การศึกษาของเด็ก

การศึกษาของเด็ก

ในโอกาสครบรอบ 100 ปี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดกิจกรรมขึ้นหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นคือการบรรยายพิเศษ “พระวิสัยทัศน์

 และพระมหากรุณาธิคุณ ด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดย ดร. ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์ อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนจิตรลดาและที่ปรึกษาโรงเรียนจิตรลดา ซึ่งจัดไปเมื่อวันที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมา ดิฉันเห็นว่าน่าสนใจมาก และเนื่องจากวันเสาร์ที่จะถึงนี้ เป็นวันเด็ก จึงขอนำข้อมูลจากการบรรยายพิเศษบางส่วนมาเผยแพร่ในบทความวันนี้ค่ะ

ท่านผู้หญิงทัศนีย์เป็นบัณฑิตอักษรศาสตร์ รุ่นที่ 10 แผนกวิชาครูประถม ก่อนแยกเป็นคณะครุศาสตร์ หลังจากสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2487 ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน และสำเร็จการศึกษา ปริญญาเอก ด้านการศึกษาในปี 2496ท่านเป็นผู้รับสนองพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระราชโอรสและพระราชธิดา โดยการจัดตั้งโรงเรียนจิตรลดา ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอุลยเดช ในวันที่ 6 มกราคม 2498ท่านเป็นครูคนแรก และเป็นครูใหญ่ท่านแรกของโรงเรียนจิตรลดาตั้งแต่ปี 2498 จนเกษียณอายุ และเป็นที่ปรึกษาของโรงเรียนจิตรลดาในปี 2526 และท่านยังคงสอนวิชาภาษาอังกฤษอยู่จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาเป็นครูจิตรลดา ถึง 62 ปี

ท่านผู้หญิงทัศนีย์ในวัย 95 ปี ยังแข็งแรงมากๆค่ะท่านเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอุลยเดชทรงมีพระราชดำริว่าจะตั้งโรงเรียนอนุบาลในเขตพระราชฐาน เพราะการให้พระราชธิดาไปเข้าโรงเรียนข้างนอก อาจจะต้องเปลี่ยนนโยบายของโรงเรียนอนุบาลที่มีอยู่ในขณะนั้น หรือนโยบายของโรงเรียนอาจไม่เป็นที่ต้องพระราชหฤทัย แต่ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระราชธิดาได้รับการศึกษาระดับอนุบาลในรูปแบบโรงเรียน ไม่ใช่การถวายอักษรแบบตัวต่อตัว ให้มีบรรยายกาศของห้องเรียน และอยากให้เป็นโรงเรียนเล็กๆ เป็นโรงเรียนตัวอย่าง ให้เป็นโรงเรียนอนุบาลที่มีมาตรฐานระดับสากล ทันสมัย นักเรียนออกไปแล้วจะได้สามารถใช้การศึกษาในระบบนี้ใช้ชีวิตต่อไปได้ ทรงเน้นว่าไม่ให้ถวายสิทธิพิเศษ ในช่วงแรกยังไม่ให้สอนเรื่องวิชาการ แต่ให้สอนคุณธรรมต่างๆที่จะนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ เช่น ให้รู้จักสังเกต ให้รู้จักมีสมาธิในเวลาทำงาน ให้รู้จักเข้ากับเด็กคนอื่นๆได้

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงดัดแปลงห้องชั้นล่างของพระที่นั่งอัมพรสถานสองห้อง ให้เป็นห้องอนุบาลที่ทันสมัย โดยชั้นบนเป็นห้องบรรทม และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอุลยเดช ทรงพระราชทานศาลาให้เป็นห้องที่นักเรียนสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ เช่น ออกกำลัง เล่นดนตรี เป็นการพัฒนาร่างกาย และมีกรงสัตว์ต่างๆในสวน เช่น ไก่ ลิง เพื่อให้นักเรียนสามารถไปสังเกตธรรมชาติ และทุกเช้า หากอากาศดี ครูก็จะพานักเรียนไปออกกำลังกาย ไปเดินเล่นในสวน ก่อนกลับเข้าไปในห้องเรียน มาฟังเพลงบ้าง ฟังนิทานบ้าง

นอกจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯแล้ว มีนักเรียนอื่นอีก 6 คน ช่วงแรกนักเรียนไม่มีเครื่องแบบ เพราะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งว่าเขามาจากบ้านก็อยากให้มาในบรรยากาศแบบสบายๆ นักเรียนมีอิสระที่จะเลือกอุปกรณ์ที่จะนำไปใช้ ส่วนเรื่องวิชาการก็แทรกเข้าไป เช่น ใช้นาฬิกาในการแทรกสอนวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนเข้า 9.00น. และเลิก 11.30น. ซึ่งตอนเลิก พ่อแม่นักเรียนคนอื่นยังทำงานอยู่ ทรงพระราชทานรถที่มีผู้ใหญ่คุม ไปส่งนักเรียนกลับบ้านด้วย

มีการสนับสนุนให้นักเรียนไปเรียนนอกสถานที่ ไม่เรียนแต่ในเฉพาะห้องเรียน ทั้งไปเรียนที่โรงเรียนอื่น คือ ไปเรียนนาฏศิลป์ที่โรงเรียนราชินี และไปทัศนศึกษา เช่น ไปดูสถานีดับเพลิง ไปทำการเกษตรจริงในวิชาเกษตร เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอุลยเดช ทรงเน้นว่าให้นักเรียนมีการพัฒนากาย สมอง อารมณ์ และจริยธรรม ควบคู่กันไป

พระบรมราโชบายในฐานะองค์บริหารของโรงเรียนจิตรลดาตั้งแต่มกราคม 2498 จนถึง พ.ศ. 2526 ซึ่งโรงเรียนได้ยึดถือเป็นนโยบายจนถึงทุกวันนี้ คือ จะต้องเป็นห้องเรียนที่ได้มาตรฐานขั้นสากล ครูเป็นครู นักเรียนเป็นนักเรียน ครูต้องมีคุณภาพทุกด้าน มีความเข้าใจเด็ก ให้ความยุติธรรมต่อทุกคน มีความใกล้ชิดกับผู้ปกครอง สนับสนุนเด็กให้เรียนในสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ให้รู้จักกาลเทศะและการอยู่ร่วมกับคนอื่น คุณธรรมวินัยในความประพฤติและการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ

สำหรับนักเรียนที่เข้ามาเรียนก็มีฐานะความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน และอาจจะมีบางคนที่การพัฒนาบางด้านไม่สมบูรณ์ ก็ทรงให้ครูเตรียมการณ์ และให้เพื่อนนักเรียนช่วยกันดูแล ท่านผู้หญิงทัศนีย์ เล่าว่า นักเรียนที่เก่งจะเก่งอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ครูจะภูมิใจที่ได้ช่วยให้เด็กที่อ่อนกว่าเพื่อนในชั้น หรือมีพัฒนาการช้า ให้สามารถมีพัฒนาการและดีขึ้นได้

ทั้งนี้พระวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการเรียนการสอนจะเป็นการพัฒนานักเรียนใน 4 ด้านคือ พุทธศึกษา (ด้านสติปัญญา) จริยศึกษา (ให้มีค่านิยมที่ถูกต้อง มีคุณธรรม อันจะเป็นพื้นฐานในการทำงานต่อไป) หัตถศึกษา (ปฏิบัติและลงมือทำงาน ไม่ใช่แค่รู้แต่ทฤษฎี) และ พลศึกษา (มีร่างกายที่แข็งแรง) ทรงมีพระราชปณิธานให้นักเรียนสามารถพึ่งตัวเอง และสามารถช่วยสังคมต่อไป

ทรงร่วมในกิจกรรมของโรงเรียนเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นงานพิธีถวายตัว และงานปิดภาคประจำปีทุกปี บางครั้งทรงนำสมุดการบ้านของนักเรียนไปทรงทอดพระเนตรและทรงมีพระวินิจฉัยให้ครูช่วยเสริมด้านต่างๆให้กับนักเรียน ทรงเน้นว่าวิชาหลัก คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และคณิตศาสตร์นั้นสำคัญยิ่ง พื้นต้องแน่น จึงจะปล่อยให้ขึ้นไปชั้นอื่นได้ ทุกปิดภาค ครูใหญ่และรองครูใหญ่ต้องถวายคะแนนให้ทอดพระเนตรเป็นรายคน

ในการดำเนินกิจการต่างๆของโรงเรียนนั้น พระองค์ไม่เคยทรงขัดต่อระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการเลย โรงเรียนดำเนินการเป็นโรงเรียนราษฎร์ มีสำนักพระราชวังเป็นเจ้าของ และมีผู้จัดการตามกฎเกณฑ์ทุกอย่าง ส่วนมาตรฐานการเรียนนั้นจะเข้มงวดกว่า โดยวิชาหลักต้องได้คะแนนมากกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ และคะแนนรวมต้องได้ 60 เปอร์เซ็นต์จึงจะผ่าน

พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อโรงเรียนจิตรลดา นอกจากจะทรงควบคุมนโยบายด้วยพระองค์เองแล้ว ยังทรงพระราชทานสิ่งของต่างๆ จากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยนักเรียนไม่เสียค่าเล่าเรียนและค่าอุปกรณ์ พระราชทานอาหารครูและนักเรียน พระราชทานเงินเดือนครู พระราชทานรางวัลและเหรียญที่ระลึก พระราชทานทุนและการฝึกอบรมให้ครูอย่างสม่ำเสมอ ทรงส่งเสริมครูให้มีโอกาสไปดูงานทั้งในและต่างประเทศ ทรงริเริ่มทุนสวัสดิการครูและการรักษาพยาบาลที่หน่วยแพทย์หลวง และทรงสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น

ดิฉันอยากให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการได้น้อมนำพระราโชบายและพระวิสัยทัศน์ไปใช้ในการบริหารจัดการการศึกษาของเด็กไทยค่ะ