ปัจจัยที่น่าจับตาสำหรับภาวะเศรษฐกิจปี 2560

ปัจจัยที่น่าจับตาสำหรับภาวะเศรษฐกิจปี 2560

ปี 2559 กำลังจะผ่านพ้นไป ที่เป็นปีแห่งความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทย

ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางความเศร้าโศกของคนไทยทั้งชาติ ที่มีประชาชนหลั่งไหลไปถวายสักการะพระบรมศพ ที่พระที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทต่อเนื่องไม่ขาดสายกว่าวันละ 30,000-50,000 คน ด้วยความสำนึกในพระบรมมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีประเทศชาติและประชาชนมากว่า 70 ปี และจำนวนคนยังไม่ลดน้อยลงแต่กลับยังเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะผ่านพ้นมาแล้วกว่า 50 วันแล้ว หวังว่าคนไทยจะก้าวผ่านความทุกข์โศกครั้งนี้ไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งในปี 2560 ที่จะย่างเข้ามาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ปี 2560 มีปัจจัยที่น่าจับตาหลายประการที่จะกำหนดภาวะเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ด้านการเมืองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีประธานาธิบดีคนใหม่ คือ นายโดนัล ทรัมป์ ที่จะเข้าพิธีสาบาลตนในวันที่ 20 มกราคม 2560 ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นผิดความคาดหมายที่ผลการสำรวจความคิดเห็นทั้งหมดคาดการณ์ว่านาง ฮิลลารี คลินตันจากพรรคเดโมแครต จะคว้าชัยชนะ ชัยชนะของนายทรัมป์ น่าจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ที่เน้นนโยบายการจะทำให้สหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งด้วยมาตรการชาตินิยม

มาตรการที่สำคัญๆ ได้แก่ การดึงดูดให้ภาคธุรกิจเอกชนสหรัฐอเมริกาที่ย้ายฐานการลงทุนไปต่างประเทศให้กลับมาลงทุนในสหรัฐอเมริกาด้วยการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และเพิ่มอัตราภาษีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศขึ้นเป็นร้อยละ 45 ด้วยความเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้ช่วยการจ้างงานชาวอเมริกันเพิ่มขึ้น (ควบคู่ไปกับมาตรการเข้มงวดกับแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย) การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง เพื่อเพิ่มรายได้และกำลังของชาวอเมริกัน และยังมีมาตรการที่จะลงทุนครั้งใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่าประมาณ 500 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 20,000 พันล้านบาท) ซึ่งมาตรการที่จะกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนดังกล่าว น่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเติบโตได้ต่อเนื่องในอัตรา ร้อยละ 2.5-3.0 ได้ และในขณะเดียวกันก็น่าที่จะมีแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงขึ้นตามมาด้วย

ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่ในการประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาในวันที่ 13-14 ธันวาคมที่ผ่านมา จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการปรับขึ้นอัตราอ้างอิงของธนาคารกลางสหรัฐ ขึ้นร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับ 0.50-0.75 ในปัจจุบัน และเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกสำหรับปี 2559 นี้ และเป็นการปรับขึ้นครั้งที่สองในรอบสิบปีที่ผ่านมา(การปรับขึ้นครั้งสุดท้าย คือในเดือนธันวาคม 2558) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้อยู่ในความคาดหมายของตลาดอยู่แล้ว แต่ที่เหนือความคาดหมายคือคาดหมายการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่จะเกิดในปี 2560 นั้นเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ตลาดคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง เป็น 3 ครั้ง ทำให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ณ สิ้นปี 2560 ขึ้นไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.50 ได้ คาดการณ์การจำนวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่มากขึ้นนี้ เพราะถ้อยแถลงของนางเจเนต เยลเลน ประธานคณะกรรมการธนาคารกลางที่ระบุว่า การจ้างงานและอัตราการว่างงานของสหรัฐอเมริกาลดลงต่ำสุดในรอบสิบปีที่ผ่านมา

ในที่สุดแล้วทิศทางของอัตราดอกเบี้ยโลก จึงน่าจะเป็นการปรับตัวขาขึ้นตามไปด้วย (รวมทั้งประเทศไทย) ดังจะเห็นได้จากการที่ค่าเงินสหรัฐอเมริกาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลต่างๆ รวมไปถึงราคาทองคำในตลาดโลกที่อ่อนตัวลงมาสร้างจุดต่ำสุดใหม่ รวมทั้งมีกระเงินทุนไหลกลับไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนสูงขึ้น ดังนั้นธุรกิจต่างๆ รวมถึงผู้บริโภคพึงตระหนักว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดในรอบนี้ไปแล้ว และวางแผนเตรียมรับมือกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในการขยายการลงทุนและการก่อหนี้

ทิศทางของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาน่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป ยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากปัจจัยสองประการคือ ประการแรก ผลกระทบของการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของประเทศที่กระบวนการกำลังจะเริ่มขึ้น และประการที่สอง การเปลี่ยนทางการเมืองที่กำลังจะมีขึ้นในประเทศมหาอำนาจของสหภาพยุโรป ที่ในปี 2560 นี้ จะมีการเลือกตั้งในประเทศประธานาธิบดีเยอรมันนี (ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-ตุลาคม) ประเทศฝรั่งเศสที่จะมีการเลือกตั้งรอบแรกในเดือนเมษายน (วันที่ 23) และรอบสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม รวมไปถึงการเลือกตั้งของประเทศอิตาลี่ ที่มีแนวโน้มว่านโยบายชาตินิยม (nationalism) กำลังแพร่ระบาด ที่มีความเป็นไปได้ว่าหลายๆ ประเทศกำลังจะเดินตามรอยประเทศอังกฤษ (การถอนตัวจากสหภาพยุโรป) และสหรัฐอเมริกาที่เน้นการปกป้องธุรกิจภายในประเทศ

ประเทศจีนนั้นน่าจะเป็นประเทศที่น่าจะถูกกระทบมากที่สุดจากนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา รวมถึงการที่ได้ผ่านพ้นช่วงการเจริญเติบโตสูงไปแล้ว (ที่เคยเติบโตในอัตราเลขสองหลัก) ที่ปรับเปลี่ยนมาเน้นการเจริญเติบโตที่มีความสมดุลมากขึ้น จนมีการปรับลดเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลงมาอยู่ที่เพียงร้อยละ 7.0-7.5 ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งการฟื้นตัวที่ยังอ่อนแอของญี่ปุ่นจึงน่าจะมีผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตของประเทศในภูมิภาคอาเชียโดยรวมได้