สามัคคีคือพลัง พาองค์กรก้าวไกล

สามัคคีคือพลัง พาองค์กรก้าวไกล

ผลกระทบจาก Digital Technology การก้าวข้ามความท้าทายนี้ทุกคนในองค์กรล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จที่ยั่งยืนของหน่วยงานด้วยกันทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหม่ที่เพิ่งตั้งแต่ยังไม่มั่นคงอย่าง Startup หรือองค์กรใหญ่ที่เคยมั่นคงแต่กำลังได้รับผลกระทบจาก Digital Technology จนต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ปรับโครงสร้างองค์กรก็ตาม การก้าวข้ามความท้าทายนี้ทุกคนในองค์กรล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จที่ยั่งยืนของหน่วยงานด้วยกันทั้งสิ้น

ด้วยบทบาทที่แตกต่างกัน แต่ถ้าทุกคนร่วมใจปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบอย่างเต็มกำลังความสามารถ จะทำให้เกิดการประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล บุคลากรทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ พนักงานระดับปฏิบัติการ หัวหน้างาน และผู้บริหาร ควรที่จะจับมือกันเดินไปในทิศทางที่ได้ตกลงร่วมกันว่านั่นคือ หนทางที่นำทุกคนไปสู่จุดหมายปลายทางที่ได้ร่วมกันร่างไว้

นอกจากบทบาทหน้าที่ในตำแหน่งงานนั้นๆแล้ว บุคลากรที่อยู่ในระดับต่างๆควรที่จะยึดถือและปฏิบัติสิ่งต่างๆเพิ่มเติม สำหรับพนักงานในระดับปฏิบัติการ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคลากรส่วนใหญ่ในองค์กร และเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะนำพาองค์กรไปให้ถึงฝั่งฝันนั้น ควรตระหนักและดำเนินการดังนี้

1. ทำความเข้าใจในเป้าหมายและนโยบายของหน่วยงาน
2. เรียนรู้งานและคิดปรับปรุงสิ่งต่างๆอยู่เสมอ ไม่มีสิ่งใดในโลกที่ไม่เปลี่ยนแปลง
3. เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น จำไว้เสมอว่า ไม่มีคนรู้ทุกเรื่อง เก่งทุกอย่าง
4. เสียสละเพื่อส่วนรวม เพราะถ้าทุกคนเห็นแก่ตัว แล้วส่วนกลางใครจะดูแลรับผิดชอบ
5. ทำงานเป็นทีม ระลึกไว้อยู่เสมอว่า หนึ่งบวกหนึ่งต้องมากกว่าสอง
6. มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน มีมิตรมากย่อมดีกว่าสร้างศัตรู
7. รู้จักการวางแผนและใช้เวลาให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
8. พัฒนาทักษะการสื่อสารที่ดี สั้น กระชับ ชัดเจน
9. ปฏิบัติงานอย่างดีมีคุณภาพ คิดเสมอว่ากระบวนการหรือผู้รับถัดไปคือลูกค้า
10. ช่วยกันประหยัด ใช้แต่สิ่งที่จำเป็น และลดความเสียเสียต่างๆให้ได้มากที่สุด
11. ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
12. ให้ความร่วมมือต่อกิจกรรมของหน่วยงาน สามัคคีคือพลัง
13. มีทัศนคติที่ดีอยู่เสมอ คิดบวก มองปัญหาเป็นความท้าทาย

ด้วยหลักคิดและหลักปฏิบัติทั้ง 13 ข้อดังกล่าวข้างต้น ถ้าเราระลึกอยู่เสมอและพยายามปฏิบัติให้ได้จนเป็นวัฒนธรรมขององค์กร เราก็จะกลายเป็นพนักงานที่ดีมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของทุกหน่วยงาน ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็มีแต่คนรักและให้การสนับสนุน

หัวหน้างานเองก็ถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่สำคัญในการรับนโยบายและถ่ายทอดไปสู่การปฏิบัติ เพราะเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้บริหารระดับสูง และพนักงานระดับปฏิบัติการ ดังนั้นถ้ากลไกส่วนนี้ใช้การไม่ได้แล้ว นโยบายและเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ ก็ไม่สามารถจะบรรลุได้ ถ้าหัวหน้างานเป็นที่ไว้วางใจของผู้บริหาร และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่พนักงานปฏิบัติการ ก็จะช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนาปรับปรุงไปในทิศทางที่ถูกต้องได้

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคัดสรรบุคคลที่เหมาะสม มีความรู้ในงาน และมีความสามารถบังคับบัญชาคน ดังนั้นหัวหน้างานทกคนควรที่จะประพฤติปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่ดี ด้วยคุณสมบัติต่อไปนี้
1. เป็นผู้นำและปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี
2. สร้างแรงจูงใจให้พนักงานเกิดขวัญกำลังใจเสมอ
3. ให้การอบรมและข้อแนะนำการดูแลรักษาอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆอย่างถูกต้อง
4. มีทักษะการสื่อสารที่ดี ทั่วถึง
5. พัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ ให้ทันโลก ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง
6. ติดตามดูแลการทำงานอย่างใกล้ชิดเป็นระยะ
7. สอนงานลูกน้อง อย่างเป็นขั้นตอน สาธิตให้ดู และเฝ้าดูจนแน่ใจว่าลูกน้องปฏิบัติได้จริง
8. ให้คำปรึกษาแนะนำ เมื่อลูกน้องเกิดข้อสงสัย ในขณะที่ยังขาดประสบการณ์

จะเห็นได้ว่าทั้ง 8 หัวข้อดังกล่าว ถ้าหัวหน้างานใส่ใจและประพฤติปฏิบัติอยู่เสมอจนเป็นนิสัย ย่อมต้องผูกใจผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นที่รักนับถือและเป็นที่พึ่งเมื่อยามที่ต้องการ บทบาทของหัวหน้างานจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาและความก้าวหน้าขององค์กร เพราะถ้านโยบายจากผู้บริหารดี แต่ไม่มีผู้ปฏิบัติหรือสนองนโยบายก็ไม่มีประโยชน์ หรือปฏิบัติดีแต่ผิดทิศทางไม่สอดรับกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็ไม่ส่งผลต่อความสำเร็จในระยะยาวขององค์กรอยู่ดี

สำหรับผู้บริหารระดับสูงซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อยแต่มากด้วยอำนาจที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ คงปฏิเสธไม่ได้เลยถ้าจะมีสิ่งใดที่ไม่เป็นไปตามแผน ต้องเร่งแก้ไขและพลิกฟื้นกลับมาสู่หนทางที่จะต้องไปให้เร็วที่สุด ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริหารจะต้องทำก็คือ
1. ส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้นให้กำลังใจพนักงาน ด้วยการแสดงออกอย่างชัดเจน
2. จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้เพียงพอ
3. แสวงหาความรู้ และติดตามข้อมูลข่าวสาร เพื่อเพิ่มความสามารถในการจัดการองค์กร
4. กำหนดนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมาย พร้อมถ่ายทอดให้ทุกคนในองค์กรรับรู้
5. ติดตามประเมินผล และเปิดช่องทางให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กร

ถ้าขาดซึ่งความรักสามัคคีและร่วมมือกันอย่างดี ย่อมไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามข้างหน้า ถ้าคอยแต่จะขัดแข้งขัดขา และบ่อนทำลายกันเอง โดยหารู้ไม่ว่าในที่สุดทุกคนในองค์กรนั่นแหละที่จะเป็นผู้รับผลของความเสียหายที่เกิดขึ้น ใกล้สิ้นปีแล้ว จับมือกันแล้วไปตามล่าฝันกันใหม่ในปีหน้าดีกว่า