'ควันไฟ' เริ่มมา!

'ควันไฟ' เริ่มมา!

แม้ “เศรษฐกิจไทย” ช่วงปลายปี 2559 จะเริ่มมี “สัญญาณดีขึ้น” โดยเฉพาะการ “ส่งออก”

 ที่กลับมาโตถึง 10.2% เป็นการเติบโต เลขสองหลัก ครั้งแรกในรอบหลายปี แต่หากถามคนในแวดวงเศรษฐกิจแล้ว ยังไม่มีรายไหนให้ความมั่นใจได้เลยว่า เศรษฐกิจไทย กำลังเข้าสู่ภาวะขาขึ้นอย่างเต็มตัว

นักเศรษฐศาสตร์ มองว่า สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจไทย ปี 2560 ไม่ต่าง ไปจากปีที่แล้วมากนัก ซ้ำร้ายอาจมี ความผันผวน ที่มากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลก

..ภาษา “แบงก์ชาติ” เรียกภาวะ “VUCA”(วูคา) คือ มีทั้ง ความผันผวน(Volatility) ความไม่แน่นอน(Uncertainty) ความซับซ้อน(Complexity) และความไม่ชัดเจน(Ambiguity) ที่สูงมากขึ้น

ภาวะวูคาที่ว่านี้ มาจากทั้ง นโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐ ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปยังการค้าโลก ตลอดจนผลจาก “เบร็กซิท” ซึ่งน่าจะเห็นความชัดเจนที่มากขึ้นในปีนี้ รวมทั้งปัญหาภาคการเงินใน “จีน” ที่ไม่รู้จะระเบิดออกมาเมื่อไหร่

นอกจากนี้้ สถานการณ์การเมืองโลก ยังมีเรื่องให้ต้องติดตามอีกมากมาย ทั้งการเลือกตั้งใน “ฝรั่งเศส” และ “เยอรมัน” ซึ่งพร้อมจะสร้างความผันผวนในตลาดการเงินโลกได้ทุกเมื่อ

ที่สำคัญ.. การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจกระทบต่อสภาพคล่องในตลาดเงินทั่วโลก 

เฟด ส่งสัญญาณว่า จะขึ้นดอกเบี้ยในปี 2560 รวม 3 ครั้ง ..ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง จะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ขยับขึ้นมาที่ 1.25-1.5% ใกล้เคียงดอกเบี้ยนโยบายของไทยซึ่งอยู่ที่ 1.5%

ส่วนต่างดอกเบี้ยที่แคบลง เงินทุนก็พร้อมจะ “ไหลออก” ได้ทุกเมื่อ ..เงินทุนที่ไหลออก ทำให้สภาพคล่องในระบบตึงตัวขึ้น กระทบต่อต้นทุนการเงินของภาคเอกชนที่ปรับขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ มั่นใจว่า ถ้าเป็นสภาพคล่องเงินบาท ไม่น่าห่วง เพราะแบงก์ชาติเป็นผู้กุมสภาพคล่องส่วนนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นสภาพคล่องเงินดอลลาร์ ก็ต้องขึ้นกับแต่ละประเทศว่ามีฐานะต่างประเทศเข้มแข็งแค่ไหน ..สำหรับไทยแล้ว แบงก์ชาติ บอกว่า ไร้ปัญหา

แม้สภาพคล่องเงินบาทในระบบเศรษฐกิจจะไม่มีปัญหา แต่ไม่ได้หมายความว่าสภาพคล่องตัวธุรกิจจะไม่มีปัญหาด้วย เพราะต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น ทำให้การระดมทุนยากขึ้น บริษัทที่เคยออกหุ้นกู้หรือตั๋วแลกเงิน(บี/อี) แบบชิลๆ ออกมาใครๆ ก็ซื้อ ภาพแบบนี้อาจมีให้เห็นน้อยลง

ยิ่งเวลานี้เริ่มเห็น ตั๋วบี/อี ผิดนัดชำระหนี้(Default) บ้างแล้วในภาคอสังหาริมทรัพย์ ..ที่สำคัญเป็นการ Default จากภาวะธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ผู้ลงทุนต้องหันมาทบทวนตัวเองมากขึ้นว่ายัง “ชิลๆ” อยู่หรือไม่

ระยะหลังหุ้นกู้ที่ไม่มีเรทติ้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดขยับขึ้นมาแตะ 4.5% ของจำนวนหุ้นกู้ทั้งหมด เมื่อมีรายหนึ่งเกิด Default ย่อมกระทบความเชื่อมั่นที่มีต่อรายอื่นๆ จึงเริ่มมีคำถามว่า ปัญหาเหล่านี้จะสร้างความเสี่ยงเชิงระบบหรือไม่

เข้าใจว่า แบงก์ชาติคงเห็น ควันไฟบ้างแล้ว ..เพียงแต่เครื่องมือที่เตรียมไว้จะ ดับไฟได้ทันและ ป้องกันไม่ให้ลุกลามได้หรือไม่เท่านั้น!!