ภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลกในปี 2560

ภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลกในปี 2560

ทันทีที่นายโดนัล ทรัมป์ ได้รับชัยชนะแบบเหนือความคาดหมายในการเลือกตั้งประธานาธิบดี

สหรัฐเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็ได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะขยายตัวได้ดีมากขึ้นกว่าในหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐที่จะให้มีการปรับลดภาษี และปรับลดกฎระเบียบข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมกับสนับสนุนให้มีการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งแผนเหล่านี้ถูกจับตามองว่า มีความเป็นไปได้สูงในทางการเมือง เพราะพรรครีพับลิกันของนายโดนัล ทรัมป์ได้ครองเสียงข้างมากในทั้งสองสภาจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาด้วย

ตลาดพันธบัตรซึ่งเคยให้ผลตอบแทนที่ต่ำมากตั้งแต่เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008 ที่ทำให้ทั้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยต่างก็อยู่ในระดับที่ต่ำติดต่อกันมาหลายปีนั้น ก็กลับมีผู้ถือพันธบัตรจำนวนมากพากันเทขายพันธบัตรออกสู่ตลาด เพราะคาดว่าอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มที่รัฐบาลใหม่จะมีการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นเนื่องจากผลของนโยบายการลดภาษี จึงส่งผลให้ราคาพันธบัตรมีการปรับตัวลดลงมากในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อธนาคารกลางของสหรัฐ (Federal Reserve) ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาตามการคาดการณ์ล่วงหน้าของตลาด พร้อมกับประกาศว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกสามครั้งในปีหน้า จึงเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นหลังจากนี้ ซึ่งตามรายงานของ Bloomberg ได้สรุปว่ามีผลให้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะเวลาไถ่ถอนคืน 10 ปีนั้น มีการปรับตัวสูงขึ้นไปมากกว่า 2.5% หรือคิดเป็นการปรับลดของราคาพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุ 10 ปีเท่ากับ 5.4%

ในขณะที่ราคาพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุ 30 ปีนั้นได้ปรับลดลงมามากกว่า 10% ส่งผลให้ผู้ถือพันธบัตรที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำนี้ ต้องประสบภาวะขาดทุนอย่างคาดไม่ถึงในช่วงที่ผ่านมา   แม้ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในสหรัฐจะเกิดจากการคาดการณ์ของตลาดที่อิงอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และความเชื่อในนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอื่นที่พร้อมจะสร้างความผันผวนในตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจโลกได้ทันที ขอยกตัวอย่างตัวแปรสำคัญอย่างน้อยสองตัวแปร ดังนี้คือ 

ตัวแปรสำคัญแรก คือ ภาวะเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะมีทิศทางที่ปรับลดลงกว่าเดิม เนื่องจากว่าจีนมีความจำเป็นจะต้องทำการปรับสมดุลระหว่างเป้าหมายทางด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กับเป้าหมายในการควบคุมการขยายตัวของระบบสินเชื่อในภาวะที่มีปัญหาการไหลออกของเงินทุนไปต่างประเทศ และปัญหาสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้น ปัญหาสำคัญเร่งด่วนของจีนก็คือ การบริหารจัดการเพื่อทำให้การขยายตัวของสินเชื่อที่จะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นนี้ สามารถจะถูกปล่อยไปให้กับภาคการผลิตที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง แทนที่จะปล่อยไปในภาคการผลิตที่ไร้ประสิทธิภาพ หรือไปในกิจกรรมด้านการเก็งกำไรเหมือนในอดีต

ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จีนจะสามารถปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการผลิตให้มีเพิ่มขึ้นได้ โดยไม่ไปเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องภาวะหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย (soft-landing in credit growth) ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในปัญหาภาวะหนี้เสียและภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ ที่หากเกิดขึ้นแล้ว ก็จะส่งผลเสียต่อตลาดทุนและเศรษฐกิจของจีนและของโลกด้วย ดังนั้น จึงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า ปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปนั้น จะกระทบต่อความสามารถของจีนในการปรับสมดุลระหว่างสองเป้าหมายดังกล่าวนี้อย่างไรบ้าง

ตัวแปรสำคัญที่สอง คือ ปัญหาความเสี่ยงของเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งมีทั้ง ปัญหาวิกฤตภาวะหนี้ เช่นกรณีของประเทศกรีซที่แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้รับความช่วยเหลือด้านเงินกู้เพิ่มเติมจากทาง EU และประเทศเยอรมนีภายใต้เงื่อนไขให้มีการปรับโครงสร้างทางการคลังของกรีซแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากการมีสัดส่วนของหนี้ต่อจีดีพีที่สูงมากถึง 180% ซึ่งเป็นระดับที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่าเกินจากความสามารถของกรีซที่จะแก้ไขได้หากทางฝ่ายเจ้าหนี้ไม่ยอมตัดลดหนี้ให้เหลือน้อยลงบ้าง

นอกจากนี้ ก็ยังมีปัญหาเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป แม้ล่าสุดทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะได้ประกาศขยายเวลาในการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ออกไปจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 แล้วก็ตาม แต่ก็ได้ตัดลดขนาดการรับซื้อพันธบัตรจากเดือนละ 80 พันล้านยูโร ลงมาเหลือเดือนละ 60 พันล้านยูโร ซึ่งสะท้อนถึงข้อจำกัดของธนาคารกลางยุโรปในการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปหลังจากนี้ การฟื้นตัวที่ช้าของเศรษฐกิจยุโรปนี้ จะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อสถาบันการเงินที่มีปัญหาอยู่แล้ว

เช่น กรณีของธนาคารในประเทศอิตาลี หรือส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ปัญหาทางการเมืองในบางประเทศเมื่อผนวกเข้ากับปัญหาอื่น เช่น ปัญหาผู้อพยพต่างชาติ ซึ่งอาจส่งผลให้นักการเมืองฝ่ายชาตินิยมหรือประชานิยมที่ต่อต้านทั้งระบบการเมืองกระแสหลักและการรวมกลุ่มของ EU ในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีอาจสามารถได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้าได้ ซึ่งนั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของทิศทางนโยบายหลักที่จะตามมา และย่อมมีผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจยุโรปเองและต่อเศรษฐกิจโลกด้วยในที่สุด