R&D ไทยสู่ยุค Thailand 4.0

R&D ไทยสู่ยุค Thailand 4.0

ท่านนายกตู่บอกว่า ขณะนี้ประเทศไทยติดอยู่ที่ Thailand 3.0 โดยที่ยุค 1.0

เป็นยุคเกษตร ยุค 2.0 เป็นยุคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก พอถึงยุคนี้เป็นยุคที่มีอุตสาหกรรม แต่เรายังไม่เข้มแข็งและไม่ได้เตรียมมาตรการลดความเสี่ยงจากภายนอก มิติสังคมหายไปและเสียสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม ยุคต่อไปรัฐบาลนี้อยากจะพาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ซึ่งเราต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ทั้งระบบทุกมิติ อีกทั้งยังเสนอ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่

(1) กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และไบโอเทคโนโลยี

(2) กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ

(3) กลุ่มอุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม

(4) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล พัฒนาระบบการสื่อสารและเทคโนโลยีสมัยใหม่ และ

(5) กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการเพิ่มมูลค่าการบริการ เพื่อให้ถึง Thailand 4.0 ซึ่งเป็นสถานภาพที่ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง เราต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ จากการผลิตโดยใช้แรงงาน เครื่องจักร และทรัพยากร เป็นการผลิตบนฐานความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี การพัฒนาภาคบริการ รวมทั้งต้องมีการปฏิรูปการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) แถมรัฐบาลยังต้องการจะดึงสถาบันวิจัยระดับโลกเข้ามาตั้งในประเทศไทย

ที่ผ่านมา R&D ของไทยตั้งแต่สมัย Thailand 1.0 มาถึง 3.0 เป็นอย่างไร ในยุคแรก งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยภาคเกษตรผลิตในกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งเน้นหนักที่ข้าว ต่อมาเมื่อการเกษตรขยายตัวไปสู่พืชไร่ได้มีการใช้บุคลากรในมหาวิทยาลัย โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นหัวหอก ทำข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 1 มันสำปะหลัง KU 50 ฯลฯ ทำให้การวิจัยภาคเกษตรก้าวหน้าไปอีกมาก การวิเคราะห์โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เสนอในรายงานโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (NRU) พบว่าโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจถึงกว่า 10,415 ล้านบาท โครงการมันสำปะหลังสร้างมูลค่ากว่า 48,000 ล้านบาท 

ล่าสุดงานวิเคราะห์เบื้องต้นของนายณัฐพล อนันต์ธนสาร นักวิจัยของมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ พบว่า ผลการวิจัยและพัฒนาการตรวจสอบเชื้อโรคในกุ้งโดยคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลที่มี ศ.ดร.ทิมโมที เฟลเกล เป็นนักวิจัยหลักในขณะนั้น ดร.วรรณสิกา เกียรติปฐมชัย หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.ดร.ไพศาล สิทธิกรกุลมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าสุทธิกว่า 90,000 ล้านบาท ดังนั้น จริงๆ แล้ว Thailand 3.0 ก็ได้รับอานิสงส์จากวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรมามากแล้ว

การศึกษาในต่างประเทศ พบว่า งานวิจัยสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้แต่ต้องใช้เวลา ในสหรัฐอเมริกาพบว่า งานวิจัยที่ผลิตขึ้นจะใช้เวลา 7 ปีในการนำสู่เชิงพาณิชย์ และอีก 8 ปีก่อนที่เทคโนโลยีที่ผลิตจะถูกแทนที่โดยเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า เช่น ในด้านเกษตรของไทย เมล็ดพันธุ์สุวรรณ 1 ก็ถูกแทนที่ด้วยเมล็ดพันธุ์ไฮบริดของเอกชน จึงทำให้ผลตอบแทนรวมแล้วต่ำกว่ามันสำปะหลัง ดังนั้นเทคโนโลยีจึงต้องอาศัยการลงทุนค้นคว้าหาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง การวิเคราะห์ผลตอบแทนจากงานวิจัยของรัฐระดับนานาชาติพบว่า ภาคเกษตรและสุขภาพมักมีอัตราผลตอบแทนที่เห็นได้ชัดเจนและอยู่ในระดับสูง และผลพวงส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร

Thailand 4.0 จึงยังต้องมีการวิจัยภาคเกษตรในต่อไป จะเรียกว่า R&D for bio-based economy 4.0 ก็คงได้ เพราะเรื่องวัตถุดิบต้องยกระดับขึ้นไปวิจัยในระดับยีนส์หรือพันธุกรรม และต้องมีปฏิรูปโครงสร้างการวิจัยและการบูรณาการระหว่างหน่วยงานเหมือนกัน

การวิจัยและพัฒนาในภาคเกษตรสำหรับ Thailand 4.0 จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่ามีการกำหนดยุทธศาสตร์วิจัยสำหรับเกษตร 4.0 อย่างไร เพื่อตอบคำถามนี้ รัฐบาลก็น่าจะมี Vision ของภาคเกษตร 4.0 ก่อนด้วยในอนาคต ภาคเกษตรของเราน่าจะมีการใช้เครื่องจักรกลมากขึ้นแน่นอน รวมทั้งโดรนอีกด้วย ซึ่งจะทำให้การส่งออกพืชมูลค่าสูง เช่น ผลไม้ สมุนไพรมากขึ้น เดี๋ยวนี้คนงานในไร่นาและสวนขนาดใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติเกือบทั้งสิ้น Thailand 4.0 คงแทบจะหาคนงานไทยในไร่นาเรือกสวนไม่ได้แล้ว การเก็บเกี่ยวทุเรียนในภาคเกษตร 4.0 คงไม่ต้องใช้คนปีนไปเก็บทุเรียนแล้วมีอีกคนถือกระสอบวิ่งรอรับอยู่ข้างล่าง เราคงต้องใช้ Robot อยู่บนรถกระเช้ายกและใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตรวจสอบความสุกของทุเรียนแล้วปลิดเพื่อนำมาใส่เข่งพลาสติก แยกระดับความสุก

ซึ่งขณะนี้ ศ.ดร. โมไนย ไกรฤกษ์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ค้นพบวิธีตรวจวัดความอ่อนแก่ของทุเรียนโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าดังที่กล่าวมาแล้วสามารถใช้ในการตรวจทุเรียนส่งออก ซึ่งช่วยลดต้นทุนการคัดความอ่อนแก่ของทุเรียนให้กับผู้ส่งออกได้จำนวนมาก ซึ่งนายอรรถพันธ์ สารวงศ์ นักวิจัยของมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ได้วิเคราะห์ผลความคุ้มค่าในเบื้องต้น พบว่า การลงทุนวิจัย 1 บาทสามารถสร้างผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจได้ถึง 10.35 บาท ในลำดับถัดไปก็ต้องพัฒนาการตรวจให้เป็นระดับ mass มากขึ้น มีระบบอัตโนมัติคัดแยกทุเรียนที่อ่อนออกไป ในอนาคตทุเรียนและกะทิก็น่าส่งออกเป็นผงแล้วมาผสมเป็นพูก่อนบริโภคในทำนอง Instant Durian ได้

พืชอื่นๆ ที่น่าสนใจก็ยังมี เช่น มะพร้าวก็เป็นสินค้าที่ควรพัฒนา R&D มากขึ้น เพราะศักยภาพในฐานะพืชส่งออกสูงมาก เราน่าจะภูมิใจว่าเราประสบความสำเร็จในการใช้ลิงเก็บมะพร้าวมานานแล้ว ในขณะที่ประเทศอื่นในมหาสมุทรแปซิฟิกจะเก็บมะพร้าวได้ก็ต่อเมื่อมะพร้าวแก่จนตกมาเอง ประเทศเหล่านั้นจึงขายได้ จึงไม่มีศักยภาพส่งออกน้ำมะพร้าวอ่อนเช่นไทย เราควรมีการวิจัยพัฒนาส่งทุเรียนและมะพร้าวอ่อนแบบไร้เปลือก รวมไปถึงการศึกษาการสร้าง Technology Cold Chain Logistics ในประเทศเพื่อส่งขายทั่ว ASEAN ก่อน รวมไปถึงจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง ในเรื่องกุ้งต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ขั้นสูงที่เป็น Basic Research โดยให้มหาวิทยาลัยมหิดลหาวิธีทำให้กุ้งเป็นตัวเมียมากกว่าตัวผู้เพราะตัวเมียโตเร็วกว่าตัวผู้ ซึ่งจะได้ต้นทุนที่ถูกกว่า

วิธีทำต้องศึกษาวิธีเลือกโครโมโซมของกุ้งชุดที่จะให้ลูกตัวเมียทั้งหมดออกมาให้ได้ งานวิจัยเปิดพรมแดนเช่นนี้และโรคอุบัติใหม่ต้องอยู่ในมหาวิทยาลัย ส่วนกรมกองของกระทรวงให้ทำด้านการขยายผล (Multiplication) และติดตามปัญหาภาคการผลิตต่อไป แต่หมายความว่าในอนาคตการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงกับมหาวิทยาลัยควรจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การลงทุนวิจัยก็น่าจะหลากหลายไปมากกว่าข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา

หากรัฐบาลคิดจะเพิ่มทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ถึงเป้าหมาย Thailand 4.0 จริง ก็ควรหากลไกใหม่ที่จะมาขับเคลื่อนวิจัยให้เกิดผล ความเห็นในภาควิชาการและเอกชนก็คือ ให้มีกองทุน R&D ที่บริหารโดยภาคเอกชนเป็นหลัก ซึ่งเงินเข้ากองทุนอาจมาจากการเก็บอากรส่งออกร้อยละ 1 องค์ประกอบคณะกรรมการควรมาจากภาคเอกชนกึ่งหนึ่ง นักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการ ร้อยละ 25 และราชการ ร้อยละ 25 จะได้เกิดผลงานวิจัยที่ขับเคลื่อนด้วยความต้องการ (Demand driven) และตอบโจทย์ของประเทศมากกว่าที่ขับเคลื่อนด้วยซัพพลาย (Supply driven) ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ด้วยอานิสงส์ของ R&D หวังว่า Thailand จะไม่ตกเป็นเศรษฐกิจลำดับที่ 8 ของ ASEAN หรือตกชั้นไปจาก ASEAN 5 นะคะ!!

สุขสันต์วันปีใหม่ค่ะ!