คนคุณธรรม สร้างยากแต่ต้องทำ(จบ)

คนคุณธรรม สร้างยากแต่ต้องทำ(จบ)

ในตอนที่แล้วผมเล่าถึง โรงเรียนบางมูลนากภูมิพิทยาคม ต้นแบบโรงเรียนคุณธรรมไปแล้ว

วันนี้ผมจะนำเรื่องโรงพยาบาลชลบุรี แบบอย่างโรงพยาบาลคุณธรรม มาแบ่งปันกันครับ SCB ได้เชิญวิทยากรทั้งจากโรงเรียนบางมูลนากภูมิพิทยาคมและโรงพยาบาลชลบุรีมาบรรยายเรื่องการสร้างองค์กรคุณธรรมและทำเวิร์กชอปให้กับเรา ทำให้เราได้รับความกระจ่างถึงที่มาของแนวคิดและกระบวนการสร้างคุณธรรมในองค์กรให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน

แนวคิดเรื่ององค์กรคุณธรรมนี้เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้พระราชทานให้คณะองคมนตรีไปศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้โรงเรียนสร้างคนดีให้กับบ้านเมือง ในครั้งนั้นทรงมีพระราชดำรัสว่า การจะสร้างคนดีนั้นเป็นเรื่องที่ยากและยาวแต่ต้องทำ ให้ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยต้องช่วยกันทำ เพราะบ้านเมืองเราคนดีเหลือน้อยเต็มที และมีพระราชกระแสรับสั่งให้เลือกโรงเรียนที่แย่ที่สุดตามชายแดนในภาคกลางมาทำโครงการนำร่อง ซึ่งคณะทำงานได้คัดเลือกโรงเรียนมา 19 แห่ง เพื่อดำเนินการสร้างโรงเรียนคุณธรรมต้นแบบ โรงเรียนบางมูลนากภูมิพิทยาคมเป็นหนึ่งในโรงเรียนกลุ่มนี้ที่ประสบความสำเร็จจนเกิดเป็น บางมูลนากโมเดล ขึ้นมา

ต่อมาโมเดลนี้ได้ถูกนำมาใช้กับโรงพยาบาลชลบุรี โดยมีบุคคลผู้จุดประกายคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ซึ่งได้ให้แนวคิดเรื่ององค์กรคุณธรรมนี้แก่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรีในโอกาสที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไปร่วมรดน้ำดำหัวท่านในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2556 เมื่อรับเอาแนวคิดมาแล้วผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้ถ่ายทอดกรอบแนวคิดนี้แก่คณะกรรมการบริหารเพื่อขอมติและเริ่มดำเนินโครงการ พัฒนาโรงพยาบาลชลบุรีสู่องค์กรคุณธรรม” เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ในปีเดียวกัน

เมื่อเริ่มโครงการสิ่งแรกและสำคัญที่สุดที่ต้องทำคือทำให้ทุกคนในองค์กรตระหนักรู้ว่าเกิดวิกฤติคุณธรรมขึ้นในองค์กรและมีความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฐิ) ว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลร้ายต่อส่วนรวมและทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน ขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาและต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วมตั้งแต่ผู้อำนวยการไปจนถึง รปภ.จะใช้วิธีสั่งจากข้างบนลงล่างไม่ได้เด็ดขาดเพราะนั่นเป็นการยัดเยียดที่ไม่ทำให้เกิดความยั่งยืน เมื่อทุกคนเห็นตรงกันว่าต้องเปลี่ยน ขั้นต่อไปคือช่วยกันทำ บัญชีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ (บัญชีที่ 1) และที่พึงประสงค์ (บัญชีที่ 2) โดยมองย้อนกลับไปว่า 3 ปีที่ผ่านมามีพฤติกรรมไม่ดีอะไรบ้างที่ไม่อยากทำอีกโดยระบุเฉพาะพฤติกรรมเทนที่จะไปมุ่งที่ผู้กระทำและให้มองไปอีก 1 ปี ข้างหน้าว่ามีพฤติกรรมดีๆ อะไรบ้างที่อยากให้เกิดขึ้นในโรงพยาบาล บัญชีพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้ทุกคนในโรงพยาบาลเห็นภาพพฤติกรรมทั้งสองด้านของฝ่ายตนเองและฝ่ายอื่นๆได้อย่างชัดเจน

จากนั้นก็ระดมสมองหาตัวเลือกที่จะเป็น Moral Identity หรืออัตลักษณ์คุณธรรม ที่จะทำให้พฤติกรรมในบัญชีที่1ลดลงและพฤติกรรมในบัญชีที่2เพิ่มขึ้น ซึ่งทุกคนลงมติเลือก คุณธรรม3ประการ คือ

1)ซื่อสัตย์  2) รับผิดชอบ  3) มีน้ำใจเพื่อเอาไปเป็นแม่บทในการปรับพฤติกรรมคนให้สอดคล้องกับคุณธรรม3ข้อนี้ ขั้นต่อไปต้องแปลง “นามธรรม” ให้เป็น “รูปธรรม” คือแปลงคุณธรรมเหล่านี้ให้เป็น จริยธรรมที่นำไปปฏิบัติได้ โดยให้แต่ละหน่วยงานซึ่งมีทั้งหมด 19 ฝ่าย ไปประชุมกันภายในและร่วมกันกำหนดพฤติกรรม นโยบาย และโครงการต่างๆ ที่หน่วยงานของตนจะทำเพื่อสะท้อนให้เห็นถึง ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความมีน้ำใจ หลังจากนั้นก็จัดประชุมใหญ่ให้ทั้ง 19 ฝ่าย มาขึ้นเวทีเพื่อประกาศเจตนารมณ์ของหน่วยงานตนให้ทั้งองค์กรได้รับรู้และเห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างคุณธรรมของแต่ละฝ่าย

เช่น ฝ่ายแพทย์ประกาศว่าจะใช้ยาทุกชนิดด้วยความโปร่งใสสมเหตุสมผลตามหลักวิชาการ จะอุทิศเวลาให้ผู้ป่วยและงานในหน้าที่อย่างเต็มที่ และจะมีจิตอาสางานส่วนรวม ฝ่าย รปภ.ขึ้นมาประกาศว่าต่อไปนี้จะไม่รับสินบนหรือสิ่งของเพื่อประโยชน์ในการจอดรถ จะไม่ดื่มสุราขณะปฎิบัติหน้าที่ ฝ่ายจัดซื้อประกาศว่าจะทำการจัดซื้อจัดจ้างด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น ประกาศเหล่านี้ถือเป็น สัญญาประชาคมที่ทุกคนให้ไว้ร่วมกัน

สิ้นปีมีการประเมินผลการดำเนินงานโดยนักวิชาการพบว่าพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในบัญชีที่ 1 ลดลงอย่างมากและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในบัญชีที่ 2 เพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราด ปีนั้นโรงพยาบาลประหยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก นี่คือผลกระทบทางตรงที่โรงพยาบาลได้รับ ส่วนผลกระทบทางอ้อมที่ตามมาอย่างน่าประหลาดใจคือ ทุกฝ่ายสามัคคีและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และที่สำคัญคือ ทุกคนในองค์กรมีความสุข นอกจากนี้ ยังได้รับคำชื่นชมอย่างมากในเรื่องคุณภาพของการให้บริการจากผู้มาใช้บริการและคนในชุมชน พวกเราได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้แล้วรู้สึกประทับใจและเกิดความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเพื่อความยั่งยืนนี้ไว้ให้แก่ชาวไทย

จากความสำเร็จของทั้งสององค์กรนี้ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าคนไทยเราโดยเนื้อแท้แล้วมีความดีงามอยู่มากในจิตใจ หากเราจัดระบบ ส่งเสริม และสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ทุกคนจะสามารถดึงเอาความดีงามในจิตใจมาแสดงออกทางพฤติกรรม ทำให้สังคมเรามีความสุขและน่าอยู่ขึ้นได้จริงๆ สวัสดีครับ