งานเครียด......เสียชีวิตเร็ว?

งานเครียด......เสียชีวิตเร็ว?

ใกล้สิ้นปีก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้นั่งคิดทบทวนถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องการทำงาน สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ

พฤติกรรมในการทำงานของท่านในปีที่ผ่านมา (ทั้งในฐานะเจ้านายและลูกน้อง) ส่งผลต่อสุขภาพ และโอกาสในการเสียชีวิตที่เร็วกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่? ถ้าใช่ อย่าลืมปรับพฤติกรรมในการทำงานเสียใหม่นะครับในปีหน้า

เราอาจจะเคยได้ยินคนรอบๆ ตัวบ่นว่าทำงานหนักหรือทำงานมากจนจะใกล้ตายแล้ว ซึ่งหลายๆ ครั้งก็เป็นเสมือนคำเปรียบเทียบมากกว่า แต่จริงๆ แล้วเราจะเริ่มเห็นตัวอย่างของการทำงานจนเสียชีวิตกันมากขึ้น (โดยเฉพาะการฆ่าตัวตายเนื่องจากทำงานหนักหรือมากเกินไปในต่างประเทศ) แต่ล่าสุดได้มีงานวิจัยออกมาตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานกับอัตราการเสียชีวิตแล้ว

ผู้ที่ทำงานที่เครียดและไม่สามารถควบคุมต่องาน จะมีโอกาสที่จะเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่ทำงานแล้วสามารถควบคุมต่องาน (การควบคุมนั้น ทั้งอิสระในการตัดสินใจ ต่อกระบวนการ ต่อการกำหนดความสำคัญ ต่อความสำเร็จและผลลัพธ์) ง่ายๆ ก็คือการทำงานที่จะส่งผลทำให้ท่านมีโอกาสเสียชีวิตเร็วขึ้นนั้นจะต้องเป็นงานที่ท่านไม่สามารถที่จะควบคุมต่อทั้งความก้าวหน้า ความสำเร็จ หรือ ผลลัพธ์ของงานเลย และยิ่งเป็นงานที่เครียดและหนักเท่าไร และมีการควบคุมน้อยเพียงใด ก็จะยิ่งมีโอกาสเสียชีวิตเร็วขึ้น

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาที่จะตีพิมพ์ลงวารสาร Journal of Personnel Psychology ที่มีการศึกษาและติดตามต่อกลุ่มตัวอย่างจำนวน 10,000 คนที่จบจากมัธยมมาตั้งแต่ปี 1957 แล้วมีการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลมาเรื่อยๆ แล้วพบว่าสาเหตุหนึ่งที่สำคัญต่อโอกาสในการเสียชีวิตของกลุ่มเป้าหมายนั้นก็คือมาจากการทำงาน

ข้อสรุปที่ได้จากการศึกษานั้นพบว่างานที่เครียดนั้นส่งผลทั้งในทางบวกและทางลบต่อสุขภาพของคนทำงาน โดยถ้าเป็นงานที่เครียดและเมื่อจับคู่กับงานที่ไม่มีอิสระหรือเสรีภาพในการตัดสินใจ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนทำงาน (มีระดับการควบคุมที่ต่ำ) แต่ขณะเดียวกันถ้าเป็นงานที่เครียด แต่ถ้าพนักงานมีอิสระเสรีในการตัดสินใจกลับส่งผลดีต่อสุขภาพของพนักงาน

การที่ต้องทำงานภายใต้ภาวะที่กดดันและขาดอิสระในการตัดสินใจนั้น ไม่ได้ทำให้พนักงานเสียชีวิตโดยฉับพลันทันทีหรอกนะครับ แต่ส่งผลต่อสุขภาพในด้านต่างๆ ที่ทำให้พนักงานมีโอกาสที่จะเสียชีวิตมากขึ้น เช่น เรื่องของความอ้วน ซึ่งผู้ทำวิจัยชิ้นดังกล่าวพบว่า เมื่อพนักงานขาดทรัพยากรหรืออำนาจในการตัดสินใจในงานที่เครียดและกดดัน พนักงานก็จะหันไปทำอย่างอื่นที่คลายเครียด ไม่ว่าจะเป็นการรับประทาน หรือ การสูบบุหรี่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทางออกในการบรรเทาความเครียดที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้การศึกษาดังกล่าวยังพบด้วยนะครับว่าผู้ที่ต้องทำงานที่เครียดและไม่สามารถควบคุมต่องานได้นั้นมักจะเป็นผู้ที่มีน้ำหนักเกินเป็นส่วนใหญ่ (ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่น้ำหนักเกินจะมาจากการทำงานท่ีเครียดและควบคุมไม่ได้นะครับ)

มีคำแนะนำถึงบรรดาผู้บริหารหรือเจ้านายที่ไม่อยากจะเห็นลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานมีโอกาสเสียชีวิตเร็วกว่ากำหนด นั้นคือ จะต้องให้อิสระหรือโอกาสในการมีส่วนร่วมแก่พนักงานในการตั้งเป้าหมายในการทำงาน (ไม่ใช่กำหนดเป้าให้เสร็จแบบห้ามต่อรอง) หรือให้อิสระในการกำหนดระยะเวลาการทำงาน หรือ อิสระในการกำหนดขั้นตอน วิธีการทำงาน หรือ ให้อิสระในการตัดสินใจ ฯลฯ

อย่างไรก็ดีใช่ว่าจะให้ผู้บริหารทำให้พนักงานมีแต่ความสุขอย่างเดียวโดยไร้ความเครียดนะครับ (อันนั้นจะเป็นพวกสุขนิยม) เพราะงานวิจัยชิ้นดังกล่าวยังพบอีกว่าการใส่ความเครียดเข้าไปในการทำงานยังทำให้สมองตื่นตัว และการตื่นตัวของสมองดังกล่าวก็จะนำไปสู่ผลการทำงานที่ดีขึ้น

งานที่มีความเครียดเป็นสิ่งที่ช่วยในการกระตุ้นให้พนักงานเกิดพลังงานในการทำงานได้ แต่ที่สำคัญคือจะต้องให้อิสระกับพนักงานพอสมควรในการควบคุมต่อความสำเร็จหรือผลลัพธ์ของงานดังกล่าว ไม่ใช่แบบที่เราเห็นในหลายๆ องค์กรในไทย ที่ชอบตั้งเป้าหมายในการทำงานที่ท้าทายให้กับลูกน้อง แต่ไม่ได้ทรัพยากร หรือ งบประมารณ หรือ มีระบบที่ให้อิสระในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าดังกล่าวเลย