"เงินทอง มองต่างมุม"

"เงินทอง มองต่างมุม"

"กลัวผันผวน" หรือ "กลัววิกฤต" แยกให้ออกแล้วจะเจอโอกาส

หลายๆท่านคงพอจำกันได้ว่าเราเริ่มต้นปี 2559 กันไม่ค่อยสวยซักเท่าไหร่ เราเปิดปีด้วยความกังวลจากเศรษฐกิจจีนต่อเนื่องมาจากปลายปี 2558 หลังจีนลดค่าเงินตัวเองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกย่อตัวกันตั้งแต่สัปดาห์แรกทั้งที่หลายๆคนยังฉลองปีใหม่กันไม่เสร็จสิ้นดีเสียด้วยซ้ำ ภายในสิบวันแรกของการซื้อขายของปี มูลค่าของตลาดหุ้นโลกหายไปรวมกันกว่า 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 142 ล้านล้านบาท หรือเป็น 10 เท่าของ GDP ประเทศไทย เหตุการณ์นี้ทำให้นักลงทุนหลายคนขยาดกันไปตามๆกัน

หลังสถานการณ์ความกังวลเกี่ยวกับจีนเริ่มนิ่งขึ้น พายุลูกใหม่ก็ถาโถมเข้าสู่ตลาดอีกรอบ จากการที่กลุ่ม OPEC ไม่สามารถตกลงตรึงกำลังการผลิตน้ำมันกันได้ไม่ว่าจะเจรจากันกี่รอบก็ตาม ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบร่วงไปอยุ่ที่จุดต่ำสุดที่ 27.1 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลในช่วงต้นปี ฉุดหุ้นกลุ่มน้ำมันและโภคภัณฑ์ทั่วโลกลงอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน หลังการเจรจาครั้งสำคัญที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ล่มไม่เป็นท่า

พอมาช่วงกลางปี ตลาดตั้งตื่นตระหนกอีกครั้ง หลังผลประชามติของสหราชอาณาจักรออกมาว่าชาวอังกฤษส่วนใหญ่ อยากให้ประเทศเขาก้าวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) สวนทางกับการวิเคราะห์ของกูรูและมุมมองของตลาดอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้สถานการณ์ Brexit กลายเป็นหนึ่งในเซอร์ไพรส์ที่เขย่าตลาดโลกแรงที่สุดในปี 2559 เลยก็ว่าได้ เพราะทันทีที่ผลประชามติออกมาตรงกันข้ามกับที่หลายๆฝ่ายคิดไว้ ส่งผลให้สร้างความสับสนในกับนักลงทุนมากขึ้น อย่าลืมว่ายังไม่มีประเทศใดเคยยื่นขอออกจาก EU มาก่อน จึงเกิดคำถามขึ้นมากมายกับคนทั่วโลก ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายเดวิด แคเมอรอน? แล้วอังกฤษจะต้องทำอย่างไรต่อไป? จะยื่นออกหรือไม่ยื่น? แล้วใครจะได้ใครจะเสีย? แล้วประเทศอื่นๆ จะเดินตามอังกฤษหรือเปล่า? จนกระทั่งทุกวันนี้ หลายๆคำตอบที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นยังไม่มีใครให้คำตอบได้

พอเข้าสู่ช่วงปลายปี ไทยเองก็เจอเหตุการณ์หนักหน่วงคือการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทำให้คนทั้งประเทศเศร้าโศกเสียใจกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนช่วงชีวิตของคนของทุกคนในประเทศนี้

ในระหว่างนั้น ตลาดโลกก็เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งประธานาธิดีของสหรัฐอเมริกา และเป็นอีกครั้งหนึ่งในปีนี้ ที่ผลจากการเมืองวิ่งสวนทางกับการวิเคราะห์ของเหล่ากูรูทั้งหลาย โดยนายดอนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับบลิกัน ผลิกโผและผลโพลสามารถเอาชนะ นางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตได้ ท่ามกลางข่าวลบและการป้ายสีทางการเมืองกันเต็มไปหมด และผลตอบรับกับ surprise อีกครั้งของตลาดก็ดูเหมือนจะยังงงๆกับผลการเลือกตั้งในวันแรก และเปลี่ยนมุมมองมาเป็นบวกต่อการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งของนายทรัมป์มากขึ้น

พอมาถึงจุดนี้ หลายๆท่านคงรู้สึกว่าปีที่แล้ว (2559) เป็นปีที่หดหู่สำหรับการลงทุนอย่างมาก เพราะมีแต่เหตุการณ์ลบ ที่กระทบความเชื่อมั่นตลาดและนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง เคยมีนักลงทุนท่านหนึ่งมาปรึกษาผลว่าไม่รู้จะทำอย่างไรดี ดอกเบี้ยก็ต่ำ การลงทุนก็มีแต่ข่าวลบ ไม่รู้จะเอาเงินออมไปไว้ที่ไหน ถ้าอย่างนั้น ผมถึงอยากจะชวนทุกคนมาลองดูตัวเลขย้อนหลังกันซักนิดครับ

ในปี 2559 การลงทุนในตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนถึง 20% ส่วนการลงทุนในกองทุนน้ำมันให้ผลตอบแทน 50% เนื่องจากสุดท้าย OPEC ตกลงกันได้ปลายปี ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี Dow Jones ให้ผลตอบแทน 13% ท่ามกลางการเลือกตั้งและการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และแม้กระทั่งการลงทุนหุ้นในอังกฤษ ประเทศที่มีเรื่อง Brexit คาราคาซังอยู่ ตัวดัชนี FTSE100 ยังสามารถให้ผลตอบแทนได้ถึง 14% และแน่นอนครับ การลงทุนที่ไม่ดีก็มีเช่นกัน เช่น ตลาดหุ้นเซียงไฮ้ -12% หรือดัชนี Nikkei ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดเสมอตัวกับต้นปี

สิ่งอยากชวนให้ทุกท่านร่วมกันคิดคืออย่างนี้ครับ จะเห็นได้ว่าผลการตอบแทนในการลงทุนในปีที่แล้วจริงๆไม่ได้แย่ซะทีเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับความเครียดและความกังวลที่มีอยู่ ทุกเหตุการณ์ที่ผมนำมาย้อนเล่าสู่กันฝังเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดและภาวะการลงทุนอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้สร้าง “วิกฤต” ขึ้นมาให้กับเศรษฐกิจและปัจจัยพื้นฐานของตลาด (นอกจากเศรษฐกิจจีน) เพราะฉะนั้น ในความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทุกๆวัน ตลาดเหวี่ยงขึ้นลงนับเป็นเรื่องปรกติ และเมื่อเราสามารถแยกความผันผวนออกจากสถานการณ์วิกฤตได้ เราก็จะเห็นว่าแนวโน้มการลงทุนท่ามกลางความผันผวนนั้นยังมีโอกาสอยู่ ทีนี้ก็อยู่ที่เราแล้วละครับ ว่าเรา “กลัววิกฤต” หรือ “กลัวความผันผวน”? เมื่อเราลงทุนอย่างมีสติและเข้าใจตัวเองว่า “กลัววิกฤต” หรือ “กลัวความผันผวน” เราก็จะรู้เองว่าโอกาสการลงทุนที่เหมาะสมของเรานั้นเป็นอย่างไร สวัสดีปีใหม่และขอให้ทุกท่านลงทุนกันอย่างมีความสุขในปีนี้ครับ