EU มุ่งสู่การส่งเสริมการใช้รถยนต์ BEV เต็มตัว

EU มุ่งสู่การส่งเสริมการใช้รถยนต์ BEV เต็มตัว

ทีมงาน thaieurope เคยนำเสนอเกี่ยวกับการดำเนินงานของ EU ในการแก้ไขปัญหาการปล่อย

มลภาวะจากรถยนต์ ที่เน้นการออกกฎระเบียบเพื่อให้ผู้ผลิตรับผิดชอบผลกระทบทั้งหมดของสินค้า ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบไปจนถึงการรีไซเคิลสินค้า ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยในครั้งนี้ทางทีมงาน thaieurope จะขอนำเสนอช่องทางธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยท่ามกลางกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงแนวทางการส่งเสริมตลาดยานยนต์ในประเทศจากกรณีตัวอย่างของเบลเยียม

BEV โอกาสใหม่ที่ไทยต้องปรับตัว

ทีมงาน thaieurope ได้พูดคุยกับนาย Greg Archer ผู้อำนวยการองค์กร Transport and Environment (T&E) ซึ่งเป็นองค์กร NGO ที่มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อเสนอแนะต่อ EU เกี่ยวกับนโยบายด้านการคมนาคมขนส่ง โดยนาย Archer ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับแนวโน้มความต้องการในตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ใน EU ว่า อีกไม่เกิน 10 ปีรถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้าหรือ Battery Electric Vehicle (BEV) จะได้รับความนิยมมากขึ้นใน EU และมีราคาที่ถูกลง

ทั้งนี้ ก็เป็นเพราะการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการควบคุมการปล่อยมลพิษจากภาคการคมนาคมขนส่งที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากตัวอย่างกรณีฉาวของ Volkswagen ที่ต้อง re-brand ตัวเองใหม่ โดยการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี AdBlue เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซในกลุ่มไนโตรเจนออกไซด์ หรือ NOx จากเครื่องยนต์ดีเซล และมุ่งหน้าสู่การผลิตรถยนต์ BEV อย่างเต็มตัว

แนวคิดนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลประเทศสมาชิก EU โดยทีมงาน thaieurope ได้พูดคุยกับนาย Simon Ruyters เจ้าหน้าที่นโยบาย Clean Power on Transport (CPT) ของรัฐบาลภูมิภาค ฟลานเดอร์ของเบลเยียม เกี่ยวกับการดำเนินงานตามแผน Action Plan on the deployment of alternative fuels infrastructure ที่ทางรัฐบาลภูมิภาคฟลานเดอร์ได้เสนอต่อ EU เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นาย Ruyters เล่าว่า รัฐบาลภูมิภาคฟลานเดอร์ได้เริ่มใช้แผนดังกล่าวตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 โดยมีจุดประสงค์หลักในการส่งเสริมการใช้รถยนต์จากพลังงานทางเลือกทุกประเภทภายในภูมิภาคฟลานเดอร์ของเบลเยียม ซึ่งรวมถึงรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ดี รัฐบาลฯ ต้องการส่งเสริมการใช้ BEV เป็นหลัก เพราะพลังงานทางเลือกในแบบอื่นๆ เช่น รถยนต์แบบเซลเชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle - FCEV) ยังมีปัญหาทางด้านเทคนิกอยู่มาก และการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Electric Hybrid Vehicle - PHEV) ก็ยังไม่ตอบโจทย์การประหยัดพลังงานในระยะยาว

รัฐบาลฯ ได้กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มการใช้รถยนต์ BEV จาก 3,012 คันในปี 2559 ให้เป็น 60,500 คันภายในปี 2563 (ปัจจุบัน ภูมิภาคฟลานเดอร์มีรถยนต์จำนวน 3.4 ล้านคัน) โดยนาย Ruyters ย้ำว่า การส่งเสริมการใช้ BEV ไม่ได้จำกัดเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงรถจักรยานไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า โอกาสของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ไม่ได้จำกัดอยู่ที่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพ เช่น รถจักรยานยนต์ที่ไทยเองเป็นฐานการผลิตอะไหล่และชิ้นส่วนของทั้งค่ายญี่ปุ่นและค่ายยุโรปหลายๆ ค่ายอยู่แล้ว รวมไปถึงรถจักรยาน ที่ในปัจจุบันผู้ประกอบการไทยอย่างบริษัท LA Bicycle สามารถพัฒนาจักรยานไฟฟ้า หรือ LA E-Ride ออกสู่ตลาดทั้งในและนอกประเทศแล้ว ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการพัฒนากระบวนการผลิต ก็จะส่งผลให้ BEV กลายเป็น product champion ในอนาคตของไทยได้อย่างแน่นอน

การปรับเปลี่ยนแนวคิดผู้บริโภคช่วยยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย

แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะ BEV เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีการผลิตเป็นหลัก การส่งเสริมให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเติบโต และมีการใช้อย่างแพร่หลายจึงมีความสำคัญมาก โดยทีมงาน thaieurope ได้สอบถามนาย Ruyters ถึงวิธีการส่งเสริมการใช้ BEV ในภูมิภาคฟลานเดอร์ของประเทศเบลเยียม พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับความคุ้มค่าและราคาสินค้า สถานีชาร์จไฟฟ้าที่ยังไม่เพียงพอ รวมไปถึงระบบการใช้งานและการชาร์จไฟฟ้าตามจุดชาร์จต่างๆ 

ดังนั้น การให้ข้อมูลที่ง่าย ถูกต้อง และครบถ้วนเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจ และเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง BEV ได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยสามารถสรุปการดำเนินการได้เป็น 2 ข้อหลัก คือ

ประการแรก ต้องเริ่มจากการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเข้าถึงได้ง่ายกับผู้บริโภค โดยปัจจุบันทางรัฐบาลเขตแฟลนเดอร์กำลังรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการสนับสนุนต่างๆ จุดชาร์จไฟฟ้า กิจกรรมรณรงค์การใช้รถยนต์จากพลังงานสีเขียว ตลอดจนโมเดลและราคารถยนต์ไฟฟ้าที่วางขายในตลาด นอกจากนี้ ทางรัฐบาลฯ ยังมีการจัดประชุมร่วมกับบริษัทขายรถ เพื่อเป็นช่องทางสำคัญในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนต่างๆ ของรัฐแก่ผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย

ประการที่สอง คือการปรับเปลี่ยนความคิดของผู้บริโภคให้คำนึงถึงความคุ้มค่ามากกว่าราคาขายของรถยนต์เพียงอย่างเดียว โดยทางรัฐบาลภูมิภาคฟลานเดอร์ได้จัดทำ website เพื่อช่วยเปรียบเทียบต้นทุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน หรือที่เรียกว่า Total Cost of Ownership (TCO) โดยเป็นการรวมต้นทุนและการลดหย่อนทั้งหมด ได้แก่ ราคาสินค้า ภาษีรถยนต์ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่สนับสนุนโดยรัฐ ราคาพลังงาน/เชื้อเพลิง ค่าเบี้ยประกันรถยนต์ และค่าบำรุงรักษา แล้วคำนวณเทียบตามระยะทางและระยะเวลาที่ต้องการใช้งาน เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

ทั้งนี้ ทีมงาน thaieurope ได้ทดลองใช้โปรแกรม TCO (http://www.milieuvriendelijkevoertuigen.be/) คำนวณความคุ้มค่าระหว่างรถยนต์ BEV รุ่น Smart ForTwo Electric Drive Passion Coupé (3d) 75pk ที่มีราคาสูงถึง 24,079 ยูโร กับ Smart ForTwo 1.0 62kW Passion Coupé (3d) 84pk ซึ่งขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน และมีราคาต่ำกว่าที่ 13,794 ยูโร โดยคำนวณ เปรียบเทียบที่ระยะทาง 50,000 กิโลเมตร ในระยะเวลา 15 ปี พบว่า รถยนต์ BEV สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 29,125 ยูโร หรือเฉลี่ยเดือนละ 162 ยูโร เลยทีเดียว นอกจากนี้ จากการคำนวณด้วยโปรแกรม TCO ยังพบว่า ค่าบำรุงรักษาของรถยนต์ BEV มีราคาต่างจากรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเพียง 538 ยูโรเท่านั้น โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความคุ้มค่าในการเลือกซื้อรถยนต์ BEV คือ ภาษีรถยนต์ที่ถูกกว่า ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่สนับสนุนโดยรัฐ และราคาพลังงาน/เชื้อเพลิง

ซึ่งกรณีศึกษาดังกล่าวนำไปสู่คำถามทิ้งท้ายให้กับประเทศไทยต่อไปว่า นอกจากการให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับรถยนต์ไฟฟ้าที่เรียกได้ว่าเป็นแรงจูงใจสำคัญให้กับผู้บริโภคที่จะเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ภาครัฐจะต้องหันกลับมามองเรื่องการใช้ภาษีสิ่งแวดล้อมสำหรับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันที่ผ่านการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน รวมไปถึงมาตรการเกี่ยวกับการบำบัดซากยานยนต์อย่างถูกวิธี โดยนำชิ้นส่วนและอะไหล่จากซากยานยนต์กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ในสัดส่วนที่กำหนดด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ ก็เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสังคมยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง