สิงคโปร์‘คนป่วยแห่งเอเชีย’?

สิงคโปร์‘คนป่วยแห่งเอเชีย’?

“คนป่วยแห่งเอเชีย” หรือ “Sick Man of Asia” เป็นสมญานามอัปยศ ที่เคยถูกใช้เรียกขาน ประเทศจีน เมื่อราว 100 ปีที่แล้ว

เมื่อประเทศจีน ได้ประสบปัญหาภายใน มีการแตกแยก จนกระทั่งถูกเอาเปรียบ โดยชาติมหาอำนาจจากโลกตะวันตกและประเทศญี่ปุ่น ต้องถูกกดขี่ให้ลงนามในสนธิสัญญาที่ไร้ความเสมอภาค (Unequal Treaties) กับประเทศเหล่านั้น

ไม่กี่ปีมานี้ ฟิลิปปินส์ เป็นอีกชาติ ที่ได้ถูกขนานนามว่าเป็น คนป่วยแห่งเอเชียรายใหม่ จากปัญหาคอร์รัปชันและความไม่เท่าเทียมของชนชั้นภายในประเทศ

แต่ใครจะเชื่อว่า สิงคโปร์ กำลังมีโอกาสที่จะเป็นผู้ได้รับสมญานาม คนป่วยแห่งเอเชียรายล่าสุด

ล่าสุดได้มีบทความบนหนังสือพิมพ์ สเตรทส์ไทม์สของสิงคโปร์ ซึ่ง “ผู้เขียน”ที่มีศักดิ์เป็นถึงขั้นทูต ได้มาตั้งคำถามว่า “สิงคโปร์ คือ คนป่วยแห่งเอเชีย รายใหม่หรือไม่”

โดยได้กล่าวถึงสถานภาพของระบบเศรษฐกิจในสิงคโปร์ปัจจุบัน นั่นคือ การขยายตัวถูกจัดอยู่ในอัตราต่ำอย่างเป็นประวัติการณ์ ที่ 1.4% จะมีเพียงไต้หวัน ในเอเชีย ที่ขยายตัวต่ำกว่า ที่ 1.1% ปัจจุบันขวัญและกำลังใจของภาคธุรกิจสิงคโปร์ได้ตกต่ำ อย่างที่ไม่เคยมีมา มีธุรกิจที่ผู้เขียนรู้จักก็ได้ปิดตัวลง

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็ไม่ได้มีความย่อท้อและได้กล่าวถึง ปัจจัยที่เชื่อว่าจะทำให้สิงคโปร์สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ ซึ่งได้แก่

การที่ปราศจากคอร์รัปชัน 

การที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยมระดับโลก

การที่มีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ

การที่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและตั้งใจทำงาน

การที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจของภูมิภาคอาเซียน

การที่ประชาชนมีความรู้ในเทคโนโลยีดิจิทัลและพร้อมจะเปลี่ยนแปลงสิงคโปร์เป็นประเทศ Smart Nation

การที่มีวัฒนธรรมที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีเพื่อผลักดันให้ประเทศไปข้างหน้า

นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงคุณภาพของการศึกษาในสิงคโปร์ โดยเฉพาะที่นักเรียน ป.2 และ ป.4 ได้คะแนนอันดับหนึ่งของโลกในด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในขณะที่นักเรียนอายุ 15 ปี ได้คะแนนอันดับหนึ่งของโลกในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ การอ่าน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยของสิงคโปร์ยังถูกจัดเป็นอันดับ 1 และ 2 ของเอเชีย

คงไม่ต้องพูดถึง การจัดอันดับด้านอื่นๆ ที่มีชื่อสิงคโปร์ ปรากฏอยู่ในอันดับ 1 หรือ 2 ของโลก

หลังจากอ่านบทความของ สเตรทส์ไทม์สแล้ว ก็จะต้องเชื่อตามผู้เขียนว่า สิงคโปร์ย่อมไม่ใช่คนป่วยถาวรแห่งเอเชียอย่างแน่นอน และมีความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยม ที่จะก้าวข้ามวิกฤติการณ์อย่างชั่วคราวในครั้งนี้ไปได้

แต่ที่สำคัญ ความแข็งแกร่งและความภาคภูมิใจของสิงคโปร์ ล้วนเป็นความใฝ่ฝันของหลายคนในประเทศไทย รวมทั้งยุทธศาสตร์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีดิจิทัล ความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ฯลฯ

ความแตกต่าง คือการที่ชาติสิงคโปร์ ได้สะสมสิ่งเหล่านี้มาหลายทศวรรษ ด้วยความต่อเนื่องของนโยบายและความชัดเจนของยุทธศาสตร์

สิ่งสุดท้าย ที่บทความนี้ได้กล่าวถึง คือความโชคดีของสิงคโปร์ ที่สามารถเป็นจุดเชื่อมโยง 3 ภูมิภาคที่เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกมนุษย์ นั่นก็คือ จีน อินเดีย และอาเซียน

สำหรับผู้อ่านสัญชาติไทยหลายคน อาจไม่แปลกใจ และเห็นด้วยเช่นกันว่า ความโชคดีดังกล่าว ประเทศไทยก็มี ทั้งยังอาจมีข้อได้เปรียบยิ่งกว่าสิงคโปร์อีก

หลายครั้ง ได้ฟังคนไทยวิจารณ์ชาติตัวเอง แต่นานครั้งได้มาฟังชาวต่างชาติวิจารณ์ชาติของเขา โดยเฉพาะชาติที่อาจเป็นคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์ ทำให้ได้สะท้อนถึงแง่มุมต่างๆ ทั้งยังน่าอัศจรรย์ใจ ที่จุดแข็งและยุทธศาสตร์ต่างๆ ของสิงคโปร์ ก็ไม่ได้แตกต่างกับสิ่งที่นักธุรกิจชาวไทยได้เรียกร้องให้ประเทศไทยมีเช่นกัน

จึงหวังเพียงว่า ปี 2017 จะยังคงเป็นปีแห่งพัฒนาการที่ดีของประเทศต่อไป แต่การจะไล่ทันสิงคโปร์ ซึ่งควรจะเป็นเป้าหมายของประเทศ ยังต้องอาศัยความเข้มข้น เข้มแข็งอย่างไม่ธรรมดา เพราะเขาได้เริ่มก่อนเรามาเป็นทศวรรษแล้ว