การค้าเสรีที่ไม่พึงปรารถนา (4)

 การค้าเสรีที่ไม่พึงปรารถนา (4)

ในเชิงเศรษฐศาสตร์นั้นการค้าเสรีคือการที่แต่ละประเทศมุ่งเน้นผลิตสินค้าที่ตนเอง

มีความถนัด (specialization) เพื่อให้มีผลผลิตสูงขึ้น เพื่อนำเอาผลผลิตส่วนเกินไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าที่ประชาชนต้องการบริโภค ทำให้บริโภคได้มากกว่าในกรณีที่ต้องผลิตเองและบริโภคเองตามลำพัง ดังนั้นการค้าเสรีนั้นกระทำขึ้นเพื่อให้สามารถบริโภคได้เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

แต่การดำเนินนโยบายการค้าของทุกประเทศ ซึ่งมีมิติของการเมืองและผลประโยชน์ของผู้ผลิตภายในประเทศมามีบทบาทสำคัญนั้นจะมองว่าการส่งออกเป็นสิ่งที่ดีที่ควรสนับสนุนอย่างถึงที่สุด แต่การนำเข้าควรจะกีดกันให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด กล่าวคือความสำเร็จจะวัดจากการส่งออกให้มากที่สุด (เพื่อให้มีรายได้เข้าประเทศ) และการนำเข้าให้น้อยที่สุด ดังนั้นการเกินดุลการค้าจึงเป็น ผลงานสูงสุดของการเจรจาการค้า

การเจรจาการค้าและการดำเนินนโยบายจึงมักจะพยายามส่งเสริมการให้ได้มาซึ่งเงินตราระหว่างประเทศ (ให้ต่างชาติซื้อสินค้าและบริการของเรา) มากกว่าเราซื้อของเขาและมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีอยู่กลับกลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลมีเอาไว้ในการต่อรองเจรจาแลกเปลี่ยนให้ประเทศคู่ค้าลดการกีดกันการส่งออกของเรา โดยเราจะลดการกีดกัน (ผู้บริโภค) ของเราเพื่อเป็นการตอบแทน

แต่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวระบบการค้าของโลกก็สามารถเปิดเสรีมากขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 1945-2012 เพราะสหรัฐอเมริกาได้ยึดโยงและสนับสนุนระบบการค้าแบบพหุพาคีภายใต้องค์กรการค้าโลก (WTO) โดยอาศัยหลักการของการประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง ดังที่ผมเคยกล่าวถึงก่อนหน้านี้ กล่าวคือส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ จับคู่เจรจาลดภาษีหรือมาตรการกีดกันการค้ากันอย่างต่อเนื่องและเมื่อบรรลุข้อตกลงกันได้แล้ว ให้สิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประเทศ A และ ประเทศ B นั้น เป็นสิทธิประโยชน์ที่ประเทศภาคี WTO ทุกประเทศพึงได้รับไปพร้อมกันทั้งหมดด้วย หลักการนี้จึงมีความสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการค้าเสรีของโลก ทำให้ปริมาณการค้าระหว่างประเทศในอดีต 50-60 ปีที่ผ่านมาขยายตัวในอัตราประมาณ 2 เท่าของการขยายตัวของจีดีพีของโลก

แต่ยุคที่นายทรัมเป็นประธานาธิบดีนั้นมีความเสี่ยงสูงว่านโยบายจะเปลี่ยนจากระบบพหุภาคี (multilateralism) มาเป็นระบบทวิภาคี (bilateralism) คือประธานาธิบดีทรัมจะเรียกประเทศคู่ค้ามาเจรจาเป็นรายตัวแบบ 2 ฝ่าย ตัวอย่างเช่นที่นายทรัมกล่าวว่าเขาเข้าใจดีเกี่ยวกับนโยบายจีนเดียวที่สหรัฐเคยปฏิบัติมาคือการที่ประธานาธิบดีหรือว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐไม่เคยยอมพูดคุยติดต่อกับประธานาธิบดีไต้หวันมาตั้งแต่ปี 1979 แต่นายทรัมบอกว่าอยากนำเอาเรื่องไต้หวันมาเจรจากับเรืองที่นายทรัมให้ความสำคัญคือ อัตราแลกเปลี่ยนการกีดกันการค้าสหรัฐโดยจีน การเพิ่มกำลังทหารของจีนในทะเลจีนใต้และการกดดันเกาหลีเหนือ ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจกับจีนอย่างมาก

แต่นอกจากนั้น ก็ยังทำให้เกิดความวุ่นวายไปหมดเพราะผสมหลายเรื่องเข้ามาด้วยกัน แต่ที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือการบั่นทอนระบบการเจรจาการค้าแบบพหุภาคีมาเป็นการนำเอาเรื่องการค้าเป็นเรื่องทวิภาคี ทั้งนี้หมายความว่านายทรัมก็คงจะต้องการเรียกญี่ปุ่น เม็กซิโก เกาหลีใต้ ฯลฯ มาเจรจาเป็นรายตัว ทำให้การค้าระหว่างประเทศชะงักงันและเกิดปัญหาความไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะนำมาสู่การบิดเบือนและปัญหาการบังคับใช้ที่จะตามมาได้อีกมากมาย เช่น สหรัฐอาจต้องการลงโทษจีนโดยการขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าบางประเภท ทำให้ผู้ผลิตจะพยายามหลีกเลี่ยงโดยการนำมาผลิตในไทย แต่ต่อมาสหรัฐก็คงจะตามาเจรจาปิดกั้นการส่งออกสินค้าดังกล่าวจากไทยไปสหรัฐ เป็นต้น

ลัทธิกีดกันการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้นและเป็นประเด็นทางการเมืองที่ทำให้นายทรัมสามารถนำไปหาเสียงจนทำให้ประสบชัยชนะได้มาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นเป็นความเข้าใจว่าการค้าเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จีนได้เข้าไปเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่นรถยนต์ของสหรัฐต้องล่มสลายและปลดคนงานไปหลายล้านคน แต่ไอเอมเอฟได้เคยทำบทวิเคราะห์เมื่อปี 2013 โดยอาศัยตัวเลขจาก 51 ประเทศในช่วง 1981 ถึง 2003 พบว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าวนั้นน่าจะเกิดขึ้นเพราะวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้หุ่นยนต์หรือ automation เพื่อลดจำนวนคนงาน) มากกว่าเป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์

การค้าเสรีนั้นเป็นส่วนที่สำคัญของการรวมตัวและเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก และช่วยทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง อย่างไรก็ดีบทวิเคราะห์ของไอเอมเอฟสรุปว่าการเปิดเสรีทางการเงินและการลงทุนตรงจากต่างประเทศนั้นน่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

นายทรัมป์หาเสียงว่าคนอเมริกันตกงานไปหลายล้านคนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องจริงเพราะคนงานในภาคอุตสาหกรรมลดลงจาก 18.9 ล้านคนในปี 1980 เหลือ 12.2 ล้านคนในปี 2010 โดยส่วนใหญ่กระทบมลรัฐในภาคกลางตอนตะวันตกของประเทศที่เรียกว่า Rust Belt ที่เทคะแนนให้นายทรัม (ทั้งๆ ที่เป็นฐานเสียงเดิมของพรรคเดโมแครท) โดยงานที่สูญเสียไปส่วนใหญ่คืองานเงินเดือนสูง (25 เหรียญต่อชั่วโมง) บวกสวัสดิการ แต่งานที่มาแทนที่คืองานบริการ (ขายอาหาร Fast Food) ที่จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ

แต่ในช่วงเดียวกัน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจาก100 ในปี 1980 มาเป็น 254.2 ในปี 2015 เพราะการทกแทนคนงานด้วยหุ่นยนต์และเครื่องจักร กล่าวคือในปี 1980 ต้องใช้คนงาน 25 คนเพื่อผลิตสินค้ามูลค้า 1 ล้านเหรียญ แต่ในปี 2015 นั้นใช้คนเพียง 5 คน กล่าวคือนายทรัมป์จะกีดกันการค้าเพียงใด งานที่หายไปก็จะไม่กลับมาที่ Rust Belt อีกแล้ว