曾国藩家书 จดหมายของเจิงกั๋วฟาน

曾国藩家书 จดหมายของเจิงกั๋วฟาน

เมื่อเอ่ยถึงชื่อ เจิงกั๋วฟาน (曾国藩) อาจกล่าวได้ว่า เขาเป็นนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ นักคิด

และนักการศึกษา ในบรรดาขุนนางสำคัญ 4 คนในยุคปลายราชวงศ์ชิง อาจถือได้ว่าเขาอยู่ในแนวหน้า มีผู้กล่าวกันว่า ในการปกครองครอบครัว การสั่งสอนบุตรหลาน การทำความรู้จักคน การใช้คน เจิงกั๋วฟานถือว่าเป็นผู้ที่มีฝีมือยอดเยี่ยม ความปราดเปรื่องและประสบการณ์อันมากมายของเขาทั้งหมดถือว่า รวบรวมอยู่ในจดหมายของเขาที่มีถึงสมาชิกในครอบครัวของเขากว่า 1,500 ฉบับ

เจิงกั๋วฟาน เกิดที่หมู่บ้านเซียง (湘乡) มณฑลหูหนาน (湖南省)นอกจากเขาจะมีฐานะเป็น 1 ใน 4 ขุนนางสำคัญแล้ว เขายังเป็นปรมาจารย์ทางวิทยาศาสตร์และนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ จดหมายของเจิงกั๋วฟานที่ได้รับการยกย่องจากบุคคลทั่วไปครอบคลุมทั้งที่เขียนให้กับพ่อแม่ พี่น้อง และ บุตรหลาน เป็นต้น จดหมายของเขาใช้ข้อความที่เรียบง่ายแต่มีหตุผลอย่างลึกซึ้ง โดยนำเอาความปราดเปรื่องแห่งชีวิตของเขาในการครองตน การดูแลครอบครัว การปกครองประเทศ และ การรักษาความสงบแห่งแผ่นดิน หลอมรวมไว้ในจดหมายทั้งหมด อันเป็นการกล่าวถึงประสบการณ์การสอนบุตรหลานและผู้ที่เป็นพ่อแม่ใช้ประโยชน์เป็นบทเรียนได้

มุมมองในการสั่งสอนบุตรหลานที่สุดของ เจิงกั๋วฟาน ยืดถือหลักการของลัทธิขงจื้อ เขาเคยกล่าวในจดหมายถึงลูกๆ ว่า คนทั่วไปคาดหวังให้บุตรหลานมีตำแหน่งใหญ่โต แต่ตัวข้าฯ​ไม่ ข้าฯ เพียงแต่หวังให้เป็นบุรุษผู้เรียนหนังสือและเข้าใจเหตุผล เขาเห็นว่าการเรียนหนังสือเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้

เจิงกั๋วฟาน เริ่มเรียนหนังสืออายุ 6 ขวบกับอาจารย์ที่สอนเป็นส่วนตัว 8 ขวบเรียนหนังสือหลัก 4 เล่ม (四书อันได้แก่ 大学,中庸,论语,孟子) และคัมภีร์ 5 เล่ม (五经อันได้แก่ 诗经,书经,易经,礼记,春秋) 14 ขวบเรียนมารยาทแบบโจว (周礼) และบันทึกประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ (史记) 27 ขวบสอบได้ระดับสูงสุดของการสอบในพระบรมมหาราชวัง (คนไทยรู้จักกันว่า “จอหงวน” แต่ระดับสูงสุดนี้ยังแบ่งออกเป็น 3 คน 3 อันดับ “จอหงวน” เป็นอันดับ 1) เขาทำงาน 10 ปีย้ายตำหน่ง 7 ครั้ง และเลื่อนระดับ 10 ขั้น และได้เป็นผู้ช่วยเจ้ากรมพิธีการ (礼部侍郎) เมื่ออายุ 37 ปี (ระดับตำแหน่งเทียบกับ C10) ต่อมาเขาเป็นข้าราชการฝ่ายบุ๋นคนแรกที่จัดตั้งกองทัพเซียง (湘军) เพื่อปราบกบฏชาวนาที่เรียกว่า ไท่ผิงเทียนกั๋ว (太平天国) ให้แก่ราชวงศ์ชิง ทั้งยังเริ่มต้นทำการปฏิรูปจีนให้ทันสมัยตลอดจนถึงกิจการต่างประเทศ เขาเป็นผู้เสนอให้สร้างเรือเดินสมุทรสมัยใหม่เป็นลำแรกและเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนการทหารและวิศวกรรม เขาสั่งให้จัดพิมพ์หนังสือที่แปลจากภาษาต่างประเทศเป็นรุ่นแรกและจัดการให้มีนักเรียนไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาเป็นรุ่นแรก

ทั้งๆ ที่เขาประสบความสำเร็จจากระบบการสอบของราชการ (ซึ่งเริ่มตั้งแต่ระดับหมู่บ้านถึงพระบรมมหาราชวัง) แต่กลับมีวิธีปฏิบัติต่อบุตรหลานแตกต่างออกไป เมื่อลูกชายคนโตของเขา เจิงจี้เจ๋อ (纪澤) ล้มเหลวในการสอบเพียงระดับหมู่บ้านและไม่คิดจะสอบต่อไป เขาไม่โกรธเพียงแต่เขียนจดหมายให้ลูกมีใจความสำคัญว่า “การสอบไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต แต่การเรียนหนังสือและการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของชีวิต การเรียนหนังสือไม่ได้ทำเพื่อการสอบ การไม่สอบเป็นเรื่องที่ทำได้ เพียงแต่อยากทราบว่าลูกอยากเรียนอะไร” ปรากฏว่าลูกชายเขาอยากเรียนวิชาการทางตะวันตกอย่างสังคมศาสตร์และภาษาศาสตร์ ต่อมาลูกชายคนรองก็ตามอย่างบ้าง แต่เขาขอเรียนคณิตศาสตร์กับกลศาสตร์ และกลายมาเป็นผู้ที่เขียนตำราวิชาไฟฟ้าภาษาจีนเป็นคนแรก ส่วนลูกชายคนโตกลายเป็นนักการทูตชั้นแนวหน้าของจีนที่สามารถเจรจากับรัสเซียที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กให้คืนดินแดนที่ยึดครองได้

แม้ว่า เจิงกั๋วฟาน จะให้อิสระเสรีแก่ลูกในการเลือกแนวทางของตนเอง แต่ในเรื่องของความเข้มงวดเขาก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนกว่าแนวทางแบบจีนสักเท่าไร ตัวอย่างเช่น เขาสั่งให้ลูกๆ ทุกคนต้องชงน้ำชาด้วยตนเอง ปลูกผักด้วยตนเอง และหาบสิ่งปฏิกูลมารดแปลงผักด้วยตนเอง เป็นต้น

จดหมายของ เจิงกั๋วฟาน ที่มีถึงลูกๆ เป็นเรื่องของการศึกษาเสียส่วนใหญ่ แต่จดหมายที่มีถึงน้องๆ เป็นเรื่องของชีวิต เข่น เขาสอนว่า “ความสำเร็จล้มเหลวของชีวิตล้วนเกี่ยวข้องกับความดีเลวของเพื่อน” เขายังมีกลอนบทหนึ่งที่สอนวิธีดูคนดังนี้

邪正看眼鼻,真假看嘴唇,功名看气概,富贵看精神;

主意看指爪,風波看脚筋,若要香条理,全在語言中。

แปลว่า “ดีเลวดูที่ตาจมูก จริงแท้ดูที่ริมฝีปาก ความสำเร็จดูที่สง่าราศรี ความร่ำรวยดูที่ชีวิตชีวา ความคิดดูที่นิ้วมือ อุปสรรคดูที่เส้นเอ็น หากจะดูระเบียบ ล้วนอยู่ในคำพูดจา” 

ครั้งหนึ่งหลี่หงจาง (鸿章) อยากจะรับผู้เคยเป็นโจร 3 คนมาไว้ในกองทัพฮ่วย (淮) ที่เขารับผิดชอบอยู่ จึงได้พาทั้ง 3 คนมาพบเจิงกั๋วฟาน เจิงกั๋วฟานแกล้งให้สามคนคอยทั้งวันโดยไม่ให้พบ แถมยังให้มาวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อสังเกตอากัปกิริยาของทั้งสามคน เมื่อถึงมื้อเที่ยงก็เลี้ยงเพียงบัวลอยเม็ดเล็กถ้วยเล็กๆ หนึ่งถ้วย ในบรรดาสามคนนี้ มีหลิวหมิงฉวน (铭传) เท่านั้นที่นับจำนวนเม็ดบัวลอยได้ถูกต้อง ต่อมาหลิวหมิงฉวนเป็นเพียงผู้เดียวที่รบชนะฝรั่งเศสที่เกาะไต้หวันและได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการมณฑลไต้หวันเป็นคนแรก

ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงการดูลักษณะคน เจิงกั๋วฟานยังเก่งในการใช้คนได้ถูกต้องด้วย เขาเคยเขียนจดหมายให้น้องชายเกี่วกับการใช้คนดังนี้

馭将之道,最贵推诚,不贵权术

แปลว่า การใช้นายทหาร สำคัญที่ความซื่อสัตย์ ไม่สำคัญที่กลยุทธ์

หลี่หงจางถือเป็นลูกน้องคนสำคัญของเจิงกั๋วฟาน แต่ก็ตีจากไปถึง 3 ครั้ง 3 ครา ทั้งด้วยความต้องการที่จะเป็นใหญ่เสียเองและด้วยความไม่ต้องการตายพร้อมเจ้านายในยามที่ตกอยู่ในความลำบาก แต่ตราบใดที่หลี่หงจางยังไม่เปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม เจิงกั๋วฟานก็ยังให้อภัยเสมอ ในตอนท้ายสุดยังตั้งให้เป็นใหญ่ที่เซี่ยงไฮ้และให้คำแนะนำต่อมาโดยตลอดจนประสบความสำเร็จ เจิงกั๋วฟานยังเป็นผู้แต่งตั้ง หยงหง () และมอบเงินให้ 68,000 ตำลึงไปจัดซื้อเครื่องจักรและจัดการเริ่มต้นกิจการนักเรียนทุนรัฐบาลจีนทั้งหมดที่สหรัฐอเมริกา ในภายหลังหยงหง กลายเป็นกำลังสำคัญของเจิงกั๋วฟานในการจัดการงานด้านต่างประเทศทั้งหมด ตัวอย่างทั้งสองข้างต้นเป็นสิ่งที่แสดงถึงการให้ความสำคัญแก่เรื่องความซื่อสัตย์และอุดมการณ์ที่ตรงกัน

ท่าทีของเจิงกั๋วฟานต่อชีวิต การดำรงชีวิต และบุคคลอื่นในชีวิต ใช้หลักการ  (อ่านว่า “เหริ่น) หรือความอดทนมาตลอด ครั้งหนึ่งแม้ว่าเขาจะได้รับโปรดแกล้าฯให้ทำการปรับปรุงการปกครองในมณฑลหูหนาน แต่ข้าราชการท้องถ่ินไม่ให้ร่วมมือ เขาก็ยังอดทน โดยไปทำการฝึกกองทหารของเขาเพื่อให้มีอำนาจในมือเสียก่อน เมื่อเขามีตำแหน่งที่สูงขึ้นท่าทีของเขาเปลี่ยนจาก 忍เป็น 韧 (อ่านว่า “เริ่น”) ซึ่งหมายถึง การยืนหยัด ไม่ย่อท้อ ไม่ลดละ มุ่งมั่นในจุดยืน นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้คนไม่น้อยหันมาร่วมงานร่วมอุดมการณ์กับเขา กลายเป็นแสงสว่างเล็กๆ ในยุคที่ราชวงศ์ชิงหมดหวังเสียแล้ว

ในชีวิตของเขา เจิงกั๋วฟานมีปรัชญาชีวิตที่สำคัญอย่างยิ่งอันแสดงถึงความเข้าใจที่ลึกซึ้งถึงแก่นแท้แห่งชีวิตและหัวใจของนักปราชญ์ ดังนี้

不为圣贤,便为禽兽,莫问收获,但回耕耘。

ซึ่งมีความหมายว่า “หากไม่เป็นผู้ประเสริฐเลิศเลอ ก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน อย่าถามถึงการเก็บเกี่ยว แต่ให้สนใจการทำไร่ไถนา” ในที่นี้เจิงกั๋วฟานอยากจะบอกว่า จุดยืนในชีวิตคนเรามีความสำคัญยิ่ง อาจทำให้ชีวิตคนเราเป็นได้ทั้งผู้ประเสริฐ หรือ สัตว์เดรัจฉาน ส่วนการดำเนินชีวิตก็ให้มุ่งที่ความพยายามไปสู่เป้าหมายมากกว่าผลสุดท้ายแห่งเป้าหมาย

ประวัติศาสตร์จีนที่เรียนกันในสมัยก่อนบอกแต่เพียงว่า เจิงกั๋วฟานเป็นขุนนางคนสำคัญผู้รับใช้พระจักรพรรดิในปลายราชวงศ์ชิงที่อ่อนแอ เหลวแหลก เป็นหนึ่งในขุนนางคนสำคัญที่ปราบกบฏชาวนา และ เป็นหนึ่งในขุนนางที่รบพ่ายแพ้ประเทศจักรวรรดินิยมจนหมดรูป แต่เบื้องหลังแห่งชีวิตของเจิงกั๋วฟานทำให้เกิดภาพพจน์คนละด้านอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าคุณูปการของเขาอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของประเทศจีนในยุคนั้นได้ก็ตาม