ดีเอสไอ ความคุ้มค่ากรณีราไวย์

ดีเอสไอ ความคุ้มค่ากรณีราไวย์

วันก่อน ผมได้รับเชิญจากดีเอสไอ ให้เป็นหนึ่งในวิทยากร Focus Group

 เพื่อประเมินความคุ้มค่ากรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กับคดีชุมชนชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต

ดีเอสไอ ใช้กรณีศึกษา คดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม” ที่เข้าไปช่วยเหลือชาวเลราไวย์ ที่นายทุนฟ้องร้อง ขับไล่ออกจากที่ดินซึ่งอยู่มา 7 ชั่วอายุคน หรือกว่า 300 ปี โดยนายทุนออกเอกสารสิทธิทับที่ดินเนื้อที่ 19 ไร่

ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล บอกว่า มีคำถามการใช้งบประมาณกว่า 1.3 ล้านบาท ในการเข้าไปช่วยชาวบ้านครั้งนี้ ในที่สุด 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา ศาลยกฟ้องชาวบ้าน 2 คน และวันที่ 30 ม.ค.2560 ศาลจะตัดสินคดีลักษณะเดียวกันนี้มีจำเลย 4 คน

เนื้อที่ 19 ไร่ ในพื้นที่หาดราไวย์ มีผู้อยู่อาศัย 2,063 คน 247 ครัวเรือน หากฝ่ายนายทุนชนะคดี และฟ้องขับไล่ชาวบ้านสำเร็จ ราคาที่ดินต่ำๆ อยู่ที่ 300 ล้านบาท

สิ่งที่ชาวเล อ้างต่อศาล ว่าอยู่อาศัยและทำมาหากินในพื้นที่พิพาทต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ตราบใดที่โฉนดที่ดิน เป็นเอกสารมหาชน ยังไม่มีการเพิกถอน ศาลย่อมจะเชื่อในเอกสารราชการนั้น

กรมสอบสวนคดีพิเศษ บูรณาการร่วมกันกับหลายหน่วยงาน จนได้หลักฐานสำคัญทั้งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ การอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ เอกสารดั้งเดิมทะเบียนนักเรียนโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ ดีเอ็นเอจากศพบรรพบุรุษ ประเพณีการฝังศพบรรพบุรุษในที่ดินของตัวเอง ภาพยนตร์ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเยี่ยมชาวเลหาดราไวย์ ล้วนเป็นหลักฐานที่ทำให้ศาลเชื่อว่า ชาวเลราไวย์ อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ก่อนการออกเอกสารสิทธิ์ของนายทุน

ผมสรุปในที่ประชุมว่า กรณีนี้ตรงกับภารกิจของดีเอสไอ คือ การป้องกัน การปราบปราม การสืบสวนและการสอบสวนคดีความผิดทางอาญาที่ต้องดำเนินการสืบสวน และสอบสวนโดยใช้วิธีการพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ

นอกจากนั้น ยังตรงกับพันธกิจ ที่ 1 ของกระทรวงยุติธรรม คือ ลดความเหลื่อมล้ำ และยังไม่สอดคล้อง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก 17 ประการ” (The Global Goals for Sustainable Development) ข้อที่ 10 เรื่องลดความเหลื่อมล้ำ

กรณีชาวเลราไวย์ จึงถือเป็นความคุ้มค่าที่วัดด้วยตัวเงินไม่ได้เลย

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะกําหนดรายละเอียดลักษณะของการกระทําความผิดที่เป็นคดีพิเศษ โดยให้คดีลักษณะเช่นนี้เป็นคดีพิเศษตามท้ายประกาศ กคพ.