Future World มกราคม 2560

Future World มกราคม 2560

ประเทศไทยกับการเตรียมพร้อมก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย

การเปลี่ยนแปลงสภาพโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Old Age Society) เป็นแนวโน้มสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โดยมีสาเหตุหลักมาจากอัตราการเพิ่มของประชากรที่ลดลงมากหลังจากยุค Baby Boomer และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์ที่ช่วยให้อายุเฉลี่ย (Life Expectancy) ของคนเราเพิ่มขึ้น โดยในกรณีของไทยนั้น อายุเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 60 ปีในปี 2515 มาอยู่ที่ประมาณ 74 ปีในปี 2557 (ผลการศึกษาของ World Bank) นอกจากนี้ ไทยยังมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นต่อประชากรทั้งหมดสูงขึ้น โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในอีก 5 ปีข้างหน้า จากเดิมที่อยู่ที่ประมาณ 10% ในช่วงประมาณปี 2548 (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในระยะเวลาอันใกล้

นอกจากการที่มีประชากรสูงวัยมากขึ้น ไทยยังมีสัดส่วนจำนวนผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) ต่อผู้สูงวัยต่อ 1 คน ลดลง โดยสัดส่วนดังกล่าวซึ่งอยู่ที่ 9.3 ในปี 2533 ลดลงมาอยู่ที่ 4.5 ในปี 2547 และยังมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องจนคาดว่าจะอยู่ที่ 1.7 คนในปี 2583 ในขณะที่ สัดส่วนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวตามลำพังในครัวเรือนก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากระดับประมาณ 4% ในปี 2537 มาอยู่ที่ 9% ในปี 2557 ซึ่งจากตัวเลขเหล่านี้ มันหมายความว่าในอนาคตผู้สูงวัยในประเทศไทยจำเป็นจะต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ดังนั้น การเตรียมความพร้อมและการสร้างรายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างคุณภาพชีวิตวัยเกษียณที่ดีในอนาคต

ถ้าเราจะวัดคุณภาพชีวิตของวัยเกษียณ ส่วนหนึ่งก็คือการมองว่ามีรายได้เพียงพอที่จะใช้จ่าย ซึ่งในแง่นี้ พบว่าในอดีต ผู้สูงวัยของไทยมีรายได้มากกว่าครึ่งมาจากบุตร แต่ในปี 2557 สัดส่วนรายได้จากบุตรนี้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียง 37% ในขณะที่รายได้จากการทำงานของผู้สูงวัยเองเพิ่มขึ้นจาก 29% มาเป็น 34% และยังมีผู้สูงวัยประมาณ 38% ที่ยังคงอยู่ในตลาดแรงงาน ซึ่ง 20 ปีก่อนหน้า ผู้สูงวัยที่ยังอยู่ในตลาดแรงงานอยู่ที่ประมาณ 30% เท่านั้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้สูงวัยต้องพึ่งพาตนเองโดยการกลับเข้ามาสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญก็คือแม้จะมีการกลับเข้ามาในตลาดแรงงานมากขึ้น แต่พบว่ามีเพียงประมาณ 64% ของผู้สูงวัยที่มีรายได้พอเพียงสำหรับการดำรงชีวิตในช่วงวัยเกษียณ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหารายได้ไม่เพียงพอในวัยเกษียณเกิดจากการที่คนไทยเราส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวางแผนการออมการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับวัยเกษียณ โดยจากสถิติพบว่ารายได้จากการออมหรือจากสินทรัพย์ของผู้สูงวัยในปัจจุบันนั้นอยู่ในระดับต่ำ หรือคิดเป็นประมาณ 4% ของรายได้ทั้งหมด โดยมีผู้สูงวัยเพียง 10% ที่มีเงินออมมากกว่า 1,000,000 บาท ในขณะที่อีก 24% ไม่มีการออมในรูปแบบใดเลย ดังนั้น หนึ่งในปัจจัยที่จะสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและสร้างความพอเพียงสำหรับวัยเกษียณ คือ การพัฒนานิสัยการออมและการลงทุนตั้งแต่ในช่วงวัยทำงาน

จากสถิติที่ผ่านมา ประเทศไทยมีสัดส่วนการออมภาคครัวเรือนต่อรายได้อยู่ที่ประมาณ 8-9% และในอดีตนั้นมากกว่า 80% จะเป็นการฝากเงินในบัญชีธนาคาร ซึ่งไม่อาจสร้างผลตอบแทนที่พอเพียงในระยะยาวได้ แต่ในช่วงหลังนี้ รูปแบบของการออมและลงทุนจะมีความหลากหลายขึ้น อันเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐที่ช่วยรณรงค์และจูงใจให้ประชาชนมีการออมระยะยาว ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ประกันชีวิตแบบบำนาญ รวมไปถึงกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) แต่อย่างไรก็ตาม การฝากเงินธนาคารยังคงมีสัดส่วนสูงถึง 41% ของการออมและการลงทุนภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ จำเป็นต้องใช้เวลาและความมีวินัยในการออม โดยนอกจากการออมภาคบังคับ (กองทุนประกันสังคมและกบข.) แล้วยังมีความจำเป็นที่จะต้องออมและลงทุนเพิ่มเติม รวมทั้งการเลือกรูปแบบการลงทุนและสัดส่วนการลงทุนในตราสารต่างๆ ในรูปแบบพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมเพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวที่พอเพียงและช่วยให้เราสามารถมีคุณภาพชีวิตในวัยเกษียณที่ดีได้ ซึ่งปัจจุบัน มีบริการและเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน เช่น การลงทุนในหุ้น / กองทุนแบบอัตโนมัติตามระยะเวลาที่กำหนด (Dollar Cost Average) แผนการลงทุนที่ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงอายุของผู้ลงทุน (Life Path) ซึ่งการวางแผนการลงทุนระยะยาวแบบสม่ำเสมอ (Investment Saving Plan) เหล่านี้ จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการทำให้เรามีชีวิตอย่างเกษียณสุข