว้างขวางด้วยการเสนอความสามารถและความชำนาญพิเศษของเรา

การหาวิธีการที่จะใช้เครือข่ายของห่วงโซ่อุปทานในการร่วมกิจกรรมทางธุรกิจอย่างครบวงจร ตั้งแต่ธุรกิจต้นทางจนถึงธุรกิจปลายทาง เป็นต้น

มีผู้กล่าวว่า เมื่อผู้บริหารเริ่มเห็นว่ากิจกรรมทางธุรกิจที่ทำอยู่ เริ่มมีอาการติดขัดหรือไม่เป็นไปตามกลยุทธ์ที่คิดไว้ นั่นอาจเป็นอาการที่แสดงว่า กลยุทธ์ และโอกาสที่มีอยู่ อาจจะเดินไปในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกัน

ผู้บริหารธุรกิจสมัยนี้ จึงควรต้องหันมาสนใจกับการทำนวัตกรรมรูปแบบธุรกิจของตัวเองให้มากขึ้น เพราะนวัตกรรมประเภทนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หรือนวัตกรใดๆ ทั้งสิ้น

สามารถทำได้ด้วยประสบการณ์ธุรกิจของผู้บริหารล้วนๆ โดยที่ผู้บริหารจะต้องเปิดใจที่จะให้ความสนใจกับความก้าวหน้าของโลกและทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว