ประเทศที่ “ดีที่สุด” ของธุรกิจเพื่อสังคม

ประเทศที่ “ดีที่สุด” ของธุรกิจเพื่อสังคม

อย่างที่เรารู้กันว่าหลายประเทศทั่วโลกกำลังส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise (SE) ให้เข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหาสังคมมากขึ้น

แต่ลองมาดูกันค่ะว่าประเทศไหนที่ติดอันดับท็อป หรือเรียกได้ว่าส่งเสริมธุรกิจ SE และผลักดันอย่างเต็มที่กันบ้าง

เว็บไซต์ Trust ของมูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ส ได้ร่วมกับ Deutsche Bank, UnLtd และ Global Social Entrepreneurship Network จัดทำโพลสำรวจเป็นครั้งแรกในโลกในหัวข้อ “The Best Countries To Be A Social Entrepreneur 2016” เพื่อค้นหาว่าประเทศใด “ดีที่สุด” สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม

โดยมูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ส ได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อาทิ ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม นักวิชาการ นักลงทุน ภาครัฐ และเครือข่ายต่างๆ รวมกว่า 900 คน ใน 44 ประเทศทั่วโลก ถึงแนวโน้มของกิจการเพื่อสังคมของประเทศนั้นๆ ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1.การสนับสนุนของรัฐ 2.การดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ 3.ความเข้าใจของประชาชน 4.การเป็นธุรกิจที่หาเลี้ยงชีพได้ 5.ทิศทางการเติบโตของกิจการเพื่อสังคม และ 6.การเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ผลการสำรวจดังกล่าวออกมาพบว่า ประเทศที่ดีที่สุดสำหรับกิจการเพื่อสังคมคือ สหรัฐอเมริกา ได้ 65.9 คะแนนรองลงมาคือ แคนาดา (65.3)และ สหราชอาณาจักร (60.6)เป็นลำดับที่ 3 ส่วนลำดับที่ 4 ถึง 10 ได้แก่ สิงค์โปร์ (59.9) อิสราเอล (59.4) ชิลี (59.2) เกาหลีใต้ (58.9) ฮ่องกง (58.5) มาเลเซีย (58.3) และฝรั่งเศส (58)

ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า กิจการเพื่อสังคมกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยกว่า 85% ของผู้ตอบกล่าวว่า กิจการเพื่อสังคมเติบโตและเป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศของตนเอง โดยเมืองที่มีความตื่นตัวต่อกิจการเพื่อสังคมมาก ได้แก่ เมืองซานเตียโก ในชิลี และเมืองไนโรบี ในเคนยา รวมถึง เบอร์ลิน ลอนดอน และฮ่องกง

สำหรับ ประเทศไทย ก็อยู่ในผลการสำรวจครั้งนี้เช่นกันค่ะ โดยเราอยู่ในลำดับที่ 29 จาก 44 ประเทศ มี 49.5 คะแนน โดยข้อที่ผู้เชี่ยวชาญในบ้านเราให้คะแนนสูงที่สุดคือ กิจการเพื่อสังคม หรือ SE มีการเติบโตมากในไทย และมีสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยสนับสนุนอยู่พอสมควร หากแต่สิ่งที่ยังขาดคือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการทำให้ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญ

และประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อ SE เลยคือ ตุรกี ซึ่งมีเพียง 12 คะแนน โดยมีปัจจัยลบทางการเมือง เศรษฐกิจ กฏหมาย และปัจจัยทางวัฒนธรรมต่างๆ ส่วนประเทศที่ได้คะแนนน้อยอยู่ท้ายกระดานเช่นกัน คือ ไอร์แลนด์ และ เวเนซุเอลา

อีกสิ่งที่น่าสนใจจากการสำรวจครั้งนี้ นั่นคือ ผู้เชี่ยวชาญถึง 68% มีมุมมองว่า “ผู้หญิง” มีบทบาทสำคัญและเป็นผู้บริหารของกิจการ SE ได้เป็นอย่างดี และภูมิภาค “เอเชีย” คือภูมิภาคที่มีสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อผู้ประกอบการ SE ที่เป็นผู้หญิง โดยประเทศที่มีความโดดเด่นมากที่สุดคือฟิลิปปินส์ ส่วนไทยเราก็ติด 1 ใน 5 ในด้านผู้ประกอบการหญิงนี้ด้วยเช่นกันค่ะ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปัจจุบันนิยามความหมายของ SE เริ่มกระจัดกระจายออกไปจนบางครั้งทำให้คนทั่วไปขาดความเข้าใจหรือสับสน โดยปัจจุบัน SE อาจมีทั้งที่ไม่แสวงกำไร หรืออาจแสวงหากำไรก็ได้ เพราะแต่ละประเทศมีแนวทางที่ต่างกัน

โดยผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้แนะว่า ความหมายของ SE ที่ควรใช้ คือคำนิยามง่ายๆ ว่าเป็น “ผู้ที่ทำธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสังคม”  หากสามารถสร้างความเข้าใจให้คนทั่วไปได้รู้จัก SE ได้ดีขึ้น ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ภาครัฐและสถาบันการเงินต่างๆ เห็นความสำคัญและหันมาสนับสนุนกิจการเหล่านี้ได้ เพราะปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีข้อยกเว้นทางกฏหมายและทางภาษีให้แก่ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม

นับว่าผลสำรวจในครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นมุมมองของ SE ทั่วโลกที่น่าสนใจมากทีเดียว หากใครสนใจรายงานฉบับเต็ม เข้าไปดูได้ที่ http://poll2016.trust.org นะคะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ