แนวโน้มเศรษฐกิจโลก และ เศรษฐกิจไทย ปี พ.ศ. 2560 ตอนที่ 2(จบ)

แนวโน้มเศรษฐกิจโลก และ เศรษฐกิจไทย ปี พ.ศ. 2560 ตอนที่ 2(จบ)

ภาคการบริโภคอาจอ่อนแอลงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 จากนโยบายการกระตุ้นการบริโภคในช่วงที่ผ่านมา มาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวในประเทศ

จะส่งกระตุ้นเศรษฐกิจได้ยาวนานกว่า การกระตุ้นการบริโภค เพราะการซื้อสินค้าหากซื้อตุนไว้มากๆในช่วงลดหย่อนภาษี ระยะต่อไป การซื้อสินค้าที่อยู่ใน stock มากๆจะชะลอตัวทันทีครับ การทำให้ภาคบริโภคฟื้นตัวอย่างมั่นคงและยั่งยืนกว่า คือ การทำอย่างไรให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลิตภาพที่ดีขึ้น และ จากการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น ทำอย่างไรให้มีความมั่นคงในงาน มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยและประเทศมากขึ้น ลดอำนาจผูกขาดให้ประชาชนซื้อสินค้าและบริการในราคาที่เป็นธรรมจากการแข่งขันที่เหมาะสม มาตรการลดหย่อนภาษีหากหวังให้คนเข้าสู่ระบบภาษี ต้องมีมาตรการอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย

     นโยบายที่มีความสำคัญของรัฐบาลได้มีการเร่งรัดและทำให้เกิดคืบหน้ามากขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2559 คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาท ครอบคลุม 20 โครงการ อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง 4 โครงการงบประมาณประมาณ 45,000 กว่าล้านบาท 4 โครงการนี้ รัฐบาลต้องคอยติดตามกำกับดูแลเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย เกิดประสิทธิภาพ ลดความรั่วไหล นอกนั้นอีก 10 กว่าโครงการ อยู่ในขั้นตอนประกวดราคาประมาณ 9 โครงการ ต้องดูแลให้ประกวดราคาอย่างโปร่งใส ไม่มีการฮั้วกัน ใครเสนอสิ่งที่ดีที่สุดกับประเทศ และ เป็นประโยชน์กับประชาชนให้เลือก บริษัท นั้นมาทำงาน ขั้นตอนในการศึกษาอีก 2-4 โครงการ โครงการพวกนี้ต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ ไม่ใช่ลงทุนไปแล้ว ขาดทุนอย่างหนักเพราะมีคนใช้บริการน้อยมาก ไม่คุ้มค่าในการลงทุน ก่อให้เกิดภาระทางงบประมาณจำนวนมาก มีค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนมากมาย แทนที่จะเอางบประมาณส่วนนี้ไปทำอย่างอื่น เช่น ระบบการศึกษา การวิจัย การบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น ส่วนอีก 3 โครงการอยู่ในระหว่างการนำเสนอ ครม เช่น โครงการรถไฟรางคู่ นครปฐม หัวหิน โครงการรถไฟรางคู่ ลพบุรี ปากน้ำโพ โครงการรถไฟสายสีม่วง วงเงิน 3 โครงการนี้ประมาณ 1.75 แสนล้านบาท หากสามาถเร่งรัดให้เป็นไปตามกรอบเวลาก็ช่วงกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานปีหน้าได้ และ ทำให้ต้นทุนโลจีสติกส์และขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้นในระยะยาว แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่า โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจพวกนี้ คือ การลงทุนในคน การยกระดับคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ของไทย

      ส่วนการอัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ 2-3%ในปีหน้า และ การนำเข้าอยู่ที่4-5% ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลมากจากรายได้การท่องเที่ยว เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิต่อเนื่อง ตลาดการเงินโลกและไทยจะเผชิญกับจุดเปลี่ยนของนโยบายการเงินจากยุคสมัยดอกเบี้ยต่ำและการผ่อนคลายทางการเงินมากเป็นพิเศษหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกเมื่อปี พ.ศ. 2551-2552 มาเป็น ยุคสมัยอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ในส่วนของเงินบาทน่าจะอ่อนค่าต่อเนื่องโดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 34-37 แม้นจะเกินดุลการค้าแต่เงินทุนเคลื่อนย้ายยังคงไหลออกสุทธิจากการออกไปลงทุนมากขึ้นของนักลงทุนและบริษัทสัญชาติไทยในต่างประเทศ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยน่าจะสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ได้หากสหรัฐอเมริกาไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงเกินไปและทำให้เม็ดเงินในตลาดการเงินไหลกลับสหรัฐฯจำนวนมาก อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้น อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะสาขาที่เทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนการทำงาน ขณะที่ไทยยังคงมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านช่วงเทคนิคและแรงงานระดับล่างต่อไป และ เรายังไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้

     อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นต่อเนื่องยังไม่สามารถเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากขาดนวัตกรรม ระบบการศึกษา ระบบวิจัย คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ยังคงอ่อนแอ จึงมีเพดานจำกัดในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะปานกลางและระยะยาว นอกจากนี้ยังไม่ได้เป็นประเทศที่มีระบบนิติรัฐและนิติธรรมเข้มแข็งนัก ขาดยุทธศาสตร์ในการบูรณาการทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ประเทศที่ชัดเจน แม้นมียุทธศาสตร์ก็ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดขึ้นจริง

     ขณะที่ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ลดเหลื่อมล้ำยังไม่ดีนักและมีแนวโน้มแย่ลงได้อีกหากยังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยมาตรการประชานิยมระยะสั้นเพราะจะสร้างวัฒนธรรมอุปถัมภ์เป็นอุปสรรคต่อความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

    มีข้อเสนอแนะในทางนโยบายต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้

     ข้อแรก แรงกดดันจากลัทธิกีดกันทางการค้าเพิ่มสูงขึ้น ระบบการค้าพหุภาคีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอ่อนแอลงในบางภูมิภาค พลวัตนี้เป็นความเสี่ยงต่อภาคการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย ขณะเดียวกันทำให้เกิดโอกาสของการเปิดเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีในระดับทวิภาคีเพิ่มขึ้น รัฐควรเร่งกำหนดทบทวนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ วางยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อให้ “ไทย” พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน

     ข้อสอง ต้องเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยมาตรการประชานิยมระยะสั้น มาเป็น ระบบสวัสดิการโดยรัฐที่มีประสิทธภาพและมีความยั่งยืนทางการเงินการคลัง

     ข้อสาม เร่าดำเนินการปฏิรูปการศึกษาและระบบวิจัย ตาม ยุทธศาสตร์แผนการศึกษาชาติ 15 ปี และ แผนยุทธศาสตร์ฉบับ 8 ของสภาวิจัยแห่งชาติ

     ข้อสี่ เพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณพร้อมกับเร่งให้เกิดความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งคมนาคม และ ระบบบริหารจัดการน้ำ

     ข้อห้า ใช้มาตรการภาษี มาตรการการเงิน มาตรการลงทุนทางด้านวิจัย มาตรการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ภาคส่งออกไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกและสามารถแข่งขันได้

     ข้อหก พัฒนาระบบนิติรัฐให้เข้มแข็งโดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการค้า การลงทุนและการแข่งขันที่เป็นธรรม มีความคงเส้นคงวาของการดำเนินนโยบาย สร้างระบบธรรมาภิบาล ขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การติดสินบน ลดขั้นตอนในการทำงานและลดอำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ลดต้นทุนของภาคธุรกิจอันเกิดจากความประสิทธิภาพและความล่าช้าของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ

     ข้อเจ็ด ปรับขนาดของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจให้ลดลง (Smaller Government) และ เพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น จ่ายค่าตอบแทนให้สูงขึ้นในระดับเดียวกับเอกชน ทำให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) ในกิจการที่เอกชนทำได้ดีกว่าและบรรลุภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

     ข้อแปด ส่งเสริมให้มีการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมผ่านกลไกประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง และ เพิ่มอำนาจให้กับคนที่มีอำนาจน้อยเพื่อให้เกิดดุลยภาพทางอำนาจของกลุ่มต่างๆในสังคม สิ่งนี้จะนำมาสู่การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมต่างๆ

      ข้อเก้า นโยบายต่อภาคเกษตรกรรม มีมาตรการเพิ่มผลิตภาพ มาตรการลดต้นทุน มาตรการทางการตลาด ควรมีการกำหนดการเพดานการถือครองที่ดินและจัดตั้ง ธนาคารที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

      ข้อสิบ ควรมีการทบทวนเพื่อให้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำอย่างเหมาะสม ปรับเปลี่ยน “กองทุนประกันสังคม” ให้เป็นองค์กรมหาชน จัดตั้งธนาคารเพื่อผู้ใช้แรงงานโดยให้กองทุนประกันสังคมถือหุ้น

      ข้อสิบเอ็ด เร่งรัดการก่อหนี้เพื่อนำมาลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ศึกษาและพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยน หน่วยงานจัดเก็บภาษี จากหน่วยงานราชการ มาเป็น องค์กรมหาชน ภายใต้การกำกับของรัฐบาล

      ข้อสิบสอง ดำเนินการเพื่อให้ “ประเทศไทย” กลับคืนสู่ประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งตามโรดแมฟ หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาต้องมีคำอธิบายที่มีเหตุผลเพื่อไม่กระทบต่อความเชื่อมั่น หากทำไม่ได้จะกระทบภาคการลงทุนอย่างมากโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ