เอสเอ็มอีกับการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

เอสเอ็มอีกับการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

เรื่องของธุรกิจกับการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญที่ได้รับการส่งเสริมมากขึ้นในปัจจุบัน

เนื่องจากธุรกิจและอุตสาหกรรม เคยได้ชื่อว่า เป็นผู้มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และไม่เฉพาะกับการให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางแบบเอสเอ็มอี ก็อยู่ในข่ายที่จะต้องให้การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีจำนวนมากถึงกว่า 90% ของธุรกิจโดยรวม

เอสเอ็มอี อาจช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้หลายวิธี แต่ที่สำคัญและจะให้ผลที่ดีที่สุดก็คือ การมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของเจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอีนั่นเอง

แนวคิดดั้งเดิมที่ว่า การมีใจเพื่อช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นั้นเป็นค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ไม่อาจนำมาใช้เป็นเหตุผลต่อไปได้ เนื่องจากผลกระทบจากการทำลายสิ่งแวดล้อมได้เกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจนได้ในขณะนี้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเสียหรือมลพิษออกสู่บรรยากาศ การขาดแคลนแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ในกระบวนการผลิต การขาดแคลนหรือลดลงของปริมาณวัตถุดิบจากธรรมชาติ ฯลฯ จะคอยเตือนให้ผู้ประกอบการธุรกิจต้องหันมาแสดงความรับผิดชอบและเอาใจใส่กับเรื่องของสภาวะแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ธุรกิจในระดับเอสเอ็มอี อาจเริ่มต้นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้โดยการเริ่มต้นดำเนินการในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เช่น

1.ดำเนินธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือกฎระเบียบที่ทางการกำหนดไว้ในเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์พลังงาน

2.ดำเนินการตามข้อแนะนำหรือแนวปฏิบัติของสมาคม องค์กรอุตสาหกรรม หรือองค์กรด้านธุรกิจ ที่อาจกำหนดมาตรการเฉพาะสำหรับแต่ละธุรกิจที่ต้องปฏิบัติในเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติ พลังงาน หรือสิ่งแวดล้อม ที่นอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย

3.ทำการเก็บข้อมูลการใช้งาน เพื่อนำมาประเมินผลกระทบเบื้องต้นที่ธุรกิจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยมลพิษ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานที่สิ้นเปลือง การใช้น้ำ และการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ

4.จัดทำแนวทางการลดระดับผลกระทบในด้านต่างๆ จากข้อมูลที่เก็บบันทึกไว้ และจัดทำเป้าหมาย หรือ ตัวชี้วัด (KPI) สำหรับการลดผลกระทบ และใช้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายทางธุรกิจ

5.จัดทำกิจกรรมส่งเสริมให้พนักงานและผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจ ให้เห็นเจตนารมณ์ของบริษัทในการร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมและการไม่สร้างมลภาวะขึ้นในกระบวนการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มของ พนักงาน คู่ค้า หรือ ลูกค้า เป็นต้น

6.มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิธีการ หรือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการแสดงความรับผิดชอบในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ร่วมกับชุมชน องค์กรภาคประชาสังคม หรือแม้กระทั่ง การเข้าช่วยเหลือให้คู่ค้าและลูกค้า ในการสร้างระบบการทำงานที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหรือมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ

7.ให้ความสนใจเกี่ยวกับการใช้พลังงานในการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้ไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิงในการผลิต การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการขนส่งวัตถุดิบและสินค้า การเดินทางติดต่อธุรกิจทั้งทางรถ เรือ และเครื่องบิน การใช้เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ และหามาตรการควบคุมเพื่อลดการใช้พลังงานเหล่านี้

8.ลดของเสียในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องนำมาทิ้งเป็นขยะจากกระบวนการหรือขยะอุตสาหกรรม

9.หาวิธีการทำซ้ำ ใช้ซ้ำ หรือ รีไซเคิล วัสดุต่างๆ ที่ใช้ในธุรกิจให้มากที่สุด รวมถึง การใช้กระดาษในสำนักงาน รวมถึงการพิจารณาเลือกใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องส่งไปกำจัด 

10.ใช้วัสดุหรือวัตถุดิบทดแทนการใช้สารเคมีที่ระเหยง่าย ตัวทำละลาย หรือวัตถุดิบที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรป่าไม้ หรือ วัตถุดิบที่ต้องใช้กระบวนการผลิตหรือตกแต่งคุณภาพที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

วิธีการดังเกล่าวนี้ เป็นวิธีการที่ธุรกิจในระดับเอสเอ็มอีสามารถทำได้ โดยเริ่มต้นจากสิ่งที่เห็นว่าสามารถนำไปปฏิบัติในธุรกิจของตนเองได้ทันทีก่อน แล้วค่อยขยายขอบเขตกิจกรรมออกไป จนครบ 10 ขั้นตอนตามที่ได้เสนอไว้ดังกล่าว