ธุรกิจขนาดเล็กก็ช่วยสังคมได้

ธุรกิจขนาดเล็กก็ช่วยสังคมได้

เมื่อพูดถึงเรื่องของบทบาทของธุรกิจที่มีต่อการช่วยสังคม หรือที่มักจะเรียกกันว่า CSR หรือกิจกรรมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

หลายๆ คนจะเห็นว่าเป็นเรื่องของธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น

แต่สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ซึ่งมีจำนวนเป็นส่วนใหญ่ของธุรกิจที่มีอยู่ในประเทศ เรื่องของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ก็ถือได้ว่า เป็นเรื่องที่สามารถปฏิบัติได้เช่นกัน และอาจใช้แนวทางที่แตกต่างไปจากกิจกรรมที่บริษัทขนาดใหญ่เลือกใช้

สำหรับธุรกิจทั่วไป การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน อาจทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

1.ทำให้ธุรกิจมีส่วนร่วมส่งเสริมอัตลักษณ์ที่ดีของชุมชน หากจะลองสังเกตดูบรรยากาศและความเป็นไปของชุมชมกับธุรกิจ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ส่วนผสมของธุรกิจต่างๆ ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น บริษัทห้างร้าน เช่น ร้านขายของ ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง ต่างๆ ล้วนแต่มีส่วนทำให้เกิดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะสำหรับชุมชนหรือสังคมนั้นๆ ผู้ที่ผ่านไปมาจะสัมผัสได้และจดจำถึงอัตลักษณ์นั้นได้เป็นอย่างดี ธุรกิจขนาดต่างๆ ในชุมชน ควรช่วยดำรงอัตลักษณ์ที่ดีของสังคมของตน ให้เป็นที่กล่าวขานหรือที่รู้จักในเชิงบวกให้กับคนทั่วไป ซึ่งจะมีผลสะท้อนกลับมาต่อธุรกิจจากการได้ลูกค้าจากแหล่งอื่นเพิ่มมากขึ้นได้

2.เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเข้ามีส่วนร่วมในการเป็นผู้นำชุมชน แน่นอนว่า การมีส่วนร่วมในการผลักดันสังคมด้วยความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ จะทำให้ธุรกิจเข้าใจถึงความเป็นไปที่แท้จริงของสังคม และในฐานะที่เป็นสมาชิกร่วมในสังคม ธุรกิจอาจใช้ประสบการณ์ทางการบริหารธุรกิจ มาใช้เปิดมุมมองใหม่ๆ ในด้านการพัฒนาชุมชนและสังคม ที่นักปกครองหรือนักบริหารชุมชนอาจคิดไม่ถึงได้

3.ผนวกความรู้สึกของสังคมและชุมชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจที่มีโอกาสที่จะสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับชุมชนโดยไม่ทันคิดถึง หากธุรกิจในชุมชนมีความรู้สึกร่วมกับชุมชนและสังคม เพื่อนำสิ่งที่ดีมาสู่สังคมหรือช่วยสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เรื่องของการปล่อยมลพิษ ก๊าซเรือนกระจก น้ำเสีย ฝุ่นควัน กลิ่น เสียง หรือแม้กระทั่งการจอดรถ การขนส่งสินค้าที่กีดขวางการจราจร ฯลฯ ก็จะหายไปจากชุมชนโดยรอบ

4.ช่วยสร้างงานให้กับท้องถิ่น ธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นแหล่งในการสร้างงานที่สำคัญแหล่งหนึ่งในระดับประเทศ แต่ในระดับชุมชนและสังคม หากธุรกิจเอสเอ็มอี กำหนดวัตถุประสงค์ที่จะจัดจ้างพนักงานในท้องถิ่นให้มากขึ้น ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น ลดการเดินทางเพื่อไปทำงาน และทำให้วิถีการดำรงชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคม เช่น ผู้พิการที่ยังพอจะทำงานได้ ให้เข้ามาทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่เหมาะสมสภาพร่างกาย

5.บริจาคทรัพย์หรือสิ่งของเพื่อช่วยพัฒนาชุมชนและสังคม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการธำรงไว้ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีของสังคม การทำนุบำรุงพระศาสนา การสนับสนุนการศึกษาในท้องถิ่น การดูแลสุขภาพและสุขอนามัยชุมชน การให้เยาวชนในท้องถิ่นเข้าดูงานหรือฝึกงานในธุรกิจ รวมไปถึงการสร้างสาธารณูประโยชน์ต่างๆ ให้กับชุมชนหรือสังคม เพื่อให้สมาชิกทุกคนในสังคมและชุมชนมีความเข้มเข็งทั้งในทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น

6.สร้างเอกลักษณ์โดดเด่นให้กับชุนชน การใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ หรือสร้างนวัตกรรมให้เกิดสินค้าหรือบริการที่แบบใหม่และเป็นแบบฉบับเฉพาะกับชุมชน ซึ่งจะหาซื้อหรือมาใช้บริการที่ชุมชนของเราที่เดียว เป็นแหล่งดึงดูดความสนใจ หรือเป็นเป้าหมายต้นๆ ที่คนทั่วไปต้องการเข้ามาได้สัมผัสด้วยตัวเอง นอกจากจะทำให้เกิดผลตอบแทนทางธุรกิจที่เพิ่มขึนแล้ว ยังจะช่วยกระตุ้นให้สังคมและสิ่งแวดล้อมเกิดความคึกคัก ทำให้เกิดผลกระทบที่ดีแพร่กระจายไปในชุมชนได้เป็นวงกว้าง

นอกจากการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจแล้ว สำหรับผู้บริโภคโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในสังคมชุมชนรอบข้าง หรือ อยู่ในสังคมที่ห่างออกไป หากจะช่วยกันสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีความมุ่งมั่นและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยวิธีการต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว
ก็อาจต้องหันมาให้ความสนใจสนับสนุนสินค้าหรือบริการของธุรกิจขนาดเล็กที่เอื้อเฟื้อดูแลสังคมให้มากขึ้น และลดระดับการสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้วให้น้อยลง

เพื่อให้สังคมไทย กระจายความแข็งแกร่งทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมไปได้อย่างเสมอภาคและทั่วถึง