กฎหมายแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย จะถอยหลังหรือเดินหน้า?(3)

กฎหมายแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย จะถอยหลังหรือเดินหน้า?(3)

ร่างมาตรา 51 เกี่ยวกับการควบคุมการรวมกิจการตามร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการ

ค้ามีประเด็นที่น่าจับตามองสองประการคือ ประการที่หนึ่ง ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องขออนุญาตคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก่อนการรวมกิจการเพียงแต่แจ้งผลภายหลัง ประการที่สอง ลักษณะการรวมธุรกิจที่จะก่อให้เกิดหน้าที่ในการแจ้ง และวิธีการแจ้งจะมีการประกาศกำหนดโดยคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าต่อไป โดยร่างมาตราดังกล่าวกำหนดว่า

“ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำการรวมธุรกิจ อันอาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งหรือบริการใดบริการหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนดต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รวมธุรกิจ

การประกาศกำหนดของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้ระบุว่าให้ใช้บังคับแก่การรวมธุรกิจที่มีผลให้มีส่วนแบ่งตลาด ยอดเงินขาย จำนวนทุน จำนวนหุ้น หรือจำนวนสินทรัพย์ไม่น้อยกว่าจำนวนเท่าใด

การรวมธุรกิจตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึง

(1) การที่ผู้ผลิตรวมกับผู้ผลิต ผู้จำหน่ายรวมกับผู้จำหน่าย ผู้ผลิตรวมกับผู้จำหน่าย หรือผู้บริการรวมกับผู้บริการ อันจะมีผลให้สถานะของธุรกิจหนึ่งคงอยู่และอีกธุรกิจหนึ่งสิ้นสุดลงหรือเกิดเป็นธุรกิจใหม่ขึ้น

(2) การเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนของธุรกิจอื่นเพื่อควบคุมนโยบายการบริหารธุรกิจ การอำนวยการ หรือการจัดการ

(3) การเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดหรือบางส่วนของธุรกิจอื่นเพื่อควบคุมนโยบายการบริหารธุรกิจ การอำนวยการ หรือการจัดการ

การแจ้งผลการรวมธุรกิจตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”

เกี่ยวกับหน้าที่ในการแจ้งคณะกรรมการฯ ภายหลังการควบรวมกิจการ แทนที่จะเป็นการขออนุญาตควบรวมกิจการนั้น คาดเดาไม่ยากเลยว่าน่าจะเกิดจากแรงกดดันของผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรงจากการถูกควบคุมตรวจสอบของรัฐในการควบรวมกิจการ คำถามที่น่าสนใจคือ ร่างกฎหมายอย่างนี้มาเพื่ออะไร และจะมีผลเหมือนกับไม่มีการควบคุมตรวจสอบการรวมกิจการจากภาครัฐเลยหรือไม่

คำตอบในประเด็นนี้ผู้ที่สนใจคงจะต้องไปค้นคว้าหาอ่านดูตามตำราว่าการควบคุมการรวมกิจการแบบ Ex-post Control หรือการควบคุมภายหลังการรวมกิจการนั้น มีข้อดีข้อเสียอย่างไรและได้ผลมากน้อยเพียงใดในประเทศที่ใช้ระบบแบบนี้ จากการค้นคว้าเบื้องต้นของผู้เขียน (ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านสบายใจได้บ้าง) พบว่าในบางประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ไม่มีการกำหนดให้ต้องขออนุญาตควบรวมกิจการเป็นการล่วงหน้า แต่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจสั่งให้ยกเลิกการควบรวมกิจการในภายหลังได้หากพบว่าการควบรวมกิจการนั้นส่งผลกระทบเป็นการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ (ตัวอย่าง กรณีการควบรวมกิจการของ Tesco/Co-op ปี 2550)

แต่เท่าที่ผู้เขียนทราบ ณ ขณะนี้ยังไม่มีการเผยแพร่งานวิจัยที่ประกอบการร่างกฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่นี้ต่อสาธารณชน ที่จะทำให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลว่าข้อสรุปในร่างกฎหมายนี้ (ซึ่งยังคงเป็นข้อสรุปเบื้องต้นอยู่เพราะยังไม่ผ่านการพิจารณาของ สนช. และประกาศใช้เป็นกฎหมาย) ที่ให้ใช้ระบบการควบคุมตรวจสอบการรวมกิจการภายหลังการรวมกิจการแล้วนั้น มีที่มาอย่างไรและมีการวิเคราะห์ว่ามีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยแล้วหรือไม่ อย่างไร ซึ่งหากร่างมาตรา 51 นี้ออกมาเป็นกฎหมาย ก็จะเป็นประเด็นที่ต้องติดตามและวิเคราะห์กันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยจะใช้อำนาจอย่างไรกรณีที่พบว่าการรวมกิจการที่มีการแจ้งผลในภายหลังนั้นก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ

พบกันใหม่ในคราวหน้าค่ะ